ลูกค้า “ทรูมูฟ-ดิจิตอลโฟน” 17 ล้านเบอร์ เตรียมรับมือ “ซิมดับ” หลังสิ้นสัมปทาน ก.ย.นี้
ลูกค้า “ทรูมูฟ-ดิจิตอลโฟน” 17 ล้านเบอร์ เตรียมรับมือ “ซิมดับ” หลังหมดสัมปทาน 15 ก.ย.นี้ “หมอประวิทย์” บี้ กทค.เตรียมจัดประมูลคลื่น 1800 Mhz ใหม่ ระบุเวลา 6 เดือนเตรียมตัวทัน-ชี้ขยายเวลาให้บริการผิด กม.และ รธน.
(ภาพจากเว็บไซต์หนังสือพิมพ์แนวหน้า)
เมื่อวันที่ 13 มี.ค.2556 นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช) ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม และในฐานะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) กล่าวถึงกรณีที่สัญญาสัมทานคลื่นความถี่ 1800 MHz ของบริษัททรูมูฟและบริษัทดิจิตอลโฟน รวมแล้วกว่า 17 ล้านเลขหมาย จะสิ้นสุดลงในวันที่ 15 ก.ย.2556 ว่า มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดเหตุการณ์ “ซิมดับ” คือการให้บริการของ 2 ค่ายมือถือนี้ จะใช้การไม่ได้ ซึ่งกระทบต่อผู้บริโภคเป็นจำนวนมาก คำแนะนำในการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นคือ ให้ผู้ที่ใช้บริการจาก 2 ค่ายมือถือหาบริการทดแทน หรือโอนย้ายค่าย
นพ.ประวิทย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา กสทช.ได้ตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้แล้ว โดยมีการเสนอให้ กทค.จัดเตรียมประมูลคลื่นความถี่ ซึ่งตั้งทำ 2 เรื่อง 1.วางหลักเกณฑ์ประมูลคลื่น 1800 Mhz และ 2.ประเมินมูลค่าคลื่น ซึ่งที่ประชุม กทค.เมื่อวันที่ 20 ก.พ.2556 ก็เห็นด้วยกับข้อเสนอนี้ของคณะอนุกรรมการฯ
“อย่างไรก็ตาม มีการสั่งการนอกรอบให้คณะอนุกรรมการฯ หาแนวทางป้องกันซิมดับ เป็นที่มาของข้อเสนอให้ขยายเวลาการให้บริการต่อเนื่องไป ซึ่งถือเป็นเรื่องหลอกลวง เพราะอย่างไรซิมก็ต้องดับ และหากมีการขยายเวลาการให้บริการออกไป ก็เท่ากับไปขยายเวลาการใช้คลื่นความถี่ ขยายอายุการอนุญาต รวมถึงขยายอายุสัมปทาน ทั้งหมดเป็นเรื่องขัดกฎหมาย และขัดรัฐธรรมนูญ ที่ต้องการให้กิจการโทรคมนาคมไทยหลุดพ้นจากยุคสัมปทานเสียที” นพ.ประวิทย์กล่าว
นพ.ประวิทย์ยังกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ที่ปรึกษาของ กสทช.เคยยืนยันว่า เมื่ออายุสัมปทานสิ้นสุดลง สิทธิในการใช้คลื่นความถี่ก็สิ้นสุดลง ซึ่ง กสทช.โดย กทค.มีหน้าที่ในการเข้าไปบริหารจัดการคลื่นความถี่ ซึ่งตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553 มาตรา 45 กำหนดไว้ว่าจะต้องมีการประมูลคลื่นความถี่ ไม่ได้มีมาตราใด กำหนดให้ กสทช.สามารถขยายระยะเวลาการใช้งานคลื่นความถี่ได้
“ผมไม่อยากให้มีการอ้างผู้บริโภคแล้วกำหนดมาตรการเอื้อต่อผู้ประกอบการ แต่อยากให้เร่งเตรียมตัวในการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz ก่อนที่สัมปทานจะสิ้นสุด ซึ่งเวลานี้เหลือเวลาอีกถึง 8 เดือน หากเร่งทำก็ทำให้ทันได้ และด้วยวิธีนี้ ซิมก็จะดับไม่นาน และมีบริการใหม่บนคลื่นเดิมมาเพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภคต่อไป” นพ.ประวิทย์กล่าว