ลมหายใจ “คนพิสูจน์อักษร” ความสำคัญที่หายไปใน นสพ.ยุคใหม่ ?
เมื่อสื่อสิ่งพิมพ์ถูกอนาคตไล่ล่า จากเทคโนโลยีการสื่อสารที่พัฒนาแบบก้าวกระโดด จนทำให้การนำเสนอข่าวในยุคปัจจุบัน หันไปแข่งกันเรื่อง “ความเร็ว” มากกว่า “ความถูกต้อง”
(ภิญโญ ทุมมานนท์)
“สื่อดิจิตอล” ทั้งเว็บไซต์ เฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ รวมถึงบล็อก ที่เคลื่อนไหวด้วยหลักนาที-วินาที จึงเริ่มเข้ามามีบทบาทแทนที่ “สื่อกระดาษ” อย่างหนังสือพิมพ์ ที่เคลื่อนที่ด้วยหลัก “วัน”
ความเปลี่ยนแปลงข้างต้น ทำให้ทุกองคาพยพในวิชาชีพสื่อ ตั้งแต่นักข่าวภาคสนามไปจนถึงเจ้าของกิจการ ต้องปรับตัวกันขนานใหญ่ จนมีการข้ามสื่อกันอย่างอุตลุด จากหนังสือพิมพ์ ไปทำเว็บไซต์ไม่ก็โทรทัศน์ หรือจากทีวีก้าวสู่โลกโซเชียลมีเดีย ข่าวๆ เดียวถูกนำไปเพิ่มมูลค่าด้วยการเสนอต่างแพลตฟอร์ม ในยุคที่เรียกกันว่า “สื่อยุคหลอมรวม-convergence”
บุคลากรในวงจรสื่อหน่วยหนึ่งที่ได้รับผลกระทบหนักหน่วงไม่แพ้ใคร นั่นคือ “พนักงานพิสูจน์อักษร” หรือที่เรียกกันติดปากว่า “ปรู๊ฟ (proof)” ที่ทำหน้าที่หลายคนมองว่า เป็น “ผู้ปิดทองหลังพระ” ของวงการหนังสือพิมพ์มาอย่างยาวนาน
โดยกลางปี 2555 ผู้บริหารสื่อเครือเนชั่น ได้ตัดสินใจพลิกหน้าที่ “ปรู๊ฟ” ของสื่อสิ่งพิมพ์ในเครือ จากการคอยเช็คคำถูก-คำผิดบนหน้ากระดาษ ให้มาทำหน้าที่แบ็คอัพทีมงานข่าวโทรทัศน์และอินเตอร์เน็ต เพื่อรองรับการขยายตัวของสื่อดิจิตอล
เนื่องจากทางผู้บริหารเห็นว่า กระบวนการผลิตหนังสือพิมพ์มีหลายหน้าที่ซึ่งซ้ำซ้อนกัน โดยเฉพาะการพิสูจน์อักษร เพราะมองว่ามีการกลั่นกรองคำผิด ตั้งแต่ชั้น 1.นักข่าว 2.รีไรท์เตอร์หรือหัวหน้าข่าว และ 3.ซับเอดิเตอร์ อยู่แล้ว
เมื่อ “หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ” ขยับมาทำสื่อทีวีคู่ไปกับสิ่งพิมพ์ จึงต้องใช้ทีมงานผลิต “คอนเทนต์” เพิ่มเป็นจำนวนมาก ผู้บริหารเครือเนชั่นจึงตัดสินใจขยับ “พนักงานพิสูจน์อักษร” ในกองหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ที่มีอยู่ราว 10 คน มาทำเบื้องหลัง “กรุงเทพธุรกิจทีวี” แทน เป็นการนำร่อง
ทิ้งให้เหลือ “ปรู๊ฟ” สำหรับหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจไว้เพียง 1 คนเท่านั้น ! โดยให้ทำหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของคำ เฉพาะหน้าหนึ่ง-หน้าสุดท้าย และคอยชี้ขาดคำบางคำ เช่น คำราชาศัพท์
ส่วนเนื้อหาด้านใน เป็นหน้าที่ของ “นักข่าว-รีไรท์เตอร์-หัวหน้าข่าว” จะช่วยกันตรวจหาคำผิด ขณะที่ “ซับเอดิเตอร์” จะต้องนำข่าวมาใส่ไว้ในโปรแกรม Microsoft Word ที่หากพบคำที่เขียนผิด จะขึ้นเป็นเส้นหยักสีแดง และเมื่อแก้ไขให้ถูกต้อง ถึงจะนำไปสู่การจัดหน้า
แหล่งข่าวจากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นเพราะผู้บริหารเครือเนชั่นมองว่า มีบุคคลหลายตำแหน่งที่ทำงานซ้ำซ้อนกัน ในโมเดลแบบใหม่จึงจะให้นักข่าวปรู๊ฟเอง 1 รอบ รีไรท์ฯหรือหัวหน้าข่าวปรู๊ฟอีก 1 รอบ และซับฯปรู๊ฟอีก 1 รอบปิดท้าย
“ผลกระทบการลดจำนวนพนักงานพิสูจน์อักษร ทำให้ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจมีคำผิดมากขึ้น โดยเฉพาะกรอบแรกที่ต้องส่งไปยังต่างจังหวัด เพราะต้องปิดให้ทันเวลา 1 ทุ่ม ส่วนกรอบสองที่ปิดก่อน 4 ทุ่ม จะพบคำผิดหรือคำตกบรรทัดน้อยลง เพราะได้ผ่านการตรวจสอบครั้งแต่กรอบแรกมากแล้ว” เขากล่าวถึงผลกระทบ
อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารเครือเนชั่นมองว่า โมเดลที่ใช้ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ค่อนข้างประสบความสำเร็จ จึงเตรียมที่จะใช้โมเดลดังกล่าวไปปรับปรุงการทำงานใน “หนังสือพิมพ์คมชัดลึก” โดยจะให้ (ว่าที่) อดีตปรู๊ฟไปช่วยงานด้านอินเตอร์เน็ตแทน
หลังทราบความเปลี่ยนแปลงของสื่อสิ่งพิมพ์เครือเนชั่น ในเวลาต่อมา เราก็เดินทางไปที่สำนักงานสื่อแห่งหนึ่งริมถนนวิภาวดี เพื่อสอบถามว่า สื่อสิ่งพิมพ์ที่มีคนอ่านมากที่สุดในประเทศ ด้วยยอดจำหน่ายกว่าล้านฉบับ อย่าง “หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ได้เตรียมรับมือกับโลกที่เปลี่ยนไปนี้ อย่างไร?
