ระบบอุปถัมภ์ในกองทัพคดี 2 อดีตปลัดกลาโหม
การที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน พล.อ.เสถียร เพิ่มทองอินทร์ อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม ข้อหาร่ำรวยผิดปกติและอายัดทรัพย์สินได้แก่ เงินฝาก ที่ดิน รถยนต์ ของบุคคลที่เกี่ยวข้อง 3 คน รวมมูลค่ากว่า 65 ล้านบาทเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2556 (ป.ป.ช.แถลงข่าววันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2556) สะท้อนให้เห็นถึงระบบอุปถัมภ์ซึ่งเป็น“รากเหง้า”ของปัญหาคอร์รัปชั่นได้เป็นอย่างดี
ก่อนชี้ให้เห็นข้อเท็จจริงดังกล่าวขอให้ดูคดี พล.อ.ชำนาญ นิลวิเศษ อดีตปลัดกระทรวงกลาโหมซึ่งถูกศาลฎีกาพิพากษายึดทรัพย์จำนวน 69.1 ล้านบาท เมื่อ 17 ปีที่แล้วเสียก่อน
จุดเริ่มต้นเริ่มจากวันที่ 18 ตุลาคม 2522 มีคนร้องเรียนไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ (ป.ป.ป.) ว่า พล.อ.ชำนาญมีฐานะธรรมดา แต่ปัจจุบันร่ำรวยผิดปกติ โดยได้ลงทุนก่อสร้างหมู่บ้านพรสวรรค์ที่ปากน้ำชุมพร มูลค่า 40 ล้านบาท ลงทุนในบริษัท ทรานส์โอเชียนไลน์คอร์ปอเรชั่น จำกัด (เดินเรือทางทะเล) เป็นหุ้นส่วนประมาณ 15-16 ล้านบาท สร้างบ้านพักในเนื้อที่ 4-5 ไร่ ที่อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ราคาหลายล้านบาท ลงทุนเปิดร้านอาหารในต่างประเทศ ลงทุนในโรงแรมปอยหลวง จังหวัดเชียงใหม่
ทั้งสามคน พล.อ.ชำนาญ นางประนอม นิลวิเศษ ภรรยา และ บุตรชาย มีทรัพย์สินรวม 71,094,000.23 บาท โดยมีหลักฐานว่าพล.อ.ชำนาญเป็นเจ้าของกรรมสิทธ์ 6,624,425.22 บาท นางประนอมเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ 54,469,575.01 บาท และ มีหลักฐานว่า บุตรชายเป็นเจ้าของ 10,000,000 บาท
นอกจากนั้นยังปรากฏหลักฐานว่ามีทรัพย์สินของบุตรสาว เครือญาติ และ ผู้ใต้บังคับบัญชา อีกประมาณ 143ล้านบาท
แต่ปรากฏหลักฐานว่า ในระหว่างปี 2515 – 2523 พล.อ.ชำนาญและภรรยามีรายได้ตามหลักฐานแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา รวม 1,326,619.96 บาท ขณะที่ลูกไม่มีรายได้
คณะกรรมการ ป.ป.ป.มีมติเป็นเอกฉันท์เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2528 ว่าอดีตปลัดกลาโหมมีทรัพย์สินร่ำรวยขึ้นโดยผิดปกติ โดยให้ภรรยาและลูกถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินแทน
ข้อมูลที่น่าสนใจอยู่ตรงการชี้แจงที่มาของทรัพย์สิน
พล.อ.ชำนาญอ้างว่า รับราชการตั้งแต่ปี 2490 -2528 นอกจากมีรายได้จากเงินเดือนประจำแล้วยังมีรายได้จากเบี้ยประชุม ค่าเลี้ยงดู โบนัส จากการทำหน้าที่เป็นบอร์ดของรัฐและรัฐวิสาหกิจ อาทิ
มีตำแหน่งในศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบกตั้งแต่ปี 2510-2524 ได้รับค่าเลี้ยงดูเป็นเวลา 13 ปี เป็นเงิน 180,000 บาท เป็นกรรมการวิทยุกองทัพบก ได้รับเบี้ยประชุมและโบนัสประมาณ 2 แสนบาท เป็นกรรมการของสำนักงานอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ได้รับโบนัส 6 แสน บาทเศษ คณะกรรมการอุตสาหกรรมทหาร กรรมการองค์การแบตเตอรี่และองค์การแก้วได้เบี้ยประชุมและโบนัสประมาณ 6 - 7 แสนบาท \ เป็นสมาชิกสภากลาโหมโดยตำแหน่ง การดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงกลาโหม และปลัดกระทรวงกลาโหม ก็ได้รับเงินรับรองและเบี้ยประชุมเป็นระยะเวลา 4 ปี เป็นเงินประมาณ 1.5 ล้านบาท
