ภราดร : ผู้อาวุโสจะบอกพวกรุ่นใหม่ว่าหนีไปมาเลย์ไม่ได้แล้ว!
ข่าวใหญ่ที่สุดข่าวหนึ่งตั้งแต่วันสุดท้ายของเดือน ก.พ.เป็นต้นมา ซึ่งเกี่ยวพันทั้งประเทศไทย ประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย และประชาคมอาเซียน ก็คือการที่รัฐบาลไทยโดยเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ไปลงนามในข้อตกลงริเริ่มกระบวนการพูดคุยสันติภาพเพื่อแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้กับ นายฮัสซัน ตอยิบ ที่อ้างตัวว่าเป็นแกนนำขบวนการบีอาร์เอ็น
เป็นการเปิดตัวลงนามกันที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย อย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย เล่นเอาตกตะลึงกันไปค่อนประเทศ!
หลังจากวันนั้นก็มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์เชิงคำถามมาตลอด หลักๆ ก็คือ คนที่ลงนามพูดคุยด้วยเป็นตัวจริงหรือไม่ สั่งการกองกำลังติดอาวุธในพื้นที่ได้จริงไหม และเมื่อลงนามไปแล้วจะรังสรรค์สันติสุขได้จริงหรือเปล่า???
ที่สำคัญ "อะไร" คือแรงผลักดันให้เกิดโต๊ะเจรจา...สันติภาพหรือผลประโยชน์ทางการเมืองของใครบางคน
คำถามทั้งหมดนี้คงไม่มีใครตอบได้ดีเท่า พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการ สมช. ผู้ที่เป็นตัวแทนฝ่ายไทยไปลงนามกับผู้แทนบีอาร์เอ็น
O ทำไมจู่ๆ จึงเปิดตัวลงนามสันติภาพกันโดยที่ไม่มีใครรู้เลย?
เรื่องการพูดคุยมีการดำเนินการใต้ดินมาตลอด แต่ไม่เกิดผลสัมฤทธิ์เพราะมาเลเซียไม่ช่วยเราเต็มที่ งึกๆ งักๆ อยู่ ต้องยอมรับว่าถ้าไม่มีสภาพเชิงบังคับจากมาเลย์ อย่างไรเสียเราก็แก้ปัญหาไม่ได้ เพราะการเคลื่อนไหวของฝ่ายก่อความไม่สงบมีเสรี พอก่อเหตุเสร็จก็ข้ามไปฝั่งโน้น เราก็ลำบาก แต่คราวนี้มาเลย์เปิดตัวชัดเจน ส่งคนมาเป็นสักขีพยานในการลงนามริเริ่มกระบวนการพูดคุย เท่ากับว่ามาเลย์ส่งสัญญาณให้ขบวนการก่อความไม่สงบได้รู้
สัญญาณที่ส่งชัดเจนมี 3 ข้อ คือ 1.มาเลเซียไม่สนับสนุนการแบ่งแยกดินแดน 2.มาเลเซียไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย และ 3.มาเลเซียไม่อนุญาตให้ผู้ก่อเหตุรุนแรงหลบหนีหรือเข้าไปหลบซ่อนในดินแดนของเขา เพราะฉะนั้นก็เท่ากับว่าขณะนี้กลุ่มผู้ก่อเหตุข้ามไปฝั่งมาเลย์ไม่ได้แล้ว
O นายฮัสซัน ตอยิบ เป็นตัวจริงหรือไม่?