“ภิญโญ ทุมมานนท์” ฝ่ายประสานงานกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ผู้ควบคุมการพิสูจน์อักษรของหนังสือพิมพ์ที่มียอดพิมพ์ล้านฉบับทั้ง 6 กรอบ ซึ่งเริ่มต้นกล่าวว่า ไทยรัฐให้ความสำคัญกับกองพิสูจน์อักษร เพราะเป็นงานที่ละเอียดอ่อน ที่สำคัญ ยังมองว่าเป็นหน้าตาขององค์กร
เขาให้ภาพว่า ในกองพิสูจน์อักษรของหนังสือพิมพ์หัวเขียว มีลมหายใจของ “นักพิสูจน์อักษร” ทั้งสิ้น 22 ชีวิต รวมกับหัวหน้ากอง อีก 2 คน โดยจะแบ่งการทำงานออกเป็น 3 กะ ซึ่งแต่ละกะคนจะไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับช่วงเวลา โดยเวลา 18.00 น. ถึงเวลา 01.00 น. จะเป็นช่วงเวลาที่งานของกองพิสูจน์อักษรมากที่สุด ซึ่งจะมีคนตรวจปรู๊ฟยืนฟื้น 12-13 คน ส่วนช่วงเวลาหลังจากนั้น จะลดจำนวนคนลงเหลือเพียง 5-6 คน เอาไว้คอยเก็บงาน
“การตรวจปรู๊ฟของไทยรัฐไม่มีสิ้นสุด เพราะเรามีถึง 6 กรอบ ตั้งแต่ 1 ดาวถึง 6 ดาว ซึ่งเนื้อหาจะเปลี่ยนไปตามแต่ละภูมิภาค ทำให้ปรู๊ฟต้องทำงานตลอดเวลา”
ภิญโญ ยังอธิบายว่า พนักงานพิสูจน์อักษรของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ จะต้องมีความรู้รอบด้าน และอ่านหนังสือให้มาก เพราะเป็นนโยบายของผู้ใหญ่ เนื่องจากคำเฉพาะบางคำที่นักข่าวเขียนมาผิด เมื่อไม่รู้ว่าหมายถึงอะไร บางครั้งก็ปล่อยให้ผ่านไปเลย จึงต้องสะสมองค์ความรู้ไว้กับตัวให้มาก เพราะบางคำแค่ขยับไปนิดเดียว ความหมายก็จะเปลี่ยนไป หรือการเว้นวรรค-ไม่เว้นวรรค หลายครั้งก็มีความสำคัญ
“ที่สำคัญ เราจะฝึกให้ปรู๊ฟทุกคนจำหน้าแหล่งข่าว ว่าใครเป็นใครให้ได้ คนดังๆ ของโลกต้องรู้จัก ยศ ตำแหน่ง สายงานราชการ จะต้องรู้ เพราะบางครั้งเด็กเรียงพิมพ์อาจรับต้นฉบับที่เขียนด้วยลายมือของคอลัมนิสต์มาพิมพ์ลงคอมพิวเตอร์ แล้วอาจพิมพ์ชื่อหรือยศผิด หรือเรื่องตัวเลขก็มีความสำคัญ ปรู๊ฟบางคนไม่มีความเข้าใจ ก็คิดว่าเขาใส่มาเท่านี้ ก็คือเท่านี้ ทั้งที่จริงๆ นักข่าวอาจจะเขียนผิด”
เขายังกล่าวถึงวิธีการฝึกเด็กใหม่ที่จะเข้ามาอยู่ในกองพิสูจน์อักษรของ “ไทยรัฐ” ว่า ตามปกติจะต้องถูกฝึกอย่างน้อย 5 เดือน ถึงจะสามารถปล่อยให้ตรวจอักษรโดยลำพังได้ เพราะลักษณะงานเช่นนี้ ค่อนข้างละเอียดอ่อน หากปล่อยให้มีคำผิดหลุดรอดไปบ่อยๆ อาจทำให้เกิดความเสียหายตามมา
ภิญโญยังกล่าวว่า ไม่เพียงเขียนผิด หรือใส่ชื่อ ยศ หรือตำแหน่งไม่ถูกต้องเท่านั้น ที่สามารถทักท้วงได้ แม้กระทั่งพาดหัวไม่ตรงกับเนื้อหา หรือใส่รูปภาพไม่ตรงกับเนื้อหา คนที่มีหน้าที่พิสูจน์อักษรของไทยรัฐ ก็สามารถทักท้วงได้เช่นกัน
