อะไรจะเกิดขึ้น? … เมื่อ “อ.สมศักดิ์ เจียมฯ” พูดเรื่อง “เจ้า” ใน “ฟรีทีวี”
วานนี้ (12 มี.ค.2556) รายการ “ตอบโจทย์ประเทศไทย” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เชิญนายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาเพื่อคุยเรื่อง “สถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ” ดำเนินรายการโดยนายภิญโญ ไตรสุริยธรรมา
น่าสนใจว่า เมื่อนักวิชาการที่มีบทบาทสูงในการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ได้มีโอกาสมาพูดถึงแนวคิดของตัวเอง ผ่านทางเวทีอย่าง “ฟรีทีวี” นานกว่า 45 นาที จะมีเนื้อหาสาระอย่างไร
“สำนักข่าวอิศรา” www.isranews.org ขอคัดบางถ้อย-บางประเด็น มาถ่ายทอดต่อ
---
ช่วงแรก : นิรโทษกรรมให้รวมคดีหมิ่นฯ
นายสมศักดิ์ กล่าวถึงการนิรโทษกรรมว่า ผมเสนอไอเดียมาปีกว่าแล้ว ตั้งแต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ตั้งใหม่ๆ ว่าควรจะแยกแกนนำออกจากผู้ชุมนุม เพราะไม่มีประโยชน์อะไรที่จะไปเล่นงานคนธรรมดา เป็นสิบเป็นร้อย ไม่มีที่ไหนเขาทำกัน โดยอยากให้ระบุไปเลยว่าให้นิรโทษกรรมข้อหาอะไรบ้าง ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าไม่ว่าจะถูกตั้งข้อหาอะไร ถ้าเป็นผู้ชุมนุมควรจะนิรโทษกรรมทั้งหมด
นายภิญโญ ถามว่า แต่ก็ยังมีเส้นที่อ่อนไหว เพราะบางคดีเกี่ยวเนื่องกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
นายสมศักดิ์ ตอบว่า ผมก็คิดว่าควรจะนิรโทษกรรมคดีนี้ด้วย หลายปีที่ผ่านมาที่มันมีคดีนี้เยอะๆ เพราะเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งทางการเมืองแน่ๆ ดังนั้น ถ้าเราไม่อยากให้ความขัดแย้งรุนแรงหรือขยายวงเกินไป ก็ควรจะรวมคดีแบบนี้เข้าไปด้วย เพราะคนที่โดนคดี 112 ส่วนใหญ่เป็นแค่คนธรรมดาๆ
นายภิญโญ ถามว่า พอผูกเรื่องนี้เข้ากับการนิรโทษกรรม คนที่ยังรักและเทินทูนซึ่งอาจจะมีเกินครึ่งประเทศ ก็อาจจะไม่ยอมรับข้อเสนอนี้
“ผมไม่เคยยอมรับการตั้งประเด็นแบบนี้ เพราะเรื่องสถาบันกษัตริย์ พูดกันจริงๆ เราไม่รู้หรอกว่า คนรักเท่าไร หรือคนไม่รักเท่าไร เพราะเรามีกฎหมายนี้อยู่ ถ้าคุณแสดงอะไรที่จะถูกหาว่าไม่รัก ก็โดนแล้ว ถ้าคุณภิญโญพูดว่าครึ่งประเทศ ผมก็อยากถามว่าวัดอย่างไร” นายสมศักดิ์กล่าว
