‘ตามรอยข้าวเน่า เข้าปากคนไทย’ – กินข้าวค้างสต็อกรบ.ไทยเสี่ยงมะเร็ง
นพ.บรรจบ ชุณหสวัสดิกุล ผอ.ศูนย์ธรรมชาติบำบัดบัลวี ชำแหละเส้นทางข้าวค้างสต็อกโครงการรับจำนำ'เน่า' ผ่านเฟสบุ๊คส ‘Banchob Junha’ ห่วงคนไทยกินข้าวขึ้นรา-เสี่ยงโรคมะเร็ง
เมื่อสัปดาห์ก่อนผมพบกับผู้รักสุขภาพรายหนึ่ง เขามาบ่นกับผมว่า “คุณหมอรู้มั้ยเมื่อวานนี้ผมไปออกกำลังกายแล้วก็ชวนเพื่อนๆจะกินข้าวที่ร้านแห่งหนึ่ง พอเขาเอาข้าวมาเสิร์ฟ เปิดฝาหม้อออกมาผมก็ได้กลิ่นเหม็นตระหลบไปหมด ผมรีบไปขอดูว่าร้านนี้เขาเอาข้าวจากที่ไหนมาหุงให้ลูกค้ากิน พอไปดูก็เห็นตำตาจริงๆด้วย เป็นข้าวถุงที่ขายถูกๆของรัฐบาลนั่นเอง ผมนึกได้ทันที กลิ่นนี้เป็นกลิ่นเชื้อรานั่นเอง ผมรีบบอกเพื่อนๆว่าพากันกลับไปกินข้าวที่บ้านดีกว่า”
“ทำไมเถ้าแก่ถึงได้จมูกไวนัก” ผมถาม
“ก็ผมค้าข้าวมา 30 กว่าปี ทำไมผมจะไม่รู้ กลิ่นเชื้อราในข้าว หลอกคนอื่นได้แต่หลอกผมไม่ได้หรอก” ที่แท้ผู้รักสุขภาพรายนี้ท่านเป็นเจ้าของกิจการค้าข้าว บริษัทของเขาเคยส่งออกข้าวขายให้ต่างประเทศปีละไม่น้อย
“คุณหมอครับ พูดก็พูดเถอะ ปีนี้สถานการณ์ร้ายแรงที่สุดตั้งแต่ผมทำการค้ามา เพราะนโยบายจำนำข้าวของรัฐบาลนี่แหละ กิจการค้าข้าวขาดทุนกันป่นปี้ หมอรู้มั้ยครับเมื่อปีที่แล้วบริษัทของผมจำใจต้องไปประมูลข้าวเพื่อจะส่งไปนอก พอประมูลได้ก็ต้องจ่ายเงินสดๆให้กับรัฐบาล โดยเรายังไม่ได้เห็นสินค้าเลยนะ เขาให้ไปเอาสินค้าจากโกดังที่นครสวรรค์ บ้าง จังหวัดนั้นบ้าง พอไปถึงเปิดโกดังออกมา แทบจะล้มทั้งยืน เป็นข้าวขึ้นราทั้งนั้น เพราะรัฐบาลจะบอกว่า รับสินค้าตามสภาพ สภาพที่เขาว่าก็คือขึ้นรา เป็นอันว่าขาดทุนป่นปี้ทั้ง 5,000 ตันที่ประมูลนั้น ส่งออกไม่ได้ก็ต้องหาทางขายออกไปทางอื่น”
ผมแซะถามว่าขายไปทางไหน แต่เถ้าแก่แกล้งไม่ตอบคำถามซะอย่างนั้นแหละ เหมือนเป็นที่รู้กัน
“ปีนี้ลูกชายของผมต้องไปหาซื้อข้าวที่เมืองลาว เพราะเรามีสัญญาส่งออกไปเป็นสิบประเทศ แต่ข้าวเมืองไทยใช้ไม่ได้ ผมก็จำยอมต้องไปซื้อข้าวเมืองลาวส่งให้กับลูกค้า”
นี่แหละครับ เรื่องจริงเสียงจริงของโครงการจำนำข้าว ที่รัฐบาลเพื่อไทยกำลังผลาญไทยอยู่ ความจริงทางวิชาการก็มีอยู่ว่าข้าวที่ขึ้นรานั้น จะอุดมด้วยอะฟลาท็อกซิน พิษจากเชื้อราซึ่งก่อมะเร็งตับและอาจเป็นมะเร็งที่อวัยวะอื่นได้อีกด้วย เนื่องจากผมทำงานด้านสุขภาพประเด็นนี้จึงกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ผม พยายาม “ตามรอยข้าวเน่า เข้าปากคนไทย” เพื่อส่งข่าวให้ผู้รักสุขภาพชาวไทยทั่วประเทศ สุดท้ายผมก็พอจะเข้าใจเส้นทางข้าวเน่า ดังต่อไปนี้คือ:
