ดร.อุทัย ชี้สร้าง 'สังคมสันติประชาธรรม' ได้ ระบบการศึกษาต้องมีทิศทางชัดเจน
เมื่อเร็วๆ นี้ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดการแสดงปาฐกถาพิเศษ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 13 ณ ห้อง ศ.101 ชั้น 1 เรื่อง "การศึกษากับการสร้างสังคมสันติประชาธรรม" โดย ดร.อุทัย ดุลยเกษม นักวิชาการ และอดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
ดร.อุทัย กล่าวตอนหนึ่งถึงการขยายระบบการศึกษาในประเทศไทย ปัจจุบันเรียกได้ว่าเป็นช่วง "การแข่งขันระหว่างประเทศ" ให้ความสำคัญกับการสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีความรู้ ทักษะ ระบบคุณค่าและบุคลิกภาพที่สอดคล้องกับกระแสโลกาภิวัตน์
เช่น การให้ความสำคัญกับภาษาต่างประเทศ ด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รวมทั้งการบริหารจัดการชนิดใหม่ ทั้งในภาคธุรกิจอุตสาหกรรมและภาครัฐ ซึ่งไม่เป็นที่สงสัยเลยว่า เป็นผลมาจากอิทธิพลของการเปลี่ยนแปลงของบริบทด้านเศรษฐกิจในระดับโลกที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกเครือข่าย
นอกจากนี้ แรงผลักดันให้มีการขยายการศึกษาของรัฐไทยก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ส่วนหนึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า มาจากความต้องการของรัฐไทยที่ปรารถนาจะเข้าไปเป็นเครือข่ายของ Civilization Network ยุคใหม่
ทั้งด้าน การเมืองการปกครองและด้านเศรษฐกิจ แม้ว่าการขยายการศึกษาในบางประเภทและบางระดับอาจไม่ตอบสนองต่อความจำเป็นและความต้องการที่แท้จริงในกระบวนการพัฒนาของสังคมไทย จึงไม่น่าประหลาดใจที่สังคมไทยมีการจัดการศึกษาประเภท "มุ่งหารายได้" แก่ผู้จัดหลักสูตร มากกว่าการให้ความสำคัญกับคุณภาพการศึกษาและสอดคล้องต่อความจำเป็นและความต้องการของประเทศ
การที่ระบบการศึกษา ถูกรัฐใช้เป็นเครื่องมือในการกระบวนการ "สร้างชาติ" หรือ "การพัฒนาประเทศ" และ "การแข่งขันระหว่างชาติ" ก็เป็นที่ชัดเจนว่า เครื่องมือด้านการศึกษาจะมีพลังหรือสร้างผลลัพธ์ต่างๆ ได้นั้น เงื่อนไขสำคัญอยู่ที่การจัดระบบการศึกษาของรัฐ-ชาติ นั้นมีความสอดคล้องหรือเดินไปในทิศทางเดียวกับโครงสร้างทางการเมืองการปกครอง โครงสร้างทางเศรษฐกิจทั้งของประเทศและของโลก ตลอดจนโครงสร้างทางวัฒนธรรมภายในรัฐ-ชาตินั้นๆ หรือไม่
เริ่มต้นที่อาชีวศึกษา
การสร้างจะ "สังคมสันติประชาธรรม" ต้องทำให้ระบบการศึกษามีทิศทางที่ชัดเจน เนื่องจากคงคาดหวังจากกลไกของรัฐไม่ได้มากนัก และการสร้างกลไกทางสังคมอื่นๆ ที่เสริมหนุนกับระบบการศึกษาในทิศทางใหม่คงไม่สามารถคาดหวังจากรัฐได้มากนัก จึงไม่อาจเลี่ยงการใช้ระบบการศึกษาเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการสร้างสังคมสันติประชาธรรมได้ ทั้งในแง่การผลักดันให้ระบบการศึกษาปรับเปลี่ยนทิศทาง และในแง่การสร้างพลังภาคประชาชนให้สามารถสร้างกลไกทางสังคมต่างๆ ขึ้นมาเสริมหนุนระบบการศึกษาในทิศทางใหม่