นายภิญโญ ถามว่า ในสหราชอาณาจักรเวลาทำโพลล์ก็จะมีคนบอกว่ารักสถาบันเกิน 75%
นายสมศักดิ์ ตอบว่า เวลาทำโพลล์ต้องอยู่ในสถานการณ์ที่คนจะพูดอะไรก็ได้ เช่นทำโพลล์เรื่องชอบหรือไม่ชอบนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ดังนั้นเวลาเราพูดถึงทำโพลล์สถาบัน ในสหราชอาณาจักร เราพูดได้ทั้งปีว่าไม่ชอบได้ แต่ของไทยทำอย่างนั้นไม่ได้ ตราบเท่าที่มันมีมาตรา 112 อยู่
“ตอนนี้คนส่วนใหญ่เลือกพรรคฝ่ายคุณทักษิณ ทั้งๆ ที่บอกว่าเขาไม่เอาเจ้า เราจะบอกอะไรได้ไหมว่าอะไร ผมว่าในสถานการณ์เช่นนี้ เราบอกอะไรไม่ได้” นายสมศักดิ์กล่าว
นายภิญโญ ถามว่า แต่พอรวมคดีมาตรา 112 ไปในการนิรโทษกรรม ผลอาจจะไม่ไปอย่างที่ตั้งใจ ได้ประเมินความเสี่ยงนี้ไว้หรือไม่
นายสมศักดิ์ ตอบว่า ไม่แน่ กลุ่มพันธมิตรจะไม่เห็นด้วย แต่คนเสื้อแดงกลับเห็นด้วย อยากให้รัฐบาลรวมคดีหมิ่นสถาบันไว้ในการนิรโทษกรรม เวลานี้คนชอบยกว่าถ้าเป็นประเด็นอย่างนี้คนจะไม่ยอม แต่ผมถามจริงๆ ว่า มันเคยเปิดให้มีการพูดคุยเรื่องนี้อย่างจริงจังหรือไม่ ซึ่งมันไม่เคย แต่เสียงที่มันดังมักจะเป็นอย่างนั้น” นายสมศักดิ์
นายภิญโญ ถามว่า ถ้า ส.ส.เป็นตัวแทนของประชาชน แต่เวลาคณะรณรงค์แก้ไข มาตรา 112 เสนอให้แก้ไข กลับถูกเขี่ยออก ไม่มี ส.ส.ทั้งรัฐบาลหรือฝ่ายค้านรับลูก จะแปลได้ไหมว่าคนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข
นายสมศักดิ์ ตอบว่า เขาไม่กล้าเป็นความผิดของเขา ไม่ได้สะท้อนว่าเป็นความต้องการประชาชนจริงๆ ถามว่าทำไมเขาไม่กล้า อาจจะสะท้อนจารีตของนักการเมืองเมืองไทยที่เป็นมาหลายสิบปี เอาง่ายๆ ในสภาจะมีคนพูดเรื่องสถาบันกษัตริย์หน่อย ก็จะมีคนบอกว่าคุณพูดไม่ได้นะ มันจึงวัดยากเขาเป็นตัวแทนหรือไม่เป็นตัวแทนความต้องการของประชาชนแค่ไหน
“ผมไม่แน่ใจว่าเขากลัวอะไรกับเรื่องนี้ เอาง่ายๆ อย่างสายพรรคเพื่อไทย ที่ควรมีเหตุผล และเดินหน้าแก้ไขเรื่องนี้ เผลอๆ อาจจะมีความกลัวมากกว่าสายพรรคประชาธิปัตย์ด้วยซ้ำ เพราะเขาถูกโจมตีอยู่ตลอดเวลา ด้วยข้ออ้างนี้ ตั้งแต่รัฐประหารปี 2549 มาจนถึงเหตุการณ์พฤษภา ปี 2553 การเมืองไทยทุกวันนี้ผมว่ามันกลับตาลปัตรหลายประเด็น” นายสมศักดิ์กล่าว
---
ช่วงที่สอง : ปฏิรูปหรือล้ม เอาหรือไม่เอาเจ้า?
