อดีตขุนคลัง หวั่นประชานิยมก่อวิกฤต ชงมี 'หน้าผาการคลัง' ให้สภากำกับการใช้งบ
ผช.กก.ผจก.ใหญ่ แบงก์กรุงเทพ หวั่นมีการซุกหนี้สาธารณะ หลังพบมีแค่ 44% จวกรัฐสมัยนี้ คิดง่าย ทำง่าย ใช้เงินหลายแสนล้านยังกล้า ด้าน อ.นิติฯ จุฬาฯ แนะไทยถอดโมเดลฝรั่งเศส มี 'ศาลบัญชี' คอยตรวจสอบประสิทธิภาพการใช้งบประมาณ
(14 มี.ค.) ที่โรงแรมโกลเด้นทิวลิป ถนนพระราม 9 คณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง การธนาคารและสถาบันการเงิน วุฒิสภา จัดสัมมนาเรื่อง “วิพากษ์นโยบายประชานิยมต่อเศรษฐกิจ การเงิน การคลัง”
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวแสดงความกังวลต่อหนี้สาธารณะที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 44 ต่อจีดีพี ในขณะที่รัฐบาลไม่แสดงความกังวลต่อเรื่องดังกล่าว
ซึ่งหากมองถึงการใช้จ่ายภาครัฐในหลายโครงการ อาทิ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท โครงการบริหารจัดการน้ำ รวมทั้งนโยบายประชานิยมต่าง ๆ เช่น โครงการรับจำนำข้าว ซึ่งมีแนวโน้มขาดทุนเพิ่มขึ้น ปีละ 1.4-1.7 แสนล้านบาท ส่งผลต่อสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 65.96 ต่อจีดีพี ในปี 2562
นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่รัฐบาลดำเนินการซึ่งมีผลต่อหนี้สาธารณะ เช่น โครงการรถยนต์คันแรก โครงการบ้านหลังแรก จึงเห็นว่า รัฐบาลควรจะทบทวนและหยุดดำเนินโครงการบางอย่าง เช่น โครงการรับจำนำข้าว
ดร.กอร์ปศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตนมีความกังวลใจในหลายเรื่อง อาทิ เรื่องหนี้สาธารณะ 44% ต่อจีดีพี ซึ่งที่จริงยังมีหนี้ซุกซ่อนอยู่ที่อื่น ๆ อีก เช่น SMEs Bank รวมถึงกองทุนประกันสังคม นอกจากนี้พฤติกรรมของรัฐบาลสมัยนี้ที่ คิดง่าย ทำง่าย แม้จะใช้เงินหลายแสนล้านบาทก็ยังกล้าทำ รัฐบาลในช่วงหลัง ๆ เสนอโครงการสวัสดิการสังคม ที่แม้จะเป็นเรื่องที่ดี แต่จะเป็นภาระต่องบประมาณต่อเนื่อง เช่น เบี้ยคนชราที่ใช้เงินปีละหลายหมื่นล้านบาท
“รัฐบาลสมัยก่อนพูดแล้วไม่ทำ ก็ยังพอกล้อมแกล้มไปได้ แต่สมัยนี้ พูดแล้วฉันจะทำให้ได้” ดร.กอร์ปศักดิ์ กล่าว และว่า รัฐบาลควรถอดบทเรียนจากต่างประเทศ ในรอบ 40 ปีที่ผ่านมามีวิกฤตการคลังเกิดขึ้นกว่า 63 ประเทศ ในบาง ประเทศเกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก ซึ่งพบว่า ปัญหาทั้งหมดเกิดจากการที่ภาครัฐ ใช้จ่ายเกินตัว กู้เงินมากและใช้จ่ายอย่างไม่ระมัดระวัง เช่น กรีซ กู้ไปใช้ในประชานิยมซื้อใจประชาชนจนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ยังต้องระวังเรื่องรัฐบาลปกปิดความจริง บางประเทศมีการซุกซ่อนหนี้ไว้นอกระบบงบประมาณ เมื่อต้องนำเข้ามาสู่ระบบงบฯ ทำให้หนี้สาธารณะพุ่งกระฉูด
เสนอแก้รธน.เพื่อศก.ที่ยั่งยืน
ขณะที่นายธีระชัย ภูวนารถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงการแก้ปัญหานโยบายประชานิยมเพื่อป้องกันการนำไปสู่ปัญหาเศรษฐกิจในอนาคตว่า ควรมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเศรษฐกิจ โดยมีข้อเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเศรษฐกิจที่ยั่งยืน 6 ข้อ คือ
1.ควรวางกรอบเรื่องแหล่งเงินที่จะนำมาใช้ในนโยบายประชานิยม โดยต้องมีการแบ่งเป็นประชานิยมที่จำเป็นกับไม่จำเป็น ประชานิยมที่ไม่จำเป็น รัฐบาลต้องหารายได้มาชดเชย เช่น โครงการรถคันแรก
2.ในการแข่งขันทางการเมือง ถ้าพรรคการเมืองพรรคใดใช้นโยบายประชานิยมในการหาเสียง พรรคนั้น ๆ ต้องประกาศด้วยจะใช้เงินเท่าไร จะนำเงินมาจากไหน ถ้าเงินมาจากภาษี ประชาชนจะได้เห็นทั้งผลได้และผลเสีย
3.ห้ามรัฐบาลรับจำนำสินค้าเกษตรเกินราคาตลาด โดยนโยบายการช่วยเหลือเกษตรกร ต้องแบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ ช่วยเหลือเรื่องเงินหมุนเวียน กับการช่วยอุดหนุน อย่าปนกัน ถ้าเป็นการช่วยอุดหนุน เช่น ราคาข้าว รัฐบาลไม่ควรช่วยเกินกว่าราคาตลาด
