ปิยสวัสดิ์จี้ยุบกรรมการ 2 ชุด ฉุดโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน
(ที่มาภาพ : http://bit.ly/10FIzYi)
วานนี้ (11 มี.ค.) ศูนย์ข้อมูลและสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง (TCIJ ) จัดเสวนา "วิกฤตไฟฟ้า วิกฤตพลังงาน เรื่องจริงหรืออิงนิยาย"
นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า รัฐบาลควรยุบ 2 คณะกรรมการที่เป็นอุปสรรคต่อการเกิดขึ้นของโรงไฟฟ้าในประเทศ ได้แก่ คณะกรรมการบริหารมาตรการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ของกระทรวงพลังงาน ที่ออกระเบียบจำกัดรับซื้อไฟฟ้าแบบมีโควตา กับ คณะกรรมการกลั่นกรองการพิจารณาอนุญาตโรงงานบางประเภทที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม ที่ตั้งโดยกระทรวงอุตสาหกรรม ที่กำหนดว่าการผลิตไฟฟ้าเกิน 5 แรงม้าจะต้องมีการขอใบอนุญาตโรงงาน (รง.4) โดยเกณฑ์ของคณะกรรมการทั้งสองชุดนี้เอื้อให้เกิดการวิ่งเต้นและไม่โปร่งใส
เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็กและเล็กมาก (SPP และ VSPP) จำนวน 600 ราย ที่กระทรวงอุตสาหกรรมยังไม่ออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) ให้ โดยทั้ง 600 รายมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 4,000 เมกะวัตต์ ซึ่งจำนวนดังกล่าวเป็นพลังงานทดแทนอยู่ 1,000 เมกะวัตต์ ดังนั้นควรยกเลิกขั้นตอนที่เป็นอุปสรรคด้านใบ รง.4 เพราะจะทำให้ประเทศไทยจะมีไฟฟ้าอย่างต่ำ 1,000 เมกะวัตต์มาช่วยเสริมระบบในช่วงวิกฤตไฟฟ้าปัจจุบันได้
"หากไม่มีการตั้งคณะกรรมการ 2 ชุดนี้ขึ้นมา จะทำให้ปีนี้จะมีไฟฟ้าจากส่วนนี้เข้ามาในระบบ ปัญหาสำรองไฟฟ้าที่รัฐบาลระบุว่าจะเกิดขึ้นช่วงการหยุดจ่ายก๊าซพม่าวันที่ 5-14 เมษายน แทบจะไม่มีเลย การซ่อมแท่นก๊าซที่พม่าระหว่างวันที่ 5-14 เมษายน 2556 ก็เป็นการซ่อมปกติที่มีการแจ้งล่วงหน้า การที่ รมว.พลังงานมาจุดประเด็นคงจะต้องไปถามว่าเพราะอะไร หรือเพิ่งจะรู้" นายปิยสวัสดิ์ กล่าว
อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานยังกล่าวถึงแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (พีดีพี) ด้วยว่ากระทรวงพลังงานควรปรับปรุงแผนเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน เพราะต้นทุนมีแนวโน้มต่ำลงใกล้เคียงก๊าซธรรมชาติแล้ว โดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ที่มีต้นทุน 5-6 บาทต่อหน่วยลดลงจากในอดีตที่มีต้นทุน 16 บาทต่อหน่วย รวมทั้งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยมีจำกัดและราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) มีแนวโน้มสูงขึ้นจะทำให้ราคาไฟฟ้าที่ผลิตจากก๊าซในอนาคตสูงขึ้นด้วย
ด้านนางชื่นชม สง่าราศี กรีเซน นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า การประมูลโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ (ไอพีพี) ที่กำลังดำเนินการตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (พีดีพี 2012) ที่กำหนดให้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ 5,400 พันเมกะวัตต์นั้น ควรเลื่อนแผนประมูลไอพีพีออกไป เนื่องจากความไม่เหมาะสมที่มีการล็อคสเปกให้มีการพึ่งพิงก๊าซมากเกินไป โดยควรเปิดให้มีทางเลือกให้เชื้อเพลิงอื่นโดยเฉพาะพลังงานหมุนเวียน ไม่ควรเป็นโรงไฟฟ้าก๊าซฯเพียงอย่างเดียว
ทั้งนี้เชื่อว่าการเลื่อนประมูลไอพีพีออกไปจนกว่าแผนพีดีพี 2013 จะเสร็จ จะไม่กระทบต่อปริมาณสำรองไฟฟ้าของประเทศ เนื่องจากขั้นตอนการยื่นประมูลและการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจะต้องใช้ระยะเวลา 8-10 ปี ดังนั้นยังมีเวลาอีก 2-3 ปีในการตัดสินใจ
ส่วนกรณีวิกฤตไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้นในเดือนเมษายน นักวิชาการอิสระระบุว่า วิกฤตที่เรากำลังเผชิญอยู่ไม่ใช่วิกฤตไฟฟ้าไม่พอ แต่เป็นวิกฤตธรรมาภิบาล ที่มีการสมยอมกันทั้งระบบ มีการผลักภาระต้นทุนมาให้ผู้บริโภคต้องแบกรับ ทั้งที่ไม่มีส่วนต่อการดำเนินการที่ไร้ประสิทธิภาพ
และเรียกร้องให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (เรกูเลเตอร์) ตรวจสอบสัญญาการรับซื้อก๊าซจากพม่าของ ปตท. มากกว่านี้ เพราะตามสัญญาหากมีการปิดซ่อมโดยรู้ล่วงหน้าจะต้องมีการส่งก๊าซให้ไทย 50%ของปริมาณจัดส่งตามสัญญา หรือหากไม่สามารถส่งก๊าซได้ก็ควรลดราคา 25% เพื่อไม่ให้ภาระตกอยู่กับประชาชนทั้งหมด