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ผมคิดว่า elite ในการเมืองไทยควรจะมาพูดเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะตนเคยโพสต์ในเฟซบุ๊คว่าคุณสมัคร สุนทรเวช และคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ พูดเรื่องบทบาทสถาบันกษัตริย์ในเหตุการณ์ 19 กันยาฯ ตรงกันเป๊ะเลย ดังนั้นแทนที่จะไปพูดให้คนสหรัฐอเมริกาฟัง เราเอาเรื่องนี้มาพูดในสังคมไทยจะดีกว่าไหม เวลานี้การเมืองไทย ถ้าพูดภาษาชาวบ้านก็คือตอแหล พูด off the record อาจจะพูดอย่าง พูดกับทูตพูดอย่าง แต่เวลาพูดวงกว้างพูดอีกอย่าง แล้วเมื่อไรมันจะไปถึงไหน
นายภิญโญ ถามว่า อาจารย์ก็เลยโพสต์เฟซบุ๊คบ่อยๆ ว่ายกเลิกมาตรา 112 สิ แล้วผมจะเล่าให้ฟัง
นายสมศักดิ์ ตอบว่า มันมีหลายเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่สถาบันกษัตริย์มีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งภายใต้มาตรา 112 มันพูดไม่ได้อย่างเต็มที่ ข้อเสนอของผมง่ายๆ คือยกเลิกมาตรา 112 แล้วใช้กฎหมายหมิ่นประมาททั่วไป
นายภิญโญ ถามว่า แล้วเราจะคุ้มครองประมุขแห่งรัฐอย่างไร
นายสมศักดิ์ ตอบว่า ไอเดียประมุขแห่งรัฐต้องมีกฎหมายคุ้มครองพิเศษ ขัดแย้งกับหลักการประชาธิปไตย 1.หลายๆ ประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น อังกฤษ ก็ไม่มี บางประเทศในทวีปยุโรป มี แต่แทบไม่ได้ใช้ 2.บางประเทศก็มี แต่ไม่มีโทษจำคุก 3.บางประเทศอยู่ในกระบวนการเรียกร้องให้เลิก
“เอาเข้าจริงๆ การวิจารณ์ประมุขหรือองค์กรรัฐ มันควรจะตรงกันข้าม คือควรจะยืดหยุ่นมากกว่าคนธรรมดา ดูง่ายๆ ตามเฟซบุ๊ค การด่านายกรัฐมนตรี เป็นเรื่องธรรมดามาก เพราะเขาถือว่าคนในอำนาจรัฐ คนในแวดวงการปกครอง มีอภิสิทธิ์อยู่แล้ว เรื่องนี้จึงควรจะยืดหยุ่นกว่า จึงไม่ควรมีกฎหมายพิเศษ ถ้ากฎหมายหมิ่นธรรมดา ดีพอจะปกป้องคนทั่วไป ก็ควรจะดีพอปกป้องประมุขแห่งรัฐด้วย” นายสมศักดิ์กล่าว
นายภิญโญ ถามว่า สังคมไทยจะรับได้หรือไม่ถ้าจะมีวิจารณ์สถาบันกษัตริย์อย่างตรงไปตรงมาไม่ว่าจะติหรือชม
นายสมศักดิ์ ตอบว่า แม้กระทั่งประเด็นนี้ก็เป็นปัญหา เพราะคนไม่ยอมเปิดโอกาสให้ กรณีเรื่องสถาบันกษัตริย์ ตนเห็นว่าควรจะแก้ปัญหาไปในทีเดียว คือยกเลิกมาตรา 112 และปฏิรูปให้มาคุยกันในทีเดียว แต่ถ้าเราไม่มีเสรีภาพอย่างเต็มที่ เวลามีใครมาเสนอให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ก็จะโดนถล่ม
นายภิญโญ ถามว่า คุยกันมาทั้งหมด คนบางส่วนอาจจะตั้งข้อหาร้ายแรงกับอาจารย์ว่าตกลงจะ "เอาเจ้า" หรือเปล่า
