มาเลเซียจะช่วยไทยดับไฟใต้จริงหรือ?
มีข้อบ่งชี้หลายประการว่า ท่าทีที่มาเลเซียแสดงในบริบทการสร้าง "กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ" ระหว่างฝ่ายความมั่นคงของไทย นำโดย พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการ สมช. กับ นายฮัสซัน ตอยิบ ที่ถูกระบุว่าเป็นแกนนำขบวนการบีอาร์เอ็นนั้น เป็นการหวังผลทางการเมืองค่อนข้างชัดเจน
ทั้งๆ ที่ไทยกำหนดสถานะให้มาเลเซียเป็นเพียง "ผู้อำนวยความสะดวก" ให้เกิดการพูดคุย หรือที่ใช้คำภาษาอังกฤษว่า facilitator เท่านั้น ทว่าท่าทีที่รัฐบาลมาเลเซียแสดงออกกลับเสมือนหนึ่งเป็น "ตัวกลางในการเจรจา" หรือ mediator ดังเช่นการที่ นายกฯนาจิบ ราซัก ของมาเลเซีย แย่งซีน นายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ด้วยการเปิดประเด็นนี้ระหว่างการแถลงข่าวผลการหารือทวิภาคีของทั้งสองประเทศ เมื่อวันที่ 28 ก.พ.2556 ซึ่งมีการทำความตกลงอย่างเป็นทางการในเรื่องอื่น ไม่ใช่เรื่อง "พูดคุยสันติภาพ"
ขณะที่สื่อในกำกับของรัฐบาลก็นำเสนอข่าวนี้อย่างเกรียวกราว หนังสือพิมพ์ฉบับเช้าวันรุ่งขึ้นพาดหัวเป็นข่าวใหญ่แทบทุกฉบับ แต่สื่ออิสระกลับนิ่งเงียบ ไม่ได้ให้ความสำคัญกับสิ่งที่รัฐบาลพยายามประโคมมากนัก ส่วนนักข่าวไทยแทบไม่มีใครได้ไปรายงานบรรยากาศ ณ สถานที่จริงที่ใช้ในการลงนามข้อตกลงที่น่าจะเรียกได้ว่าเป็นประวัติศาสตร์ของปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้เลย ภาพข่าวและข่าวที่นำมาลงต้องใช้จากสำนักข่าวต่างประเทศ
ที่สำคัญการเปิดข้อมูลโดยนายกฯนาจิบว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทยที่เคลื่อนไหวอยู่นอกประเทศ มีส่วนอย่างสำคัญในกระบวนการพูดคุยสันติภาพรอบนี้ ย่อมเท่ากับเป็นการ "โยนระเบิด" ใส่การเมืองไทย และเป็นการลดทอนโอกาสของความสำเร็จลงอย่างมาก เนื่องจากกลุ่มต่อต้านคุณทักษิณย่อมคัดค้านการพูดคุยสันติภาพไปด้วย
ปฏิเสธไม่ได้ว่า รัฐบาลของนายนาจิบกำลังเผชิญกับปัญหาหลายด้านในช่วงใกล้เลือกตั้งทั่วไปที่น่าจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ การรวมพลชุมนุมต่อต้านรัฐบาลซึ่งทำได้หลายครั้งในช่วงที่ผ่านมาทั้งๆ ที่ทางการมาเลเซียค่อนข้างเข้มงวดในเรื่องแบบนี้ เป็นตัวบ่งชี้ค่อนข้างชัด นอกจากนั้นยังมีสถานการณ์กลุ่มติดอาวุธสุลต่านซูลูจากฟิลิปปินส์ยกพลขึ้นบกยึดหมู่บ้านหลายหมู่บ้านในเขตรัฐซาบาห์บนเกาะบอร์เนียว โดยอ้างว่าเคยเป็นดินแดนครอบครองของบรรพบุรุษพวกตนมาก่อน จนทำให้ารัฐบาลนายนาจิบเสียหน้าไปไม่น้อยด้วย
ทั้งหมดสะท้อนปัญหาคะแนนนิยมตกต่ำของรัฐบาลนายนาจิบ และสะเทือนถึงการเลือกตั้งใหญ่ ฉะนั้นการประกาศตัวเป็นผู้นำสันติภาพชายแดนใต้ของไทยจึงช่วยแก้หน้าให้กับมาเลเซียได้พอสมควร
งานนี้มาเลเซียจึงมีแต่ได้กับได้ ขณะที่คุณทักษิณก็คงมี "ผลได้" อะไรบางอย่าง นอกเหนือจากการช่วยน้องสาวแก้ไขปัญหาภาคใต้ ซึ่งน่าจะเหลืออีกเพียงไม่กี่ปัญหาในประเทศไทยที่คุณทักษิณยังควบคุมสถานการณ์ไม่ได้อย่างแท้จริง
แต่คำถามคือคนไทยได้อะไร ประเทศไทยได้อะไร?