กวดวิชาให้นายทหารซึ่งจะเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนเสนาธิการทหารบก เป็นครูสอนวิชารบร่วมอากาศกับพื้นดินที่เกาะโอกินาวาประเทศญี่ปุ่น ได้รับค่าตอบแทนเกือบแสนบาท เป็นครูร่วมกับจัสแม็กในการสอนวิชางบประมาณและปลัดบัญชีกองทัพได้รับค่าตอบแทนเกือบ 2 แสนบาท ได้รับค่าสอนในโรงเรียนทหารหลายแห่งได้รับค่าตอบแทนประมาณ 1.2 แสนบาท
นอกจากนี้ได้รับเงินรางวัลจากผู้บังคับบัญชาในการปฏิบัติงานพิเศษเมื่อประมาณปี 2494 กรณีกบฏแมนฮัตตันได้รับรางวัลจากพลเอกกฤษณ์ สีวะรา 50,000 บาท ไปช่วยราชการในกรมตำรวจตามคำสั่งของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้รับเงินรางวัล 2 ครั้ง ประมาณ 1 ล้านบาท ได้รับรางวัลจากพลเอกประเสริฐ รุจิรวงศ์ ประมาณ 50,000 บาท เป็นนายทหารประจำตัวและติดตามนายสุกิจ นิมมานเหมินทร์ รองนายรัฐมนตรีโดยคำสั่งของพลเอกกฤษณ์ ได้รับรางวัลประมาณ 3 แสนบาท
และในช่วงระยะเวลาดังกล่าวได้ “ทำงานพิเศษ” ให้แก่พลเอกกฤษณ์ ได้รับรางวัลประมาณ 4 ล้านถึง 5 ล้านบาท เมื่อประมาณปี 2513 ถึงปี 2515 เป็นหัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ประสานงานไทยสหรัฐในการส่งทหารไปรบที่ประเทศเวียดนามใต้ ได้รับเงินสมนาคุณและเงินธุรกิจจากประเทศสหรัฐ ซึ่งเงินดังกล่าวได้นำมาใช้ในประเทศไทยเกือบ 2 ล้านบาท และเมื่อประมาณ 20 ปีมาแล้ว ได้รับทรัพย์สินจากบิดามารดาประมาณ 3 ล้านบาท เงินต่างๆ ที่ได้รับได้นำออกไปหาประโยชน์ได้ประมาณ 7 ล้านบาท รวมแล้วมีรายได้เป็นเงินไม่น้อยกว่า 25 ล้านบาท
พล.อ.ชำนาญอ้างว่า บ้านที่อาศัยอยู่ในปัจจุบันและได้มาจากแม่ยกให้ ส่วนบ้านและที่ดินแปลงอื่นแม่ก็ยกให้บางรายการก็เป็นของนางประนอมภรรยา
ทรัพย์สินของภรรยาได้มาจากเงินเดือนจากการรับราชการครู และประกอบอาชีพส่วนตัวโดยช่วยพ่อแม่ทำการค้าขาย พ่อแม่ของภรรยาทำการค้าฝิ่นโดยเปิดโรงยาฝิ่นและร่วมกันเป็นเอเย่นต์ เดินเรือทะเลชายฝั่งประเทศข้างเคียง
ครอบครัวของภรรยา เป็นเจ้าของ เอเย่นต์สุรา เดินเรือเมล์ระหว่างปากน้ำชุพรกับอำเภอเมืองชุมพร และประกอบอาชีพประมงโดยการทำโป๊ะ แม่ของภรรยารับจำนำทรัพย์สินและขายขนม นอกจากนี้ภรรยายังร่วมลงทุนกับเพื่อทำการค้าข้าวและแร่รวมทั้งรับจำนำทอง
หุ้นในบริษัท ทรานส์โอเชียนไลน์คอร์ปอเรชั่น จำกัด และ ในบริษัทปอยหลวง จำกัด เป็นของนางยุพดี ณ ระนอง เพราะนางยุพดีต้องการอาศัยชื่อของพล.อ.ชำนาญในการเปิดบริษัท ซึ่งในขณะนั้นถือเป็นค่านิยมที่จะให้มีนายทหารร่วมอยู่ด้วย
บ้านเลขที่ 23/2 ซอยวิพัชร ตำบลยายชา อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ภรรยาเล่นแชร์น้ำมันได้รับผลประโยชน์ 7 ล้านบาทเศษ