นายสมศักดิ์ ตอบว่า แม้กระทั่งคำถามนี้ ความจริงก็ไม่มีความหมายอะไร เพราะเกิดผมพูดว่าไม่เอาเจ้าขึ้นมา ผมก็โดนจับได้ เหมือนกับทุกเรื่องที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ที่แสดงออกได้ด้านเดียว เราไม่มีทาง claim ได้เลยว่ามันเป็นการแสดงออกที่แท้จริง แต่ถ้าอ่านดีๆ หลายสิ่งที่ผมเขียน ก็ยังให้มีสถาบันกษัตริย์อยู่
นายภิญโญ ถามว่า เรื่องนี้ก็นำไปสู่คำถามสำคัญคืออาจารย์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์เพื่อนำไปสู่การ
"ล้มเจ้า" หรือไม่ เป้าหมายแท้จริงของอาจารย์คืออะไร
นายสมศักดิ์ ตอบว่า “ต้องเน้นว่าในทางกฎหมายผมพูดอะไรมากว่านี้ไม่ได้ ดังนั้นในคำตอบจริงๆ คงไม่มีความหมายอะไร แต่ถ้าให้พูดกันจริงๆ ก็คือว่าผมเสนอให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ส่วนในอนาคตสถาบันกษัตริย์เป็นอย่างไร หลังปฏิรูปแล้ว ใครจะไปรู้เราอาจจะมีเสรีภาพอย่างอังกฤษก็ได้ คือโพลล์บอก 75% เอา 25% ไม่เอา ประเด็นนี้มันใหญ่กว่าผมเอาหรือไม่เอา”
---
ช่วงที่สาม : เปิดพื้นที่พูดคุย หลีกเลี่ยงความรุนแรง
นายภิญโญ ถามว่า เชื่อหรือไม่ในช่วงชีวิตนี้จะได้เห็นการแก้ไขมาตรา 112
นายสมศักดิ์ ตอบว่า ถ้าผมตายในไม่กี่ปีนี้คงไมได้เห็น แต่พูดจริง ๆ คือผมไม่คิดว่าจะได้เห็นอย่างที่เห็นอยู่ทุกวันนี้ ที่มีการพูดเรื่องสถาบันกษัตริย์อย่างกว้างขวาง เพราะผมเขียนเรื่องสถาบันกษัตริย์ตั้งแต่ยังไม่มีใครสนใจ แม้แต่ในแวดวงวิชาการ สิ่งที่เกิดขึ้นทุกวันนี้จึงอาจจะมากกว่าที่หลายคนเคยฝันไว้ด้วยซ้ำ
นายภิญโญ ถามว่า หลายคนอาจสงสัยว่าอาจารย์หมกมุ่นกับเรื่องนี้มากไปหรือเปล่า แล้วการโยนทุกเรื่องให้กับสถาบันกษัตริย์อาจไม่แฟร์
นายสมศักดิ์ ตอบว่า ผมไม่ได้โยนให้กับสถาบันกษัตริย์ แต่โยนให้กับระบบ คือการเมืองสมัยใหม่ เราต้องวางอยู่บนพื้นฐาน การเมืองแบบเปิด มีเสรีภาพ idea ฝรั่งสมัยใหม่มีคำพูดว่า “อำนาจของผู้ปกครองจะต้องได้มาจากการยินยอมพร้อมใจของผู้ปกครอง” อันนี้เราเห็นได้ในรัฐบาล แต่สำหรับสถาบันกษัตริย์ยังไม่เห็น เราห้ามนำเสนออีกด้าน แล้วบอกว่าจงรักภักดี พูดกันแบบตรงไปตรงมาคือมันฝืนธรรมชาติ
นายภิญโญ ถามว่า อาจารย์ว่ามันไม่ควรเป็นแบบนี้ แต่มันก็เป็นไปแล้ว
นายสมศักดิ์ ตอบว่า ที่มันเป็นมากขนาดนี้ มีความเป็นมาอยู่ ก่อนสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็ไม่ได้มากขนาดนี้ เรื่องการโปรโมตสถาบันจนบางคนเรียกว่าเป็น hyper royalism ก็เริ่มตั้งแต่ปี 2530 เป็นต้นมา เอาง่ายๆ ก่อนปี 2502-2503 พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชดำรัสสดๆ ไม่ได้ อาจารย์บวรศักดิ์ อุวรรโณ เคยเขียนของอังกฤษ สมเด็จพระราชินีจะมีพระราชดำรัสเองไม่ได้ ยกเว้นเทศกาลคริสต์มาส ของเราก็ไม่เคยมีข้อห้ามนี้ อันนี้ก็ไม่ผิด แต่ก่อนหน้านั้นเราแทบจะใช้แบบอังกฤษ ดังนั้นมันจึงความเปลี่ยนแปลง.ซึ่งหลายอย่างก็มีที่มาไม่ถูกต้อง แม้กระทั่งมาตรา 112 ก็มาจากเหตุการณ์ 6 ตุลา ปี 2519 และในระยะเวลา 10-20 ปีหลังจะใช้วิธีการแบบเดิมไม่ได้อีกแล้ว สมัยก่อนยังใช้ไม่ได้ ปัจจุบันยิ่งไม่ถูกใหญ่
