ข้อเสนอเรื่อง “มาตรา 112” ของ “สุรเกียรติ์ เสถียรไทย”
เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2556 รายการ “ตอบโจทย์ประเทศไทย” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ดำเนินรายการโดยนายภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ได้เชิญ ดร.สุรเกียรติ เสถียรไทย อดีต รมว.กระทรวงการต่างประเทศ มาพูดคุยในประเด็นเรื่อง “สถาบันพระมหากษัตริย์” มีใจความน่าสนใจดังนี้
ดร.สุรเกียรติ์ เริ่มต้นรายการ โดยกล่าวถึงกฎหมายนิรโทษกรรมที่มีความพยายามผลักดันอยู่ว่า ตนแปลกใจที่ประเทศไทยเริ่มต้นปรองดองในสภา เพราะโดยธรรมชาติสภามีลักษณะของการเผชิญหน้า โดยเฉพาะระหว่างฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาล ตนคิดว่าการปรองดองควรจะเกิดจากสังคม ถ้าทุกฝ่ายเห็นว่าควรจะปรองดองค่อยมาดูกลไกที่เป็นไปได้ เวลานี้มีฝ่ายที่ขัดแย้งกัน 6-7 ฝ่าย เราควรจะมาคุยกับคนเหล่านี้ ว่าการปรองดองคืออะไร จากนั้นก็มาหาจุดร่วมกันแล้วเดินหน้าก่อน อาทิ นิรโทษผู้ชุมนุมที่มีความผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จากนั้นค่อยทำเรื่องที่ยากขึ้น ซึ่งกระบวนการต่างๆ ต้องออกแบบ ที่สำคัญจะต้องมีการพูดคุยกันระหว่างฝ่ายต่างๆ
“ปัญหาคือใครจะเป็นคนไปคุย เพราะประเทศไทยเวลานี้ไม่มีคนกลางเหลืออยู่ ผมว่าอาจจะใช้เครือข่ายที่ทุกฝ่ายยอมรับ ที่ผมเรียกว่าเครือข่ายคนกลาง ไปคุยกับฝ่ายต่างๆ แทน แล้วนำเรื่องที่เห็นตรงกันมาเดินหน้าต่อ” ดร.สุรเกียรติ์กล่าว
ดร.สุรเกียรติ์ ยังกล่าวถึงประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ว่า ควรจะหยุดกระบวนการใส่ร้ายจาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์เสียก่อน เพราะเวลานี้มีมากมายไปหมด แล้วเป็นความเท็จเกือบ 100% เพราะจะทำให้เกิดการต่อต้านและปกป้อง ถ้าเลิกการใส่ร้ายจาบจ้าง ก็จะไม่มีการต่อต้านปกป้อง โรคแทรกซ้อนก็จะไม่มี
“สังคมก็ควรจะมาคุยเรื่องมาตรา 112 เสียที เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เคยมีพระราชดำรัสว่าไม่เห็นด้วยกับหลักการ the king can do no wrong ดังนั้น ควรจะมาเปิดเวทีพูดคุยเรื่องนี้กันด้วยเหตุผล คนชอบมาถามผมว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยจะพัฒนาไปเหมือนประเทศไทย ผมก็บอกว่าของเราไม่เหมือนประเทศไหนหรอก” ดร.สุรเกียรติ์กล่าว
อดีต รมว.กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า สำหรับมาตรา 112 ส่วนตัวเห็นว่าควรจะมีหน่วยงานฟ้องคดีแทนสถาบันพระมหากษัตริย์ แล้วมาคุยกันว่าควรจะมีโทษขั้นต่ำหรือไม่ หลายคนเสนอว่ากรณีคอลัมนิสต์ไม่ได้เจตนา จะเปลี่ยนจากโทษจำคุกเป็นโทษปรับได้หรือไม่ ที่สำคัญการพิจารณาคดีควรจะดูเรื่องเจตนาเป็นหลัก นอกจากนี้ อัยการสูงสุดมีอำนาจในการใช้ดุลยพินิจว่าจะสั่งฟ้องคดีใดหรือไม่ เพราะบางเรื่องจำเป็นในการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ บางเรื่องควรจะใช้วิธีอื่น
“สถาบันมีการปรับตัว เปลี่ยนแปลง ปฏิรูปอยู่แล้ว แต่ไม่มีสถาบันใดๆ ในสังคมไทย ที่จะปรับตัวได้เร็วทันใจ มันต้องใช้เวลา แต่ต้องเริ่มจากการหยุดใส่ร้ายด้วยความเท็จเสียก่อน และเลิกการชี้นิ้วใส่ร้ายกัน ยกเว้นคนที่ชัดเจนว่าไม่เอาเจ้าหรือล้มเจ้า” ดร.สุรเกียรติ์กล่าว
ดร.สุรเกียรติ์ ยังกล่าวว่า เรื่องคดีมาตรา 112 ควรจะใช้อย่างรัฐบาลในอดีต โดยการตั้งคณะกรรมการกลั่นกรอง เพื่อดูว่าเรื่องใดควรจะดำเนินการไปในทางใด โดยให้มีตัวแทนจากฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายยุติธรรม ตัวแทนราชเลขาธิการ ฯลฯ เรื่องบางเรื่องที่สั่งฟ้องไปแล้วไม่เป็นประโยชน์ต่อการปกป้องเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็ควรจะสั่งไม่ฟ้อง เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีหลังพิง ตนอยากเสนอให้รัฐบาลชุดนี่ตั้งคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นมา
“การถวายความจงรักภักดีอย่างลึกซึ้ง ง่ายที่สุดคืออย่าดึงพระองค์ท่านมายุ่งกับการเมือง เรามีความขัดแย้งทางการเมืองอะไร ควรจะแก้กันเองได้แล้ว ไม่ต้องไปดูว่าท่านพูดอย่างไร ท่านว่าอย่างไร เพราะท่านไม่ได้พูด ไม่ได้ว่าอย่างไร ท่านเป็นพระมหากษัตริย์ เป็นเหมือนพ่อของเรา ท่านก็ดูแลทุกคน เวลาบอกว่าในวังเห็นอย่างไร ก็ไม่รู้ว่าในวังไหน แล้ววังก็ไม่มีโฆษก สิ่งนี้ทำให้เกิดความเข้าใจผิด พูดกันปากต่อปากในโซเชียลมีเดีย เราไม่เหมือนในบางประเทศที่มีโฆษกวัง เพราะที่ผ่านมาโฆษกของพระองค์ท่าน คือผลงานของพระองค์ท่าน คนรักพระองค์ท่าน เพราะผลงานที่ท่านทำให้กับประชาชน” ดร.สุรเกียรติ์กล่าว