ทีมของเลขาธิการ สมช.วิเคราะห์ในแง่ดีว่า การที่มาเลเซียประกาศตัวชัด เท่ากับเป็นข้อผูกมัดว่าต้องช่วยไทย โดยเฉพาะเจตจำนง 3 ข้อที่ได้ประกาศออกมา คือไม่สนับสนุนการแบ่งแยกดินแดน ไม่สนับสนุนการใช้ความรุนแรง และไม่อนุญาตให้มาเลเซียเป็นที่หลบซ่อนหรือหลบหนีของผู้ก่อความไม่สงบ
ฝ่ายความมั่นคงไทยมองว่านี่คือครั้งแรกที่มาเลเซียประกาศชัดๆ และออกมายืนในที่สว่างเคียงคู่กับไทย เสมือนเผชิญปัญหาร่วมกัน
แต่คำถามก็คือ เจตจำนง 3 ข้อที่ว่านั้นเป็นเรื่องที่ต้องทำอยู่แล้ว และควรทำตั้งนานแล้วมิใช่หรือ ในฐานะ "เพื่อนบ้าน" ที่เป็นมิตรที่ดีต่อกัน โดยเฉพาะข้อ 3 คือการไม่อนุญาตให้ใช้ประเทศของตนเป็นที่หลบซ่อนหรือหลบหนีของผู้ที่กระทำผิดกฎหมายในประเทศของมิตร
พล.ท.ภราดร บอกว่า รู้ดีว่ามาเลเซียได้ประโยชน์ทางการเมืองในเรื่องนี้ แต่ก็เป็นธรรมดาของการเมืองระหว่างประเทศที่จะต้องมีเรื่องผลประโยชน์ทางการเมืองแอบแฝง ขณะที่คณะทำงานของ พล.ท.ภราดร ก็ให้ข้อมูลแบบเดียวกัน คืออ่านกันออก รู้ทั้งรู้ แต่ก็ยังเชื่อว่า "ผลได้" มีเยอะกว่า
พล.ท.ภราดร บอกด้วยว่า เมื่อมาเลเซียจับมือกับไทย ผนวกกับการเตรียมก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในอีก 2 ปีข้างหน้า ทุกอย่างจะ "บังคับวิถี" ให้กลุ่มก่อความไม่สงบเคลื่อนไหวลำบากมากยิ่งขึ้น หนีข้ามฝั่งก็ไม่ได้ ถ้ายังเดินหน้าก่อเหตุทำร้ายประชาชนผู้บริสุทธิ์ก็จะเสียมวลชน หากมาเลเซียไม่จริงใจก็จะถูกตำหนิจากชาติอาเซียน
สรุปก็คือต่างฝ่ายต่างมีไพ่ในมือ แม้จะรู้ไพ่ของอีกฝ่าย แต่ก็ต้องวัดใจกัน!