แท้ที่จริงแล้วในเชิงทฤษฎี การปรับเปลี่ยนทิศทางการศึกษาเพื่อให้เอื้อต่อการสร้างสรรค์สังคมสันติประชาธรรมต้องกระทำทั้งระบบใหญ่ น่าจะต้องเริ่มต้นที่การศึกษาด้านอาชีวศึกษา โดยทำให้ผู้ผ่านระบบอาชีวศึกษามีความรู้ ทักษะ ระบบคุณค่าและบุคลิกภาพที่สอดคล้องกับเศรษฐกิจด้านเกษตรกรรม ที่มิใช่ธุรกิจการเกษตร โดยเฉพาะธุรกิจการเกษตรขนาดใหญ่เพื่อการส่งออก หรือการสร้างความรู้ ทักษะและบุคลิกภาพของผู้เรียนที่สอดคล้องกับระบบเศรษฐกิจด้านการบริหารที่มีลักษณะสร้างสรรค์
อย่างไรก็ดี ในสังคมที่อิทธิพลของกลุ่มคนชั้นกลางหรือกลุ่มคนที่ได้รับการศึกษาในระดับอุดมศึกษามีพลังในการขับเคลื่อนสิ่งต่างๆ ทั้งแง่การเมืองและแง่เศรษฐกิจ ตลอดจนแง่วัฒนธรรมมากกว่า การเริ่มต้นที่การศึกษาระดับอุดมศึกษาจึงอาจจะมีความเป็นไปได้สูงกว่า ที่จะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขเชิงบริบทด้านการเมือง เศรษฐกิจและด้านสังคมวัฒนธรรม
ทั้งนี้ เนื่องจากระบบอุดมศึกษาของสังคมไทยเป็นระบบที่ค่อนข้างใหญ่ มีการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุปริญญา ปริญญาตรี และระดับบัณฑิตศึกษา ซึ่งมีกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้ควบคุมหลัก รวมด้วยกระทรวงอื่นๆ และองค์กรภาคธุรกิจเอกชน ฉะนั้น การเริ่มต้นในทุกสังกัดย่อมเป็นไปได้ยาก และแม้จะเป็นไปได้ก็มีประสิทธิภาพไม่มากนัก
จากข้อเท็จจริงพบว่า การจัดการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษาของสถานศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาไทยปัจจุบัน ส่วนมากเป็นการจัดการศึกษา "ภาคพิเศษ" และมักจัดในวันสุดสัปดาห์
ที่สำคัญกว่านั้นคือนักศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษาเป็นผู้ที่มีการงานอาชีพประจำอยู่แล้วเป็นส่วนมาก ซึ่งเป้าหมายของการศึกษาต่อในระดับนี้มักเป็นไปเพื่อผลประโยชน์เฉพาะตน เช่น การได้รับใบปริญญาหรือการได้เงินเดือนเพิ่ม ดังนั้น การเริ่มต้นที่อาจเป็นไปได้มากที่สุดในระยะแรกน่าจะต้องเป็นสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาของรัฐสังกัดกระทรวงศึกษาธิการในระดับปริญญาตรี ซึ่งปัจจุบันมีอยู่เกือบร้อยสถาบัน และเกือบทุกสถาบันมีการจัดการศึกษาในระดับปริญญาตรีในเกือบทุกกลุ่มสาขาวิชา มีเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ของการจัดการศึกษาในระดับปริญญาตรีของสถาบันการศึกษาเหล่านี้อยู่การผลิตทรัพยากรมนุษย์ให้มีคุณสมบัติด้านความรู้ ด้านทักษะ ด้านระบบคุณค่าและบุคลิกภาพที่สอดคล้องกับอุดมการณ์ทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย (ตะวันตก) และสอดคล้องกับโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่หรือเศรษฐกิจระบบตลาดทั้งในระดับชาติและในระดับโลก
