อดีตคนใน “ครม.ยิ่งลักษณ์” วิพากษ์ “นบ.จำนำข้าว”
หนึ่งในความเห็นของ นายธีระชัย ภูวนารถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง บนเวทีสัมมนา เรื่อง “วิพากษ์นโยบายประชานิยมต่อเศรษฐกิจ การเงิน การคลัง” ที่จัดโดยโดยคณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง การธนาคารและสถาบันการเงิน วุฒิสภา ที่โรงแรมโกลเด้น ทิวลิป เมื่อวันที่ 14 มี.ค.2556
ได้การเสนอให้วางกรอบ “ห้ามการรับจำนำสินค้าเกษตรเกินราคาตลาด”
เหตุใด "รมว.คลัง" คนแรกในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ประกาศให้การรับจำนำข้าวทุกเมล็ด ตันละ 15,000 บาท เป็นนโยบายหมายเลข 1 ในการหาเสียงเลือกตั้งทั่วประเทศ ถึงคิดเช่นนั้น
ในเอกสารที่นายธีระชัยแจกจ่ายให้กับผู้เข้าร่วมการสัมมนาดังกล่าว ได้ระบุเหตุผลไว้ดังนี้
-----
การช่วยเหลือเกษตรกรมี 2 ลักษณะ แต่ละลักษณะไม่ควรดำเนินการปะปนกัน สำหรับลักษณะที่ 1 คือการช่วยเหลือด้านสภาพคล่อง (cash flow) สำหรับลักษณะที่ 2 คือการช่วยเหลือชดเชยต้นทุน (subsidy)
กรณี cash flow นั้น ควรแก้ไขกติกาเพื่อห้ามมิให้รัฐบาลใดรับจำนำสินค้าใดเกินร้อยละ 80 ของราคาตลาด เพื่อให้มีผลเป็นการ “จำนำ” อย่างแท้จริง ที่เกษตรกรจะมีโอกาสไถ่ถอนคืน
ส่วนกรณี subsidy นั้น หากรัฐบาลต้องการช่วยเหลือต้นทุนของเกษตรกรสูงกว่าราคาตลาดไม่ว่าจะมากเท่าใด ผู้เขียนเห็นว่ายังควรให้ทำได้ เพราะการช่วยเหลือเกษตรกรนั้นเป็นขบวนการปรับผลประโยชน์ระหว่างกลุ่มบุคคลในสังคมโดยตรง เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างอาชีพ และยังมีประเด็นพิจารณาในเรื่องของความมั่นคงทางอาหารเพื่อความมั่นคงของประเทศซ้อนอยู่อีกมิติหนึ่งด้วย
ดังนั้น การจะพิจารณาความเหมาะสมของระดับการช่วยเหลือเกษตรกรนั้น จึงควรพิจารณาในระดับของ “การเมือง” โดยมีการถกเถียงกันในการหาเสียงเลือกตั้ง และเมื่อเสียงส่วนใหญ่ตกลงไปในทางหนึ่งทางใดแล้ว ก็ควรยึดถือตามแนวนั้น
แต่ส่วนที่รัฐบาลต้องการอุดหนุนเกษตรกรที่เกินเลยไปกว่าราคาตลาดนั้น ผมเห็นว่าควรห้ามมิให้รัฐบาลใดใช้วิธีการที่บิดเบือน คือเลี่ยงไปใช้รูปแบบของการจำนำอีกในอนาคต แต่ควรใช้วิธีจ่ายเงินอุดหนุนแก่เกษตรกรให้ถึงมือแต่ละคนโดยตรงไปเลย หรือหากรัฐบาลใดจะใข้วิธีให้รัฐเข้าไปอุ้มสต๊อคสินค้าเกษตรไว้เป็นระยะเวลาหนึ่ง ก็ควรกำหนดให้รัฐบาลใช้วิธีการจัดซื้อสินค้าแบบตรงไปตรงมาแทน
ทั้งนี้ กรณีที่รัฐใช้วิธีจ่ายเงินอุดหนุนแก่เกษตรกรโดยตรงนั้น ที่ผ่านมาเคยมีข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่า การที่รัฐจ่ายเงินอุดหนุนแก่เกษตรกรโดยตรงนั้น ไม่มีผลทำให้ราคาข้าวสูงขึ้น ไม่เหมือนกับกรณีที่รัฐรับจำนำเกินกว่าราคาตลาด ซึ่งจะมีผลทำให้ราคาข้าวในตลาดโลกสูงขึ้น จึงมีข้อวิจารณ์ว่าการอุดหนุนแบบนี้ มัผลในการกดราคาข้าวให้ต่ำ และเอื้ออำนวยประโยชน์แก่ผู้ส่งออกข้าวและผู้ซื้อในต่างประเทศเป็นหลัก
แต่ในความคิดเห็นของผม ข้อวิจารณ์นี้ไม่ถูกต้อง เนื่องจากการอุดหนุนโดยให้เงินแก่เกษตรกรโดยตรงนั้น “ไม่มีผล” ต่ออุปสงค์หรืออุปทานใดๆ ราคาตลาดจึงเป็นไปตามธรรมชาติ ไม่ใช่ถูกกดดันด้วยการอุดหนุนเกษตรกร
แต่ต้องยอมรับว่ากรณีที่ถ้าหากรัฐใช้วิธีจำนำข้าวสูงกว่าราคาตลาด หรือรัฐเข้าไปรับซื้อข้าวสูงกว่าราคาตลาด แล้วถ้าหากรัฐไม่ยอมขายออกไปแต่รัฐเก็บสต๊อคเอาไว้อย่างเดียว กรณีนี้ราคาข้าวในตลาดย่อมสูงขึ้นเป็นการแน่นอน เพราะเป็นการลดอุปทานในตลาดข้าวของโลก
อย่างไรก็ตาม ในทางปฎิบัติ รัฐจะไม่สามารถกอดเก็บสต๊อคข้าวไว้เป็นเวลานาน เพราะข้าวจะเสื่อมคุณภาพลงทุกวัน
และเมื่อดำเนินการเช่นนี้ผ้านไปหลาย ๆ ปี ก็จะไม่มีสถานที่เก็บเพียงพอ ดังนั้น ถึงจุดหนึ่ง รัฐจะไม่มีทางเลือก และรัฐจะต้องระบายขายข้าวนั้นออกไป และเมื่อใดที่รัฐขายสต๊อคข้าวที่เก็บไว้ออกไปในตลาดโลก ราคาตลาดโลกก็จะลดฮวบลงในขณะนั้น
ผมจึงเห็นว่ากรณีที่ภาคการเมืองเห็นสมควรจะช่วยเหลือเกษตรกรเกินกว่าราคาตลาด ก็ควรจะใช้วิธีจ่ายเงินอุดหนุนไปให้แก่เกษตรกรโดยตรงมากกว่า
-----