เป็นตัวจริงแน่นอน มีส่วนเกี่ยวข้องกับบีอาร์เอ็น อยู่ในระดับองค์กรรนำทางความคิด เราได้ตรวจสอบกับทั้งเจ้าหน้าที่ข่าวกรองของไทยกับมาเลเซียแล้วสรุปตรงกัน การแสดงตัวของ นายฮัสซัน ตอยิบ ถือว่ากล้าหาญ เพราะปกติองค์กรของเขาเป็นองค์กรลับ การเปิดตัวทำให้เสียลับ แต่เขาก็กล้า การที่เขาต้องเปิดตัวก็เพราะสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลง รัฐบาลมองเห็นตรงนี้จึงเริ่มกระบวนการพูดคุย
โครงสร้างของบีอาร์เอ็นมีหลายส่วน ประกอบด้วยองค์กรนำทางความคิด กองกำลัง และแนวร่วม ฮัสซันอยู่ฝ่ายกองกำลังมาก่อน ต่อสู้ตั้งแต่ปี 2520 สร้างระบบปอเนาะ ตาดีกา และบ่มเพาะคนมาเยอะ กระทั่งยกฐานะจากระดับปฏิบัติการขึ้นเป็นผู้บริหาร ปัจจุบันอยู่ในบอร์ดบริหารของบีอาร์เอ็น ซึ่งบีอาร์เอ็นบริหารแบบคณะบุคคล ไม่มีใครมีอำนาจตัดสินใจคนเดียว แต่กรณีของฮัสซัน การที่มาคุยได้ก็เพราะ สะแปอิง บาซอ (บุคคลที่ทางการไทยเชื่อว่าเป็นประธานกลุ่มบีอาร์เอ็น) เห็นพ้อง คนในขบวนการยอมรับฮัสซันมากทั้งความคิดและการปฏิบัติ
O ทำไมในพื้นที่ยังเกิดเหตุรุนแรงอยู่?
ปัจจัยการเกิดเหตุรุนแรงในพื้นที่มีหลายปัจจัย ทั้งแบ่งแยกดินแดนและภัยแทรกซ้อนต่างๆ ซึ่งหมายถึงธุรกิจผิดกฎหมาย ยาเสพติด น้ำมันเถื่อน หลายอย่างปนเปไป มีการสร้างสถานการณ์และสมประโยชน์กัน ไม่ใช่มีแค่บีอาร์เอ็นกลุ่มเดียวที่ทำให้ความรุนแรงเกิดขึ้น
O กลุ่มที่เคลื่อนไหวก่อเหตุรุนแรงมีกี่กลุ่ม?
ที่ผ่านมามีอยู่ 8-9 กลุ่ม ตอนหลังย่อส่วนลงมาเหลือ 6 กลุ่ม แต่บีอาร์เอ็นทรงอิทธิพลที่สุด เราเชื่อมั่นว่าเมื่อบีอาร์เอ็นเข้ากระบวนการพูดคุย กลุ่มอื่นก็จะตามมา เมื่อกลุ่มใหญ่ที่กุมสภาพทั้งหมดยอมพูดคุย ก็ต้องดึงกลุ่มเล็กเข้ามาโดยสภาพ
O มีการตั้งข้อสังเกตว่ากระบวนการที่ทำกลับหัวกลับหางหรือไม่ คือน่าจะพูดคุยกันไประดับหนึ่งก่อนจึงค่อยลงนามในข้อตกลง แต่นี่เป็นการเปิดตัวด้วยการลงนามในข้อตกลงก่อน?
ไม่กลับหัว การลงนามต้องอยู่ตอนต้น เพราะไม่ใช่การเจรจา แต่เป็นการเปิดพื้นที่พูดคุย ซึ่งดำเนินการมานานแล้ว แต่เป็นการทำแบบใต้ดิน ครั้งนี้เอาขึ้นมาบนดิน คนเลยตกใจ ที่สำคัญเป็นเรื่องของจังหวะเวลา เรากำลังจะไปอาเซียนแล้ว ถ้ายังมีปัญหาขัดแย้งตามแนวชายแดนอยู่ทั้งมาเลเซียและไทยก็จะมีปัญหา ก็เลยมอบหมายให้ สมช.ของทั้งสองประเทศไปอำนวยการให้เกิดการพูดคุย เรื่องนี้เป็นก้าวที่ 3-4 แล้ว ไม่ใช่ก้าวแรก
การเปิดพื้นที่พูดคุยก็เป็นไปตามนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2555-2557 ข้อ 8 จาก 9 ข้อ ซึ่งเป็นนโยบายที่ผ่าน ครม. (คณะรัฐมนตรี) และรัฐสภารับทราบ เราพร้อมคุยกับทุกกลุ่ม แต่ต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ
O มีข่าวว่าฮัสซันเคยไปดูไบ คุยกับคุณทักษิณ (พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี) มาแล้วด้วย?