ในขณะที่สถานการณ์การเมืองและเศรษฐกิจในปัจจุบัน ทั้งประเด็นความแตกแยกและความขัดแย้งทางความคิดต่างๆ ได้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ของนิสิตนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมถึงมีตัวอย่างกรณีของความไม่สมหวังใน "ความวิเศษ" ของใบปริญญา จากสถาบันการศึกษาที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีการแสวงหาทางเลือกใหม่ๆ ทั้งในด้านการดำเนินชีวิตและการงานอาชีพ ซึ่งภายใต้สภาพการณ์เช่นนี้ โอกาสที่จะใช้สถาบันการศึกษาเป็นกลไกหลักในระยะเริ่มต้น สำหรับกระบวนการสร้างสรรค์สังคมสันติประชาธรรมให้เกิดขึ้นได้
โดยที่การจัดการเรียนการสอนทั้งในหมวดวิชาการศึกษาทั่วไปและหมวดวิชาชีพหรือวิชาแกนของหลักสูตร รวมทั้งการดำเนินงานด้านกิจการนักศึกษาภายในสถาบันอุดมศึกษาต้องมีการเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่ เพื่อสร้างบัณฑิตที่มีคุณสมบัติเป็นเลิศด้านวิชาการและมีระบบคิด ระบบคุณค่าและบุคลิกภาพที่เอื้อต่อการสรรสร้างสังคมสันติประชาธรรม ทั้งนี้ มีความจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงทั้งแนวคิดและการปฏิบัติในเรื่องการแบ่งปันความรู้ที่เกิดขึ้นในสถาบันอุดมศึกษาให้แก่สาธารณชนอย่างทั่วถึงโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
สร้างความรู้สาธารณะ
ประการต่อมา การสร้างองค์ความรู้ใหม่ตามพันธกิจหลักของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐต้องให้ความสำคัญกับองค์ความรู้ชนิดที่สามารถนำมาแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมในสังคม ปัญหาความเสื่อมถอยทางจริยธรรม และปัญหาความแย้งที่รุนแรงในสังคม ให้องค์ความรู้ที่สร้างขึ้นเป็น "ความรู้สาธารณะ" (Public Knowledge)
หากทุกสถาบันอุดมศึกษาของรัฐรวมพลังกันด้านสติปัญญา พลังร่วมในการดำเนินงาน การจัดพื้นที่ให้มีการพบปะหารือและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง ความเป็นไปได้ในการรวมพลังเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการดำเนินงานของสถาบันอุดมศึกษาให้แสดงบทบาทหน้าที่เกื้อหนุนสร้างสรรค์สังคมประชาธรรมเกิดขึ้นได้
ประเด็นสำคัญที่ต้องพึงสำเหนียก คือ ในท่ามกลางกระแสของโลกาภิวัฒน์ที่มีอิทธิพลอย่างหนักแน่นรุนแรงต่อการดึงให้สถาบันอุดมศึกษาเป็นเครือข่ายที่เรียกว่า Civilization Network ด้านการศึกษาด้วยการจัดลำดับชั้นด้านคุณภาพของสถาบันอุดมศึกษา ด้วยการใช้เกณฑ์ประเมินที่บังคับให้สถาบันต้องแสดงบทบาทหน้าที่ในการสนองตอบความต้องการของระบบเศรษฐกิจแบบตลาดของโลกและของกลุ่มประเทศที่เป็นศูนย์กลางของ Civilization Network อย่างชัดเจน
และหากระบบอุดมศึกษาของรัฐไทยไม่สามารถ "สลัด" ตัวออกจากกับดักดังกล่าวนี้ได้ โอกาสที่สถาบันอุดมศึกษาของรัฐไทยจะแสดงบทบาทและหน้าที่ความรับผิดชอบในการสรรสร้างสังคมสันติประชาธรรมนั้นก็อย่าได้พึงหมาย...