1.ปัญหาเริ่มต้นจากนโยบายประชานิยม โดยรัฐบาลประกาศนโยบายจำนำข้าว ตั้งราคารับซื้อข้าวเปลือกถึงตันละ 15,000 บาท/เกวียน เป็นราคาต้นทุนที่สูงกว่าตลาดต่างประเทศมาก เมื่อรวมค่าใช้จ่ายต่างๆ และเบี้ยบ้ายรายทาง ต้นทุนของข้าวรัฐบาลก็ตกประมาณ 22,000 บาท/เกวียน
2.เมื่อรัฐครอบครองข้าวทั่วประเทศมาอยู่ในกำมือ ก็ต้องหาที่เก็บ จึงประกาศเช่าโกดังข้าวตามจังหวัดต่างๆ โกดังเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่ได้มาตรฐานสากล เช่นว่าจะต้องมีพัดลมดูดอากาศ ช่องระบายความชื้น และอื่นๆ แต่สมัยที่ข้าวซื้อมาขายไปได้คล่อง จะไม่มีการหมักหมมข้าวไว้นานๆ ปัญหาจึงยังไม่ปรากฏ แต่เมื่อมาเจอราคาข้าวที่สูงกว่าตลาดโลก ข้าวจึงขายไม่ออก เกิดการหมักหมมข้ามเดือน ข้ามปี ดังนั้นข้าวในโกดังรับผิดชอบของรัฐบาลก็เริ่มเกิดเชื้อรา เกิดอาการเน่าเสีย
3.สภาพเช่นนี้รัฐบาลต้องเร่งหาทางกำจัดออก จึงออกจึงดำเนินการจัดจ้างให้บริษัทผู้ค้าข้าวต่างๆให้นำข้าวเชื้อราไปปรับปรุงคุณภาพ (คือนำข้าวสารมาผ่านกระบวนการทำความสะอาด)แล้วบรรจุถุง ขายระบายออกไปในนามของ “ข้าวธงฟ้า” “ข้าวถูกใจ” และข้าวช่วยเหลือเมื่อเกิดภัยพิบัติ บ้าง เพื่อใช้ปากท้องของประชาชนระดับล่างช่วยบริโภคข้าวเชื้อราเหล่านั้นไป ต้องรู้อย่างหนึ่งว่า กระบวนการทำความสะอาดไม่สามารถจะขจัดสารพิษอะฟลาได้ เพียงทำให้ข้าวดูดีขึ้นเท่านั้น นี่เป็นเส้นทางที่หนึ่ง ซึ่งคนไทยผู้บริโภคต้องรับสารพิษจากเชื้อราเพราะการระบายข้าวเน่าของรัฐบาล
4.ข้าวที่ล้นอยู่ในโกดังยังคงเน่าต่อไป รัฐบาลจึงเปิดประมูลเป็นครั้งคราวให้ผู้ค้าข้าวทั้งที่ส่งออกและทั้งที่ค้าขายภายในประเทศประมูลออกไป ผู้ประมูลต้องใช้ความสามารถสุดท้ายปัญญาของแต่ละบริษัท เช่นสืบเสาะที่ไปที่มาของข้าวแต่ละโกดังที่จะประมูลว่า ใหม่หรือเก่า โกดังอยู่ในสภาพดีหรือไม่ดี อาจมีการขอข้อมูลจากฝ่ายตรวจสอบคุณภาพข้าว ซึ่งถือว่าเป็นตัวแทนของรัฐบาลในการดูแลคุณภาพในโกดัง แต่ก็เป็นที่รู้กันว่า ฝ่ายตรวจสอบในแต่ละพื้นที่มีโอกาส “รู้กัน” กับเจ้าของโกดัง หลายๆโกดังก็จัดการ “ล้อมกอง” ข้าวในโกดัง กล่าวคือ เอาข้าวเน่ากองไว้ตรงกลางโกดัง ข้าวคุณภาพดีเรียงไว้ด้านนอกๆ เวลาตรวจสินค้า เพียงแต่แทงกระสอบข้าวนอกๆมาตรวจก็สามารถให้ใบรับรองว่าข้าวอยู่ในสภาพดี แต่ที่แท้แล้วข้างในเป็นข้าวเน่า กระบวนการล้อมกองนี้อาจเป็นที่รู้กันระหว่างโกดังข้าวกับพนักงานตรวจ ซึ่งแต่งตั้งโดยรัฐบาล