ถูกต้อง เพราะกระบวนการเปิดให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม ท่านทักษิณก็เป็นอดีตนายกฯ อาจจะเคยใช้นโยบายผิดพลาด ไปใช้กำปั้นเหล็ก ท่านก็อยากจะแก้ไข และท่านสนิทกับท่านนาจิบ (นายนาจิบ ราซัก นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย) ประชาคมอาเซียนก็บังคับวิถี ท่านทักษิณเป็นหนึ่งในกลไกขับเคลื่อน ถ้าไม่มีท่านคงไม่เร็วแบบนี้ อาจจะอีกเป็นปี ท่านทักษิณเรียนรู้ความผิดพลาด แล้วก็กลับมาปรุงแต่งแก้ไข
O มีหลายเสียงเตือนว่ามาเลย์ไม่จริงใจ มีผลประโยชน์แอบแฝง ท่านคิดอย่างไร?
ทุกประเทศมีผลประโยชน์ของตัวเอง เราก็มี เขาก็มี เรายืนอยู่คนเดียวไม่ได้ ต้องไปอาเซียนด้วยกัน สำหรับมาเลเซียผมเชื่อว่าเขาจริงใจ ในกระบวนการพูดคุยและลงนาม (เมื่อวันที่ 28 ก.พ.) เลขาธิการ สมช.ของมาเลเซียมาเป็นสักขีพยาน ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการตำรวจ ผู้บัญชาการสันติบาลมาหมด แต่งเครื่องแบบมาเลย ผมคิดว่าความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลไทยกับมาเลเซียในยุคนี้เป็นกุญแจสู่ความสำเร็จ
O ชาวมาเลย์ตามแนวชายแดนที่ติดกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จะรับได้หรือไม่ เพราะพื้นที่นั้นเป็นเขตอิทธิพลของพรรคฝ่ายค้าน และมีความรูสึกเป็นเครือญาติกับคนสามจังหวัด?
ผมคิดว่ารับได้ เพราะเขามองผลประโยชน์องค์รวมของประเทศ เมื่อไม่มีความขัดแย้งก็จะก้าวสู่ประชาคมอาเซียนได้อย่างแข็งแรง
O การพูดคุยครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นการพูดคุยอย่างเป็นทางการครั้งแรกที่กำหนดไว้วันที่ 28 มี.ค.นี้ ภาพจะออกมาอย่างไร?
เป็นกระบวนการสร้างความเชื่อใจ และกำหนดกรอบการทำงานให้ชัดเจน โดยในช่วงนี้เราก็กลับมาหาผู้มีความรู้และประสบการณ์ในพื้นที่ ทางฝ่ายบีอาร์เอ็นก็ไปหาเหมือนกัน กำหนดไว้ฝ่ายละ 15 คนเพื่อมาคุยกัน หลังจากนั้นก็จะค่อยๆ ขยับ ค่อยๆ ปรับจูน ออกแบบคณะทำงานย่อยเพื่อพูดคุยในแต่ละเรื่อง ผมเองก็ต้องหากระบี่มือสอง เพราะไม่อย่างนั้นก็ไม่ต้องทำงานอื่น
คณะทำงานที่จะเดินงานต่อไปจะเป็นผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม ผู้นำศาสนา อาจจะมีประเด็นเกี่ยวกับเศรษฐกิจและกฎหมายที่ต้องคุยกันเยอะ อาจจะคุยกันทุกเดือน ส่วนคณะทำงานชุดใหญ่ที่มีผมเป็นหัวหน้าก็อาจจะ 2-3 เดือนครั้ง
O ประเด็นที่จะคุยกันในวันที่ 28 มี.ค.นี้มีอะไรบ้าง?
