‘ธีระชัย’ ค้านออกกม.กู้เงิน 2.2 ล้านล้าน ชี้ไม่ใช่เรื่องฉุกเฉิน ต้องเลี่ยงขั้นตอนงบประมาณ
อดีตรมว.คลัง ชี้กู้เงินเพื่อการลงทุน "ลอตใหญ่" 2.2 ล้านล้าน อยู่นอกงบประมาณ เสี่ยงหละหลวม พิจารณาโครงการไม่รอบคอบ แนะอนาคตแก้ รธน.ตีกรอบเรื่องลงทุนหลักที่เป็นยุทธศาสตร์ชาติ ให้ทำในกรอบงบประมาณเท่านั้น
วันที่ 10 มีนาคม นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความผ่านเฟชบุค แสดงความเห็นกรณีที่รัฐบาลจะออก พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ด้านคมนาคมขนส่งวงเงิน 2.2 ล้านล้านบาท โดยแสดงความไม่เห็นด้วยกับวิธีการออกกฎหมายเพื่อให้อยู่นอกงบประมาณ เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดช่องทางที่รัฐบาลจะใช้เงินไว้ดีแล้ว โดยให้ทำผ่านกระบวนการงบประมาณ ซึ่งมีทั้งงบประจำ และงบลงทุน โดยจะผูกพันงบข้ามไปกี่ปีก็ได้
สำหรับขั้นตอนการตั้งงบลงทุนในงบประมาณนั้น อดีตรมว.คลัง กล่าวว่า เริ่มที่กระทรวงที่จะเสนอโครงการ แล้วส่งให้สภาพัฒน์ พิจารณาในแง่ความคุ้มค่าของโครงการ ซึ่งจะพิจารณากันตามลำดับชั้น เริ่มจากระดับเจ้าหน้าที่ ทำการศึกษาละเอียด แล้วจึงกลั่นกรองเสนอผู้บังคับบัญชา จึงมีความรอบคอบ เมื่อผ่านสภาพัฒน์แล้ว สำนักงบประมาณก็จะพิจารณาในแง่งบประมาณอีกชั้นหนึ่ง หากเห็นว่ามีการซ่อน หรือแฝงรายการที่แปลกปลอมเข้ามา ก็จะท้วงติงตัดออกไป ขั้นตอนการพิจารณาก็จะทำจากระดับเจ้าหน้าที่ มีการศึกษาละเอียดเช่นเดียวกับสภาพัฒน์ จึงมีการพิจารณาโดยสองหน่วยงานนี้อย่างรอบคอบ จากระดับเจ้าหน้าที่ขึ้นตามลำดับชั้น
“แต่กรณีนอกงบประมาณนั้น การดำเนินงานที่ผ่านมา ทั้งกรณีรัฐบาลก่อนและรัฐบาลนี้ ล้วนใช้วิธีตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจขึ้นมา เพื่อกลั่นกรองนำเสนอคณะรัฐมนตรี โดยไม่ผ่านสองหน่วยงานหลักดังกล่าว” นายธีระชัย กล่าว และว่า ถึงแม้คณะกรรมการเฉพาะกิจดังกล่าว จะมีผู้บริหารระดับสูงของสภาพัฒน์กับสำนักงบประมาณ นั่งเป็นกรรมการร่วมอยู่ด้วยก็ตาม แต่การพิจารณาเรื่อง ที่เสนอให้ตัดสินใจในที่ประชุม ย่อมไม่สามารถมีการพิจารณาให้รอบคอบถี่ถ้วน ได้ดีเท่ากับการทำงานตามลำดับชั้นในแต่ละองค์กร
การพิจารณานอกกระบวนการงบประมาณ ด้วยขบวนการที่ลดขั้นตอนนั้น นายธีระชัย กล่าวว่า ทำให้การอนุมัติโครงการทำได้เร็วขึ้นก็จริง แต่มีความเสี่ยงต่อการหละหลวมมากขึ้น เพราะเดิมแต่ละองค์กรต้องรับผิดชอบการพิจารณา ให้ครบถ้วนสมบูรณ์แบบเต็มๆ เปลี่ยนเป็นรับผิดชอบกันเป็นคณะ
“ หากเป็นเรื่องเร่งด่วนฉุกเฉิน ก็อาจจะพอรับได้ แต่การลงทุน 2.2 ล้านล้านบาท ไม่ใช่เรื่องฉุกเฉิน จึงไม่มีเหตุผลที่จะหลบเลี่ยงกระบวนการงบประมาณแต่อย่างใด เรื่องนี้ ผมเห็นว่าในอนาคต ควรมีการพิจารณาความเหมาะสม ที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อตีกรอบให้สามารถกู้นอกระบบงบประมาณได้ เฉพาะเรื่องเร่งด่วน ด้วยวิธีออกเป็นพระราชกำหนดเท่านั้น ส่วนเรื่องลงทุนหลักที่เป็นยุทธศาสตร์ชาตินั้น ควรให้ทำในกรอบงบประมาณเท่านั้น”
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวตอนหนึ่งในพิธีเปิดนิทรรศการ “THAILAND 2020 ก้าวใหม่เชื่อมไทยสู่โลก” เพื่อสร้างความเข้าใจกับประชาชนและนักลงทุนเกี่ยวกับรายละเอียดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศ ตามร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศวงเงิน 2 ล้านล้านบาท ว่า การดำเนินการดังกล่าวถือเป็นการเปลี่ยนโฉมหน้าระบบเศรษฐกิจของประเทศที่ลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ และลดการสูญเสียพลังงานทางด้านเชื้อเพลิง ซึ่งจะทำความเจริญเติบโตขยายไปยังเมืองต่าง ๆ และสามารถทำให้ประชาชนเดินทางสัญจรไปมาได้สะดวกรวดเร็วและปลอดภัยมากขึ้น