กรรมการ.ป.ป.ช. ชี้ไทยกำลังถูกจับจ้อง รัฐวิสาหกิจ จ่ายสินบน บริษัทตปท.
"ภักดี" แฉรัฐวิสาหกิจจ่ายสินบนให้ จนท.ต่างประเทศ ชี้กระทบไทยถูกจับตามอง "ต่อกระกูล" แนะให้เอกชนร่วมประชุมบอร์ดกันอุบอิบทุจริต ด้านสื่อฯ เสนอเปิดบัญชีทรัพย์สินกก.รัฐวิสาหกิจ
วันที่ 13 มีนาคม สำนักงาน ป.ป.ช. จัดสัมมนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เรื่องการเสริมสร้างบรรษัทภิบาลในรัฐวิสาหกิจ กรณีมีข้อเสนอแนะด้านมาตรการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับ "การแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงหรือบุคคลดำรงตำแหน่งกรรมการในรัฐวิสาหกิจหลายแห่ง" ณ ห้องวีนัส โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ โดยมี ศ.ภักดี โพธิศิริ กรรมการ ป.ป.ช.เปิดการสัมมนาและบรรยายเรื่อง "ยุทธศาสตร์การเสริมสร้างบรรษัทภิบาลในรัฐวิสาหกิจของสำนักงาน ป.ป.ช."
ศ.ภักดี กล่าวตอนหนึ่งถึงอุปสรรคสำคัญในการสร้างบรรษัทภิบาล หรือการกำกับดูแลกิจการที่ดีในรัฐวิสาหกิจนั้น อยู่ที่การสรรหาและแต่งตั้งกรรมการในรัฐวิสาหกิจ ที่ปัจจุบันพบว่า มีการแต่งตั้งข้าราชการหรือผู้บริหารในองค์กรตามรัฐธรรมนูญเข้าไปเป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจที่ตนเองกำกับดูแลอยู่ ซึ่งถือเป็นการขัดกันของผลประโยชน์ อีกทั้งยังพบว่า มีกรรมการบางคนนั่งเป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจมากกว่า 3 แห่ง โดยไม่มีการกำหนดวาระในการดำรงตำแหน่ง นับว่าเป็นช่องทางที่ไม่โปร่งใสในการบริหารรัฐวิสาหกิจ
ทั้งนี้ ป.ป.ช.ยังได้รับรายงานจากหลายประเทศในสหภาพยุโรปว่า มีการเข้าไปประกอบธุรกิจในต่างประเทศแล้วกระทำความผิดเข้าข่ายการทุจริต ที่ผิดกฎหมายของหลายประเทศ โดยมีพฤติกรรมให้เงินสินบนแก่เจ้าหน้าที่ของแต่ละประเทศ ซึ่งเป็นผลให้ขณะนี้หลายประเทศกำลังเพ่งเล็งรัฐวิสาหกิจบางแห่งของไทยอยู่ ซึ่ง ป.ป.ช.ได้จัดทำข้อเสนอไปยังรัฐบาลและกระทรวงต้นสังกัดแล้ว เพื่อให้มีการแก้ไขปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ ให้รัดกุมขึ้น ตามที่หลายประเทศเสนอแนะมาว่าประเทศไทยต้องให้ความสำคัญกับแนวทางปฏิบัติที่มีผลผูกพันทางกฎหมายให้มากขึ้น เพื่อเป็นการสร้างบรรษัทภิบาล
จากนั้นมีเวทีอภิปรายแลกเปลี่ยนเรื่อง "สถานการณ์ปัจจุบันของการบังคับใช้ปัญหา อุปสรรคและข้อเสนอแนะด้านมาตรการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการแต่งตั้งข้าราชการระดับสูง หรือบุคคลดำรงตำแหน่งกรรมการในรัฐวิสาหกิจหลายแห่ง" โดยมี นางสาวรสนา โตสิตระกูล ประธานคณะอนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาล ในคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค ประธานกลุ่มวิศวกรเพื่อชาติ และผอ.หลักสูตรวิทยาศาสตร์ มหาบัณฑิต ม.ศรีปทุม นางสาวดนุชา ยินดีพิธ ที่ปรึกษากระทรวงการคลัง และนายเสนาะ สุขเจริญ วิทยากรภาคสื่อมวลชน สำนักข่าวอิศรา เป็นผู้อภิปราย