ยุติความรุนแรง แต่ไม่ใช่ทันที อาจจะให้เวลาเขาพอสมควร เพราะต้องมีการสื่อสารจากองค์กรนำทางความคิดลงไปสู่ฝ่ายปฏิบัติการในพื้นที่ แน่นอนว่าอาจจะมีบางกลุ่มไม่พอใจ แต่ผมเชื่อว่ากระบวนการของเราจะไม่ใช้เวลานานเหมือนประเทศอื่น เพราะกรอบประชาคมอาเซียนจะบังคับวิถี
หลัง 28 มี.ค.จะส่งสัญญาณชัด หลังจากนั้นใครพร้อมก่อนก็เข้ามาคุย พูโลเก่า พูโลใหม่ เบอร์ซาตู คาดว่าบีอาร์เอ็นจะดึงกลุ่มอื่่นมาร่วมตั้งแต่วันที่ 28 มี.ค.นี้เลย โจทย์ใหญ่ที่สุดคือลดความรุนแรง ถ้าลดได้ ต่อไปเกิดเหตุขึ้นอีกก็จะชี้ได้ว่ากลุ่มไหนทำ เช่น กลุ่มมูจาฮีดีนที่ยังมีอยู่
O เงื่อนไขในขั้นตอนการเจรจาจะไปถึงไหน เขตปกครองพิเศษหรือเปล่า?
กระบวนการบริหารจัดการพื้นที่มีหลายแบบ ต้องสอบถามกันว่ารูปแบบไหนที่เหมาะสมกับท้องถิ่นมากที่สุด เมื่อข้อเท็จจริงต่างๆ ปรากฏเป็นระยะ มีการพูดคุยกันไปเรื่อยๆ รูปแบบจะออกมาเอง เพราะเมื่อองค์กรนำทางความคิดสื่อถึงกองกำลัง ต่อไปฝ่ายกองกำลังก็ต้องมา
พวกอายุ 20 กว่าๆ คิดแต่จะแยกดินแดนอย่างเดียวก็ยังมีอยู่ แต่เมื่อได้รับสัญญาณจากองค์กรนำ จากระดับผู้อาวุโสก็ต้องเริ่มคิด อาจจะฮึดต่อได้ แต่การส่งกำลังบำรุงจำกัด พื้นที่เคลื่อนไหวจำกัด ผู้อาวุโสก็จะบอกว่าอั๊วเคยรบแบบนี้มาก่อน ก็เหมือนพวกลื้อตอนนี้ แต่ก็ยังไม่สำเร็จ แล้วตอนนี้หนีไปมาเลย์ไม่ได้ ก่อเหตุรุนแรงโดนชาวบ้านก็เสียมวลชนอีก แล้วจะทำไปเพื่ออะไร
O คิดว่าใช้เวลาเท่าไรจึงจะเกิดสันติภาพ?
สัญญาณจะดีตั้งแต่ปีนี้ไป แต่เรื่องของอุดมการณ์มันต้องใช้เวลานาน เพียงแต่ผมเชื่อว่าของเราไม่ถึงขั้นเหมือนกับของหลายๆ ประเทศ คงไม่นานถึง 40-50 ปี เพราะอาเซียนจะบังคับวิถี ประกอบกับลักษณะนิสัยของคนไทยคือผ่อนปรน ให้อภัย ก็น่าจะไปได้เร็วกว่า
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร (จากแฟ้มภาพอิศรา)
หมายเหตุ : บางส่วนของบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันอาทิตย์ที่ 10 มี.ค.2556 ด้วย