ปัญหาที่ต้องขบคิดก็คือ งานนี้แกนนำบีอาร์เอ็นเต็มใจมาร่วมลงนามในข้อตกลงสันติภาพที่กัวลาลัมเปอร์ หรือว่าถูกบังคับให้มา เพราะบุคคลเหล่านั้นบางส่วนพำนักอยู่ในมาเลเซีย
รายงานลับของฝ่ายความมั่นคงไทยเองระบุว่า เคยพูดคุยเจรจากับคนกลุ่มนี้มาโดยตลอด (ทั้งบีอาร์เอ็นและพูโล) ในรัฐบาลชุดที่แล้วก็เคยส่ง "คนในรัฐบาล" ไปคุยกันที่ฟิลิปปินส์ แล้วเหตุใดจึงไม่เปิด "กระบวนการพูดคุยอย่างเป็นทางการ" ในประเทศที่ไม่มีส่วนกับปัญหาชายแดนภาคใต้ แทนที่จะเลือกใช้มาเลเซียซึ่งมีส่วนได้เสียกับปัญหาไม่น้อย โดยเฉพาะปัญหาคนสองสัญชาติ และการแข่งขันทางการเมืองในรัฐตามแนวชายแดนทางด้านเหนือ (ติดกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย) ซึ่งเป็นเขตอิทธิพลของพรรคฝ่ายค้านมาเลเซีย
ถ้ารัฐบาลนายนาจิบชนะเลือกตั้งแล้วทิ้งเรื่องพูดคุยสันติภาพ ไทยจะทำอย่างไร เพราะดูจะฝากความหวังและความรับผิดชอบไว้กับมาเลเซียเต็มๆ
แล้วจะเชื่อได้อย่างไรว่ารัฐบาลมาเลเซียจากพรรคอัมโนสามารถดูแลพรมแดนด้านที่ติดกับไทยได้ 100% เพราะ 4 รัฐทางตอนเหนือที่ติดกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นฐานเสียงสำคัญของพรรคฝ่ายค้าน โดยเฉพาะ "พรรคปาส" ในรัฐกลันตันซึ่งมีความเกี่ยวข้องเกี่ยวพันในมิติเครือญาติ (ไม่ใช่แค่ศาสนาเท่านั้น) กับคนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
และจริงหรือไม่ที่หน่วยข่าวกรองของไทยคัดค้านการเพิ่มบทบาทของมาเลเซียในบริบทที่เกี่ยวกับปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างแข็งขัน
เรื่องของความจริงใจ เชื่อว่าหลังเลือกตั้งใหญ่ในมาเลเซียน่าจะพอมองเห็นภาพชัดระดับหนึ่ง ขณะเดียวกันการเสาะหาข้อมูลการเจรจาสันติภาพมินดาเนาระหว่างรัฐบาลฟิลิปปินส์กับกลุ่มโมโร ว่าฟิลิปปินส์พอใจบทบาท "คนกลาง" อย่างมาเลเซียแค่ไหน ก็น่าสนใจไม่น้อย...
เพราะแม้การพูดคุยเจรจาจะเป็นเรื่องดีและน่าจะเป็นหนทางยุติความขัดแย้งได้ก็จริง แต่ก็ต้องดำเนินไปอย่างรู้เท่าทันและคำนึงถึงผลประโยชน์ชาติเป็นอันดับหนึ่งด้วย!
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : นายกฯยิ่งลักษณ์ จับมือกับนายกฯนาจิบ ภายหลังหารือแบบทวิภาคีที่ประเทศมาเลเซีย เมื่อ 28 ก.พ.2556
ขอบคุณ : นันทสิทธิ์ นิตย์เมธา ช่างภาพจากศูนย์ภาพเนชั่น เอื้อเฟื้อภาพจากมาเลเซีย
หมายเหตุ : บางส่วนของบทความชิ้นนี้ ตีพิมพ์ในคอลัมน์แกะรอย หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 12 มี.ค.2556 ในชื่อ "เจรจาดับไฟใต้...พึ่งมาเลย์มากไปไหม?"