นางสาวรสนา กล่าวว่า ปัจจุบันการทุจริตคอร์รัปชั่นมีความซับซ้อนมากขึ้น ฉะนั้น ผู้ที่ติดตามตรวจสอบจะอยู่นิ่งไมได้ เพราะการอยู่นิ่งเท่ากับถอยหลัง ตามมติ ครม.ที่ห้ามไม่ให้ข้าราชการระดับสูงเป็นบอร์ดในรัฐวิสาหกิจเกิน 3 แห่งนั้น เหมือนจะดี แต่ก็มีการเปิดช่องในข้อยกเว้นบางประการ ซึ่งควรจะทำให้น้อย แต่กลายเป็นว่ากระทำเป็นปกติ ทำให้เกิดปัญหามาก อย่างกรณี ปตท.มีการให้นอมินีมาเป็นกรรมการ ซึ่งเป็นการขัดผลประโยชน์ที่ร้ายแรง แสดงถึงความไม่เป็นประชาธิปไตย ที่ควรแก้ไขและแก้ได้ง่ายกว่ารัฐธรรมนูญ
เช่นเดียวกับการที่พม่าจะปิดซ่อมแซมท่อส่งก๊าซ ที่จะส่งผลกระทบต่อไทยนั้น นางสาวรสนา กล่าวว่า เป็นบทละครที่ควรให้ตุ๊กตาทอง เนื่องจาก ปตท.มีหุ้นอยู่ที่พม่า 25.5% ทำไมจะไม่สามารถพูดคุยต่อรองกันได้ อีกทั้ง ตามเอกสารสัญญายังระบุว่า พม่าต้องแจ้งล่วงหน้าก่อนปิดซ่อม 12 เดือน และลดราคา 25% แต่ความจริงกลับกลายเป็นไทยกำลังจะประกาศขึ้นราคา โดยที่ไม่มีใครติดตาม ตรวจสอบการบริหารให้มีความรัดกุมและมีธรรมาภิบาล ทั้งที่เรื่องพลังงานเป็น 20% ของจีดีพี ที่หากมีการทุจริตคอร์รัปชั่นจะส่งผลกระทบตรงถึงประชาชนทุกคน
ด้านรศ.ดร.ต่อตระกูล กล่าวว่า เป็นไปไม่ได้เลยที่กรรมการรัฐวิสาหกิจจะวิ่งรอกประชุมมากกว่า 3 บริษัท ทั้งที่มีงานประจำ แต่ต้องมาดูแลกำกับกิจการรัฐวิสาหกิจมูลค่ากว่าแสนล้านบาท สิ่งที่อยากให้มีการปรับ คือ เปิดโอกาสให้เอกชน หรือบริษัทมหาชนที่ถือหุ้น 48-49% ได้เข้ามาประชุมด้วย เพื่อเป็นการถ่วงดุลป้องกันการอุบอิบทำกิจการที่ไม่โปร่งใส จากเดิมที่มีผู้รับมอบอำนาจไปยกมือโหวตเพียงผู้เดียวและกุมผลการโหวตได้ทั้งหมด ซึ่งไม่ใช่รูปแบบของบริษัทมหาชน ฉะนั้น รัฐจะต้องสร้างระบบที่ดี เพื่อให้ได้คนที่ดีเข้าไปทำงาน
ขณะที่นางสาวดนุชา กล่าวว่า เห็นด้วยกับข้อเสนอที่ห้ามไม่ให้ข้าราชการระดับสูงเป็นบอร์ดในรัฐวิสาหกิจเกิน 3 แห่ง เนื่องจากภาระเดิมของกรรมการแต่ละท่านก็มีมากอยู่แล้ว ในส่วนการแจ้งข้อมูลผลประโยชน์ทับซ้อน หรือการกระทำที่มีการทุจริตโดยพนักงานภายในนั้น ทำได้ยาก เนื่องจากระบบไม่ได้เปิดให้มีการแจ้งข้อมูลแล้วได้รับการคุ้มครอง จึงไม่มีใครกล้าแจ้ง ด้วยเกรงจะเกิดปัญหาภายหลัง ฉะนั้น ควรปรับระบบให้มีการแจ้งโดยไม่ต้องเปิดเผยตัว อย่างไรก็ตามควรเริ่มต้นการป้องกันตั้งแต่การสรรหาบุคคลที่จะเข้ามาทำหน้าที่เหล่านี้
ด้านนายเสนาะ กล่าวว่า บทบาทสื่อช่วยได้มากในการติดตาม ตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชั่นในรัฐวิสาหกิจ แต่ไม่สามารถทำได้โดยลำพัง ถ้าผู้เกี่ยวข้องรวมถึงสื่อหลักร่วมกันตรวจสอบจะช่วยให้รัฐวิสาหกิจมีความโปร่งใสมากขึ้น และลดเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนได้ โดยแนวทางในการแก้ไข ขอเสนอให้มีการแก้ไขระเบียบบังคับให้มีการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินของกรรมการรัฐวิสาหกิจ ต่อสาธารณชน ส่วนคณะกรรมการที่มีหน้าที่ติดตามตรวจสอบ ก็จะต้องปรับบทบาทการทำหน้าที่ให้มีกระบวนการที่รวดเร็ว เห็นผลและเป็นรูปธรรมมากขึ้น