หุ้นในบริษัท บ้านพักพรสวรรค์ จำกัด จำนวน 10,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 1,000 บาท ที่อยู่ในชื่อของลูกชาย พล.อ.ชำนาญอ้างว่า นางยุพดี ณ ระนอง ยกให้ 5,500 หุ้น นายเชิญ นิลวิเศษ ยกให้ 1,000 หุ้น แพทย์หญิงนันทพร นิลวิเศษ ยกให้ 500 หุ้น นายสัมพันธ์ จันทรบำรุง ยกให้ 3,000 หุ้น
อย่างไรก็ตาม มีนายทหาร 2 นายช่วยเบิกความเป็นพยานให้พล.อ.ชำนาญ คือ พลเรือโททวี บุญเนือง และ พลตรีมณีรัตน์ จารุจินดา ทั้งสองอ้างว่าเคยไปบ้านเดิมของนางประนอมใน จ.ชุมพร มาแล้วพบว่ามีฐานะรวยจริง
แต่ศาลเห็นว่าการที่พล.อ.ชำนาญอ้างตนเป็นพยานโดยมิได้นำนางประนอมภรรยาเบิกความ และนำนางยุพดี ณ ระนอง ญาติมาเบิกความ ไม่ได้บอกเล่ารายละเอียดว่านางประนอมลงทุนค้าขายอะไร ไม่มีหลักฐานที่เชื่อถือได้ รวมทั้งคำเบิกความของพลเรือโททวี บุญเนือง และ พลตรีมณีรัตน์ จารุจินดา ก็เป็นคำเบิกความลอยๆ ลำพังไปพักเพียงชั่วคราวจะทราบได้อย่างไรว่า พ่อของนางประนอมมีฐานะร่ำรวย
นอกจากนี้การนายไพจิตร สุนากร ญาติของนางประนอมให้การว่า พ่อของนางประนอมได้ยกทรัพย์สินให้นางประนอม จำนวน 10 ล้านบาท แต่ทำสัญญาซื้อขายกันไว้ เป็นการทำนิติกรรมอำพราง เพราะถ้าพ่อยกให้ลูกก็ไม่จำเป็นต้องทำสัญญาซื้อขาย ศาลเชื่อว่าพ่อของนางประนอมขายทรัพย์สินให้นางประนอม นั่นก็แสดงว่าพ่อของนางประนอมมิได้มีฐานะร่ำรวยตามคำกล่าวอ้าง และที่อ้างว่านางประนอมเล่นแชร์น้ำมันได้กำไร 7 ล้านบาทก็เป็นคำกล่าวอ้างลอยๆ ไม่มีพยานสนับสนุน
ประกอบกับมีหลักฐานการเสียภาษีของนางประนอม ในระหว่างปี 2515-2523 มีรายได้ประมาณ 190,638 บาท น่าเชื่อว่าทรัพย์สินที่อยู่ในชื่อของนางประนอมเป็นการถือแทนพล.อ.ชำนาญ
และการที่พล.อ.ชำนาญอ้างว่า มีผู้ยกหุ้นในหมู่บ้านพักพรสวรรค์ จำนวน 10,000 หุ้น ราคาหุ้นละ 1,000 บาท ให้ลูกชายโดยเสน่หา แม้ผู้ยกให้จะมีฐานะร่ำรวย แต่ไม่มีเหตุผลที่จะซื้อหุ้นจำนวนมากถึง 10 ล้านบาท ให้แก่ลูกชายพล.อ.ชำนาญแม้จะเป็นผู้เยาว์และพิการก็ตาม หุ้นที่อยู่ในชื่อของลูกชายจึงเป็นทรัพย์สินของ พล.อ.ชำนาญ
ประการสำคัญ ศาลเห็นว่ารายได้บางอย่าง เช่น เงินรางวัลจากพลเอกกฤษณ์ 50,000 บาท เงินจากวัลจากจอมพลสฤษดิ์ 1 ล้านบาท เงินรางวัลจากพลเอกประเสริฐ 50,000 บาท เงินจากการติดตามนายสุกิจ 300,000 บาท เงินรางวัลจาก การทำงานพิเศษให้แก่พลเอกกฤษณ์ ประมาณ 4 - 5 ล้านบาท ไม่มีพยานสนับสนุนและไม่มีรายละเอียดว่าพลเอกชำนาญได้รับมอบหมายให้ทำงานอะไรให้แก่บุคคลดังกล่าว หากเป็นงานในหน้าที่ราชการก็ไม่จำเป็นต้องให้เงินรางวัลอีก ข้ออ้างของ พล.อ.ชำนาญจึงรับฟังไม่ได้
ส่วนที่อ้างว่าได้นำเงินดังกล่าวไปหาประโยชน์ได้มา 7 ล้านบาท ศาลเห็นว่าเงินรายได้ที่ได้มาทีละเล็กน้อยเมื่อได้มาก็ต้องนำไปใช้สอยในครัวเรือน จ่ายเป็นค่าเครื่องอุปโภค บริโภค และเพื่อการศึกษาของบุตรซึ่งมีถึง 4 คน ซึ่ง 3 คนเรียนจบชั้นปริญญาตรีในประเทศแล้วไปเรียนต่อต่างประเทศ ดังนั้นต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก การที่อ้างว่าญาติเป็นคนออกค่าใช้จ่ายให้เป็นเพียงคำกล่าวลอยๆ