ทั้งนี้ ทุกกระบวนการของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐจะต้องพิถีพิถัน เริ่มจาก
1.กระบวนการโต๊ะข่าวหน้าหนึ่ง ส่งต้นฉบับให้พนักงานเรียงพิมพ์เข้าหน้าตามดัมมี่ที่ฝ่ายศิลป์ออกแบบ
2.ปรู๊ฟตรวจจับคู่กัน อีกคนหนึ่งอ่าน อีกคนหนึ่งตรวจคำผิด ก่อนส่งต่อให้พนักงานเรียงพิมพ์จัดเข้าหน้าเต็ม
3.ปรู๊ฟตรวจหน้าใหญ่เป็นขั้นตอนสุดท้าย ก่อนส่งไปยิงฟิล์ม และเข้าสู่ขั้นตอนการจัดพิมพ์
นอกจากนี้ ข่าวทุกชิ้นที่ผ่านกองบรรณาธิการแล้ว ยังต้องส่งสำเนาอีก 2 ชุดมายังกองพิสูจน์อักษร โดยชุดหนึ่งจะมาอยู่ที่โต๊ะของภิญโญ อีกชุดไปอยู่ที่โต๊ะของ “สราวุธ วัชรพล” หัวหน้ากองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เพื่อตรวจสอบดูความรอบคอบคู่ขนานไปด้วย
“คุณสราวุธเขาจะมอนิเตอร์ข่าวทุกวัน ถ้ามาดูแล้วเห็นว่า อ้าว! ไม่ใช่นะ ไม่ตรงกับที่รู้มา ก็จะให้แก้ไข ท่านดูทุกหน้า อ่านเป็นปึกๆ อ่านผ่านตาๆ เพราะมันเคยผิดบ่อยๆ จึงต้องระวังเยอะขึ้น” ภิญโญเล่า
เขายังกล่าวว่า พนักงานพิสูจน์อักษรไม่ใช่ตำแหน่งปิดทองหลังพระ ไม่ใช่คนสำคัญที่มาเกี่ยวข้องกับงานข่าว เหมือนนักข่าว แต่ก็เป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญเพราะทำให้งานหนังสือพิมพ์มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
“ยอมรับว่า สื่อสิ่งพิมพ์ถึงเวลาที่ต้องปรับตัวให้รับกับความเปลี่ยนแปลง แต่เนื่องจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เป็นหนังสือพิมพ์สำหรับชาวบ้าน การปรับตัวของที่นี่จึงอาจจะทำแบบค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป และคงใช้เวลาอีกนานกว่าจะเปลี่ยนไปแบบที่เครือเนชั่นทำ” ภิญโญกล่าว
โลกของการสื่อสารผันเปลี่ยนไปตามเทคโนโลยี จากเดิมที่ใช้คน ม้า นกพิราบ ดินเหนียว หนังสัตว์ กระดาษปาปิรุส เยื่อไผ่ มาจนเป็นกระดาษ และกลายเป็นสัญญาณไฟฟ้า เช่นปัจจุบัน
และแม้กระบวนการพิสูจน์อักษร จะได้รับการพิสูจน์แล้วว่า มีความสำคัญต่อการทำให้ “สาร” ที่ถูกส่งออกไป ไม่ “คลาดเคลื่อน” จากความเป็นจริง แต่ท่ามกลางภาวะปัจจุบัน องค์กรหลายๆ แห่งอาจจะต้องหาวิธีปรับตัว เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่หลั่งไหลเข้ามาดั่งสึนามิ
“พนักงานพิสูจน์อักษร” อาจถูกมองได้ทั้งเป็นผู้ไร้ความสำคัญทำงานซ้ำซ้อนกับตำแหน่งอื่นๆ หรือเป็นผู้ทำให้หนังสือพิมพ์มีความสมบูรณ์มากขึ้น
ไม่มีใครรู้ว่า มุมมองแบบไหนถูกหรือผิด คงจะต้องปล่อยให้เวลาคลี่คลายคำเฉลยออกมาเอง...
-----
(เขียนโดยณัฐวุฒิ กรัณยโสภณ ตีพิมพ์ครั้งแรกใน "จุลสารราชดำเนิน" ฉบับที่ 25 ประจำเดือน ม.ค.-มี.ค.2556)