4.ให้รัฐสภากำกับรัฐบาล ในด้านงบประมาณรายได้ รายจ่าย และหนี้สาธารณะ โดยรัฐบาลต้องเสนอแผนทั้งสามด้านต่อรัฐสภาทุกปีแล้วปฏิบัติตามนั้น ถ้ารัฐบาลไม่ปฏิบัติ อาจจำเป็นต้องมี "หน้าผาการคลัง" (Fiscal Cliff) ห้ามรัฐบาลใช้เงินชั่วคราว
5.ให้รัฐบาลประเมินและแถลงภาระของรัฐที่ครบถ้วนสมบูรณ์ครอบคลุมทุกโครงการ ทั้งที่จบแล้วและยังไม่จบ แล้วประกาศตัวเลขที่เป็นทางการต่อสาธารณชนเป็นประจำทุกไตรมาส เพื่อให้รัฐบาลได้มีความตระหนัก
6.ให้รัฐบาลกู้เงินนอกระบบงบประมาณได้เฉพาะกรณีเร่งด่วน เช่น งบ 2 ล้านล้านบาทที่เป็นยุทธศาสตร์ชาติ แต่ไปกู้เงินนอกระบบมาลงทุน เป็นเรื่องแปลก เพราะระบบงบประมาณปกติสามารถทำได้ จึงควรมีการวางกรอบการกู้เงินและการอนุมัติโครงการ ต่าง ๆ ให้ทำได้เฉพาะกรณีฉุกเฉินและเร่งด่วนเท่านั้น
หนุนหน้าผาการคลัง ปรามนักการเมืองหยุดใช้เงินมือเติบ
ด้านดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ปัญหาปัจจุบันคือ รัฐบาลและพรรคการเมืองทุกพรรคนิยมใช้ “เงินนอกงบประมาณที่กู้จากสถาบันการเงินของรัฐ” ในการดำเนินนโยบายประชานิยม เสี่ยงต่อการเกิดภาระหนี้ผูกพันในอนาคตที่เริ่มมีขนาดใหญ่มากขึ้นทุกที และอาจนำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจ
ดังนั้นแนวทางการสร้างวินัยทางการคลังของรัฐบาล ควรเน้นการมีกฎหมายบังคับให้รัฐต้องเปิดเผยข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับภาระหนี้ผูกพันที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เช่นการจัดทำระบบบัญชีคงค้าง การจัดทำรายงานความเสี่ยงทางการคลังเสนอต่อรัฐสภาในวาระการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี ส่วนแนวคิดหน้าผาการคลังตนเห็นด้วย ว่าจะช่วยสร้างวินัยการเงินการคลังให้กับรัฐบาล และช่วยให้นักการเมืองตระหนักในการใช้จ่ายงบประมาณ
ถอดโมเดลศาลบัญชี ตรวจสอบใช้งบประมาณ
ส่วนดร.เอื้ออารีย์ อึ้งจะนิล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า มีข้อเสนอบางประการสำหรับเป็นทางออกในเรื่องประชานิยมว่า ควรจะมีการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี ให้รัฐสภาสามารถเข้ามาพิจารณาเรื่องแหล่งที่มาของรายได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเคยมีการทำมาก่อน แต่ถูกยกเลิกไปเมื่อกว่า 50 ปีที่แล้ว
ส่วนนโยบายประชานิยมด้านระบบสุขภาพควรปรับให้เป็นสวัสดิการ เช่น 30 บาทรักษาทุกโรค ดร.เอื้ออารีย์ กล่าวว่า เป็นประโยชน์มากต่อคนจน ซึ่งรายได้ที่นำมาใช้ควรมาจากภาษี ดังนั้นควรขยายฐานภาษีนี้ด้วยการจัดเก็บภาษีที่ดิน ภาษีมรดก ความท้าทายคือรัฐบาลไหนจะกล้าทำจริง เพราะถ้าทำได้จริง ก็จะเท่ากับการเอาความมั่งคั่งของคนรวยมาช่วยคนจน พรรคการเมืองทุกพรรคกล้าหรือไม่ที่จะพัฒนาระบบสุขภาพให้เป็นรัฐสวัสดิการ
ดร.เอื้ออารีย์ กล่าวด้วยว่า ประเทศฝรั่งเศสมีโมเดลที่น่าสนใจ คือมี “ศาลบัญชี”เทียบกับประเทศไทยคือสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มีหน้าที่ตรวจสอบงบประมาณ และตรวจสอบประสิทธิภาพ ประสิทธิผลทุกโครงการของรัฐบาล ดูความสมเหตุสมผลของการใช้จ่ายงบในแต่ละปี แล้วสรุปเป็นรายงานยื่นต่อประธานาธิบดี โดยศาลบัญชีจะวิพากษ์วิจารณ์การใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาลอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งส่งผลต่อการตั้งงบประมาณของรัฐบาลในปีต่อ ๆ ไป นอกจากนี้ในวันที่ศาลบัญชียื่นสรุปรายงานประจำปีต่อประธานาธิบดี ฝรั่งเศสถือเป็นวาระแห่งชาติ ที่ประชาชนและสื่อมวลชน จะจับจ้องว่ารัฐบาลใช้เงินภาษีอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:อดีตคนใน “ครม.ยิ่งลักษณ์” วิพากษ์ “นบ.จำนำข้าว”