อึ้ง! งบฯป้องกันคอร์รัปชั่น ป.ป.ช.ต่ำเตี้ยติดดิน พบไม่ถึง 1 บาท/หัวประชากร
คณะทำงานเฉพาะประเด็นการปฏิรูปเพื่อแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น หนุน “กองทุนต้านโกง" เชื่อคือฝันที่เป็นจริง แม้จะยากลำบาก พร้อมเรียกร้องรัฐบาล ภาคประชาชน จับมือออกแรงคลอดกฎหมายนี้ให้ผ่านสภาฯ โดยเร็ว
วันที่ 11 มีนาคม สำนักงานปฏิรูป (สปร.) ร่วมกับคณะทำงานเฉพาะประเด็นการปฏิรูปเพื่อแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น จัดแถลงข่าวเรื่อง “กองทุนต้านโกง…ฝันที่เป็นจริงของภาคประชาชน” ณ ห้องประชุมสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถนนสามเสน
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป ประธานคณะทำงานฯ กล่าวว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยใช้งบประมาณในการป้องกันและแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นน้อยเกินไป เห็นได้จากงบประมาณระหว่างปี 2553-2556 ของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เฉลี่ยได้งบฯ ปีละ 1,077 ล้านบาท หรือ 16.50 บาทต่อหัวประชากร ซึ่งในจำนวนนี้เป็นงบฯ ในการป้องกันเพียง 54 ล้านบาท หรือ ไม่ถึง 1 บาทต่อหัวประชากร ขณะที่ฮ่องกง ปี 2551 ใช้งบฯ ต่อต้านคอร์รัปชั่น 0.3% ของงบประมาณรายจ่าย หรือ 0.05% ของ GDP ประมาณ 400-500 บาทต่อหัวประชากร
"หากเราเอาบรรทัดฐานของฮ่องกงมาจับ ประเทศไทยควรใช้งบฯต่อต้านการทุจริตประมาณ 4,698 ล้านบาท สำหรับกรณีเทียบงบประมาณรายจ่ายของรัฐ หรือ 28,000 ล้านบาทในกรณีเทียบกับ GDP”
สำหรับการจัดตั้งกองทุนสนับสนุนการป้องกันการทุจริตขึ้น หรือกองทุนต้านโกง เพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถเข้ามามีส่วนในการป้องกันการทุจริตได้นั้น นพ.พลเดช กล่าวว่า ขณะที่ป.ป.ช.กำลังจัดทำยกร่างพ.ร.บ.กองทุนป้องกันทุจริตตามข้อเรียกร้องของประชาชน แต่โอกาที่นักการเมืองจะให้ผ่านสภาเป็นกฎหมายนั้น มีน้อยมาก ฉะนั้น เส้นทางการเสนอกฎหมายที่ประชาชนต้องการ แต่นักการเมืองไม่ให้ความสำคัญ จึงมักเป็นการเดินทางที่ยาวนานและเต็มไปด้วยอุปสรรค
"ขณะนี้ ป.ป.ช. ได้จัดทำเนื้อหาร่างพระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแล้ว เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นมาแล้ว 2 ครั้ง วันที่ 18 มีนาคม 2556 จะเปิดรับฟังความคิดเห็นเป็นครั้งสุดท้าย จากนั้นจะมีการปรับเนื้อหา ก่อนเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช. จากนั้นนำเข้าสู่กระบวนการนิติบัญญัติ"นพ.พลเดช กล่าว และว่า การผ่านร่างกฎหมายกองทุนฯ นี้ภายในปี 2557 เป็นเรื่องค่อนข้างฝันมาก แต่ก็อยากป.ป.ช.และรัฐบาลเสนอร่างกฎหมายกองทุนฯ ผ่านกระบวนการนิติบัญญัติ พร้อมขอให้เครือข่ายภาคประชาชน รณรงค์สนับสนุนกระบวนการออกกฎหมายฉบับนี้ด้วย
ดร.มานะ นิมิตมงคล ผู้อำนวยการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) กล่าวว่า ภาคเอกชนไม่เคยคาดหวังภาครัฐ สนับสนุนการต่อต้านคอร์รัปชั่น โดยเฉพาะในยุคปัจจุบัน เพราะเราเห็นว่า คอร์รัปชั่นยุคนี้เลวร้ายมากเหลือเกิน เป็นคอร์รัปชั่นแบบไร้สามัญสำนึก เหี้ยมโหด ใครจะอธิบายอย่างไร ฉันก็จะทำ ซึ่งการทำงานขับเคลื่อนเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชั่นในส่วนของภาคเอกชนนั้น ไม่มีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ แต่สำหรับภาคประชาชน ภาครัฐควรให้การสนับสนุน เพื่อเพิ่มศักยภาพ เพิ่มความแข็งแกร่งในการต่อต้านคอร์รัปชั่นให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น
ขณะที่ศ.ดร.เมธี ครองแก้ว อดีตกรรมการป.ป.ช. กล่าวถึงการจัดตั้งและดำเนินการของกองทุนสนับสนุนการป้องกันการทุจริตฯ นั้น "หัวใจ" บรรทัดสุดท้ายอยู่ที่รัฐบาลสนับสนุนหรือไม่ มองเห็นความสำคัญหรือไม่ ขณะเดียวกันการบริหารจัดการกองทุนฯ จะมีประสิทธิภาพ มั่นคงได้ก็ต้องมีกฎหมายรองรับด้วย เช่นเดียวกับ กองทุน สสส. สกว. กองทุน 30 บาท และกองทุนหมู่บ้าน เป็นต้น
“กองทุนที่มีกฎหมายรองรับ มีข้อดีเมื่อรัฐบาลเปลี่ยน รัฐบาลที่เป็นปฏิปักษ์ไม่สามารถล้มได้ ทำได้มากที่สุดก็ไม่เอาเงินไปใส่ แต่ไม่สามารถล้มได้”ศ.ดร.เมธี กล่าว และเห็นว่า ในเมื่อรัฐบาลทุ่มงบฯ ไปกับโครงการจำนำข้าว 2 ปี กว่า 4 แสนล้านบาท หรือโครงการล่าสุดลงทุนโครงสร้างพื้นฐานประเทศ 2.2 ล้านล้านบาท แต่ทำไมงานด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งมีความสำคัญกับประเทศลำดับต้นๆ ใช้งบฯ หลักพันล้านบาท เหตุใดถึงไม่ทุ่มเทงบฯ ลงไปด้านนี้บ้าง