5.ผู้ส่งออกเมื่อซื้อข้าวจากโกดังของรัฐบาล จะเจอปัญหา 2 ประการ หนึ่งคือ ข้าวไม่ได้คุณภาพ มีเชื้อรา ส่งออกไม่ได้ สองคือ ราคาข้าวต้นทุนสูงกว่าที่จะส่งต่างประเทศได้ จึงได้แต่นำข้าวเหล่านั้นระบายออกไป 2 ทาง หนึ่งคือ สีเป็นข้าวบรรจุถุง ปนเปกันไประหว่างข้าวดีและข้าวเน่า ส่งขายตามซูเปอร์มาร์เกต ข้าวเหล่านี้จะเข้าปากผู้บริโภคระดับกลาง นี่เป็นเส้นทางเส้นที่สองของการกินข้าวเชื้อรา ถึงแม้ผู้บริโภคจะไม่ได้ซื้อข้าวธงฟ้าหรือข้าวถูกใจ แต่กินข้าวถุงตามซูเปอร์ฯ ก็มีสิทธิ์กินเชื้อราเข้าไปเหมือนกัน ส่วนทางออกอีกประการหนึ่งของผู้ค้าข้าวเมื่อได้ข้าวเชื้อรามาก็ต้องหาทาง เวียนเทียนขายข้าวเชื้อรานั้นกลับไปให้โรงสี
6.ฝ่ายโรงสี จะมีจังหวัดละหลายสิบโรงที่เข้าสังกัดกับรัฐบาล เพื่อเป็นโรงสีที่รับซื้อข้าวจากชาวนาและแปรสภาพ คือสีเป็นข้าวสารส่งเข้าโกดังของรัฐบาลไป แน่นอนว่า เพื่อที่จะเข้าไปมีส่วนได้เสียในโครงการจำนำข้าวนี้ แต่ละโรงสี รวมไปถึงแต่ละโกดัง ก็ต้องดิ้นรนใช้ “ทุกๆปัจจัย” เพื่อให้ตัวเองเข้าสังกัดเพื่อเข้าสู่วงจรของการค้าข้าวที่มีรัฐบาลเป็นเถ้าแก่ใหญ่ของวงการนี้
7.โรงสีจะเปิดรับจำนำข้าวจากชาวนา แน่นอนว่า จะต้องกดราคาให้ต่ำลงไป โดยอ้างเปอร์เซนต์ความชื้นบ้าง หรือคุณภาพอื่นร้อยแปดพันเก้า สุดท้ายชาวนาก็อาจจะขายไปได้ในราคา 9,000 – 12,000 บาท/เกวียน โรงสีออกใบรับให้ ชาวนายังไม่ได้เห็นเงินทันที ซึ่งก็มีบางรายที่โกงกันไปบ้าง ชาวนาขายได้ก็รีบไปปลูกข้าวรุ่นต่อไป ผลปรากฏว่า ชาวนาภาคกลางซึ่งน้ำดี สามารถปลูกข้าวนาปรังปีละหลายครั้ง ในปัจจุบันนี้จะไม่รอให้ข้าวสุกเต็มที่ซึ่งกินเวลาประมาณ 120 วันดังแต่ก่อน แต่พอข้าวมีอายุ 90 วันก็เกี่ยวแล้วส่งขายทันที เพราะโครงการจำนำข้าววัดกันที่ปริมาณ ไม่ได้วัดที่คุณภาพข้าวกันอีกแล้ว ผลก็คือ ข้าวไม่สุกดี ความชื้นสูง เมื่อสีเป็นข้าวสารก็อมความชื้นสูง ยิ่งเปิดโอกาสให้ขึ้นราได้ง่ายขึ้นอีก
8.โรงสีรับจำนำข้าวชาวนาในราคาต่ำ แล้วไปขายต่อแก่รัฐบาลในราคา 15,000 บาท/เกวียน เป็นอันได้กำไรต่อที่หนึ่ง ทีนี้เมื่อได้ข้าวที่ขายมาใหม่ๆจากชาวนา ได้เงินจากรัฐบาลแล้ว โรงสีก็จะพิจารณาว่าข้าวที่ได้มาใหม่จะขายไปทางไหน ถ้าส่งออกได้ก็ส่งออกในรูปของข้าวนึ่ง ซึ่งเน้นขายให้กลุ่มประเทศอาหรับ เป็นข้าวคุณภาพดี ในเวลาเดียวกันก็เปลี่ยนเอาข้าวเน่าซึ่งเป็นข้าวเวียนเทียนที่รับซื้อมาจากบริษัทผู้ค้าข้าว เอาข้าวส่วนนี้ส่งให้กับรัฐบาลในนามของข้าวรับจำนำล็อตใหม่ โดยที่แท้แล้วเป็นข้าวล็อตเก่าที่เวียนเทียนกลับไป