เมื่อพิจารณาถึงรายได้และรายจ่ายประกอบกัน เชื่อว่า พล.อ.ชำนาญมีทรัพย์สินมูลค่าประมาณ 7-8 ล้านบาท เท่านั้น การที่พล.อ.ชำนาญมีทรัพย์สินมูลค่า 71,098,000.23 บาท ถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่ร่ำรวยผิดปกติ จึง ตัดสินให้ที่ดินตำบลปากน้ำ อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร จำนวน 3 แปลงที่ดินตำบลยายชา อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม จำนวน 5 แปลง บ้าน 3 หลัง เงินฝากธนาคาร 7 บัญชี ตกเป็นของแผ่นดิน
ย้อนกลับมากรณี พล.อ.เสถียร แม้คดีนี้อยู่ระหว่างไต่สวนของ ป.ป.ช. แต่การที่มีทรัพย์สินถูกอายัดจำนวน 65 ล้านบาทอยู่ในชื่อของบุคคลใกล้ชิด คือ นางณัฐนิชาช์ เพิ่มทองอินทร์ ภรรยา บุตรสาว และ อาจารย์ที่ปรึกษาของบุตรสาว และยังมีข้อมูลอีกว่า “จ่าทหาร- เมียจ่า” ซึ่งเป็นลูกน้อง พล.อ.เสถียรมีชื่อถือหุ้นในธุรกิจรับเหมาและธุรกิจโรงแรมของภรรยา ซึ่งก็เข้าข่ายเป็น“นอมินี” ไม่รวมกับนักธุรกิจอีกอย่างน้อย 3 คนที่เข้าไปพัวพันกับการถือครองทรัพย์สินของภรรยา พล.อ.เสถียร
เพราะฉะนั้น กรณีการจ่ายเงินรางวัลต่างๆจำนวนมากจากการติดสอยห้อยตามรับใช้ “นาย” และการใช้“ลูกน้อง”ดูแลจัดการทรัพย์สิน สะท้อนให้เห็นถึงระบบอุปถัมภ์ในกองทัพและผลประโยชน์ทับซ้อน(Conflict of Interests)ในอดีตดำรงอยู่อย่างยาวนาน
การบังคับใช้กฎหมายเพื่อยึดทรัพย์ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและข้าราชการระดับสูงทั้งกรณีนี้และกรณีอื่นๆที่มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติให้สัมฤทธิ์ผล
ผู้เขียนมีข้อเสนอแนะ 4 ประการ
1. ในการไต่สวนพิจารณาคดีทุจริตหรือร่ำรวยผิดปกติ กรรมการและเจ้าหน้าที่ในองค์กรตรวจสอบ หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม เช่น สำนักงาน ป.ป.ช. อัยการสูงสุด ศาลยุติธรรม ต้องทำหน้าที่อย่างเฉียบขาด รวดเร็ว ตรงไปตรงมาด้วยความกล้าหาญ จักแสดงให้เห็นผลกรรมของการกระทำทุจริตโดยเร็วเพื่อให้เกิดความเกรงกลัว
2.ต้องกำหนดให้มีโทษทางอาญา เช่น กำหนดให้มีโทษเฉพาะด้านปรับ 3-5 เท่าของวงเงินที่ทุจริตหรือร่ำรวยผิดปกติ
3.ต้องกำหนดโทษในกรณีที่พบผู้สนับสนุนหรือถือครองทรัพย์สินแทน อาทิ มีกระบวนการลงโทษ เอาผิดผู้ถือครองทรัพย์แทน (นอมินี) ในการปิดบังอำพรางเจ้าของที่แท้จริง
4.ต้องแก้ไขกฎหมาย กำหนดให้ข้าราชการระดับสูงมีหน้าที่ต้องเปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อสาธารณะ เพื่อให้มีการแจ้งเบาะแสจากประชาชน เพราะการเปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินถือเป็นช่องทางการตรวจสอบ ตรวจทานจากภาคประชาชน แจ้งเบาะแสหรือชี้ช่องมายังองค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ มิใช่เพียงยื่นต่อ ป.ป.ช.แล้ว ป.ป.ช.เก็บงำเอาไว้อย่างนั้น
กระนั้นมาตรการดังกล่าวแม้ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทั้งหมด แต่เชื่อว่าจะทำให้ปัญหาคอร์รัปชันของข้าราชการและนักการเมืองเบาบางลงบ้าง
หมายเหตุ : บทความนี้เป็นทัศนะของผู้เขียน มิใช่ความเห็นของสำนักงาน ป.ป.ช.