“ที่ทุกวันนี้คนชอบหาว่ามีขบวนการล้มเจ้าออนไลน์ อย่างน้อยมันเหมือนเป็นอาการที่สะท้อนออกแล้วว่าวิธีการแบบปัจจุบันมันใช้ไม่ได้ผล แสดงว่าบ้านเมืองมันเปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว แทนที่เราจะใช้วิธีแบบเดิมๆ บีบบังคับแบบเดิมๆ เราสู้มาเผชิญหน้ากับความจริง และหาทางปรับตัวอย่างสันติ ไม่ต้องทะเลาะกันมาก ไม่ดีกว่าหรือ” นายสมศักดิ์กล่าว
นายภิญโญ ถามว่า อะไรคือข้อเสนอของอาจารย์ในการเผชิญหน้ากับความจริงของสถาบันพระมหากษัตริย์
นายสมศักดิ์ ตอบว่า เราใช้บรรทัดฐานต่อนักการเมือง ต่อองค์กรอำนาจรัฐอย่างไร ก็ให้ใช้บรรทัดฐานเดียวกันกับสถาบันกษัตริย์ อังกฤษเขาก็เป็นแบบนี้ เพราะโลกสมัยใหม่เราจะสร้างความจงรักภักดีโดยการบังคับไม่ได้ มันฝืนธรรมชาติ
นายภิญโญ ถามว่า แต่ความเปลี่ยนสถาบันกษัตริย์อังกฤษก็ใช้ระยะเวลา
นายสมศักดิ์ ตอบว่า มันไม่ใช่ความสถาบันกษัตริย์อังกฤษ ใช้เวลาเปลี่ยนแปลง 100 ปี ของเราต้องใช้เวลาเท่ากัน โลกปัจจุบันมันไม่ใช่อย่างนั้น
นายภิญโญ ถามว่า แต่ถ้าเร่งกระบวนการเปลี่ยนแปลง ในประวัติศาสตร์ก็มักจะมีการปะทะกันแทบทุกครั้ง
นายสมศักดิ์ ตอบว่า ผมเชื่อว่าการพูดกันอย่างตรงไปตรงมาช่วยทำให้เราแก้ปัญหาได้ ตราบใดเราไม่พูดตรงไปตรงมา แต่พยายามปิดมันกดมัน แล้วไปซุบซิบๆ ยิ่งไม่เสี่ยงที่เมื่อถึงเวลามันระเบิดออกมาแล้วทะเลาะกันยิ่งกว่าหรือครับ ซึ่งผมก็เรียกร้องจากผู้รับผิดชอบ 3 กลุ่ม คือนักการเมือง นักวิชาการ และสื่อมวลชน ที่ในสังคมฝรั่งเรียกเป็น elite เป็นชนชั้นนำของสังคม ผมคิดว่าคนกลุ่มพวกนี้มีภาระรับผิดชอบที่จะพูดเรื่องนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดความรุนแรง แต่ที่ผ่านมา 3 ฝ่ายในสังคมไทยกลับหลีกเลี่ยง ทำให้แทนที่เราจะเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างสันติ กลับยิ่งเพิ่มอันตรายของความขัดแย้งให้สูงขึ้นอีก
นายภิญโญ ถามว่า จะออกจากกับดักอย่างไร เพราะความขัดแย้งทางการเมืองในเวลานี้สูงมาก
นายสมศักดิ์ ตอบว่า ส่วนหนึ่งที่มันสูงเพราะผมมองว่าเราหลีกเลี่ยงมัน ถ้าใครพูดอะไรที่ไม่ตรงกับ official version ก็จะถูกหาว่าล้มเจ้า ทีนี้การโยนว่าคนนั้นคนนี้ล้มเจ้า ทำให้การ debate ข้อเสนอของแต่ละคนไม่เกิด ทั้งๆ ที่เป็นการหลีกเลี่ยงความขัดแย้งในระยะยาวได้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน.
{youtubejw}http://www.youtube.com/watch?v=Y70wJoffKug{/youtubejw}
(คลิกรายการฉบับเต็ม)
อ่านเรื่องประกอบ