9.เมื่อข้าวเวียนเทียนหมุนกลับเป็นข้าวรัฐบาล รัฐบาลก็เปิดประมูลอีกให้ผู้ค้าข้าวซื้อเอาไป ผู้ค้าข้าวซื้อมา ขายต่างประเทศไม่ได้ ก็ได้แต่บรรจุใส่ถุงขายเข้าซูเปอร์มาร์เกต รอให้คนไทยบริโภคกันไป เป็นอันว่า ด้วยนโยบายจำนำข้าวนี้ ข้าวใหม่มีโอกาสส่งออกได้น้อยเต็มที เพราะสู้ราคาต่างประเทศไม่ได้ นอกจากจะยอมขายขาดทุน ดังที่รัฐบาลเพิ่งจะมายอมรับ แต่แท้ที่จริงแอบขายขาดทุนมานานแล้ว เพื่อระบายออกเท่าที่จะได้ ส่วนข้าวที่ค้างสต็อกขายไม่ทันก็เน่าเพิ่มขึ้นทุกที รอให้ถูกเวียนเทียนแล้วกลายเป็นข้าวถุง รอให้คนไทยช่วยกันบริโภคจนกว่าจะหมด ทุกวันนี้คนไทยจึงไม่มีโอกาสกินข้าวใหม่ ต้องอ้าปากคอยกินข้าวเชื้อราจากข้าว รุ่นแล้วรุ่นเล่าไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเป็นมะเร็งตายกันไปข้างหนึ่ง
10.คนไทยยังมีโอกาสรับเชื้อก่อมะเร็งทางอ้อมอีกทางหนึ่ง กล่าวคือ ทุกขั้นตอนของการแปรสภาพข้าวและปรับปรุงคุณภาพข้าว จะมีปลายข้าว รำข้าว ฝุ่นข้าว ซึ่งล้วนไม่สูญเปล่าทั้งนั้น เพราะจะมีเล้าหมู เล้าไก่ บ่อเลี้ยงปลา มารับซื้อเอาไปเลี้ยงหมู ไก่ ปลา ในเมื่อผลิตภัณฑ์เหล่านี้ล้วนอุดมด้วยพิษอะฟลา ผลก็คือ ปศุสัตว์รุ่นต่อๆไปนับจากนี้ก็จะมีสารก่อมะเร็งแฝงอยู่ในเนื้อของสัตว์เหล่านี้ ดังข้อมูลจากสถาบันสุขภาพแห่งชาติอเมริกาเปิดเผยไว้แล้วว่า สารก่อมะเร็งอะฟลาท็อกซินB1ในข้าว จะถูกเปลี่ยนเป็นอะฟลาท็อกซิน M1 ในเนื้อสัตว์รอที่จะก่อมะเร็งให้กับคนที่กินเนื้อสัตว์เหล่านี้ต่อไป นี่เป็นเส้นทางที่สามที่ก่อมะเร็งให้กับคนไทยต่อไป
11.ข้าวที่เอาอกมาระบายเป็นข้าวตั้งแต่ปี 48/49 ปี 54/55 และปี 55/56 เชื้อรามีมากน้อยตามระยะเวลาของข้าวที่ตกค้าง
ดังนั้นเมื่อพูดถึงปัญหาข้าวเน่า บางคนอาจคิดว่า นโยบายนั้นถูกต้องเพื่อให้ชาวนาได้ประโยชน์ แต่คนที่ทำผิดคือเจ้าของโกดังข้าวที่ดูแลไม่ดี คือโรงสีที่สับเปลี่ยนข้าว คือผู้ค้าข้าวที่มีนำข้าวมาเวียนเทียน แต่แท้ที่จริงแล้ว เหนือสิ่งอื่นใดปัญหาใหญ่สุดที่เกิดขึ้นคือการกำหนดนโยบายจำนำข้าวเพื่อประชานิยม โดยกำหนดราคาสูงกว่าตลาดโลกมาก จนเกิดภาวะที่ระบายข้าวไม่ออก เป็นความผิดระดับต้นทางของปัญหาทั้งหมด เช่นเดียวกับนโยบายประชานิยมอื่นๆของรัฐบาลเพื่อไทยผลาญไทยนั่นเอง