ฟังคนมาเลย์พูดถึงไฟใต้และข้อตกลงสันติภาพ
หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า ฝ่ายที่ดูจะได้ประโยชน์จากการลงนามริเริ่มกระบวนการพูดคุยระหว่างเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ของไทย กับแกนนำขบวนการบีอาร์เอ็น เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 28 ก.พ.2556 ดูจะเป็นมาเลเซียในฐานะ "ผู้อำนวยความสะดวกให้เกิดการพูดคุย" มากกว่าไทยในฐานะเจ้าของปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ตัวจริงเสียอีก
เพราะต้องไม่ลืมว่า นายนาจิบ ราซัก นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย หยิบเรื่องนี้ขึ้นมาแถลงด้วยตนเองภายหลังหารือทวิภาคีกับ นายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ของไทย (ในความตกลงเรื่องอื่น) ขณะที่หนังสือพิมพ์มาเลย์ฉบับเช้าวันรุ่งขึ้นก็พร้อมใจพาดหัวเรื่องลงนามสันติภาพกันแทบทุกฉบับ ตีพิมพ์รูปใหญ่โตพรักพร้อม เรียกว่าเสนอเป็นข่าวใหญ่มากกว่าหนังสือพิมพ์ไทยบางฉบับด้วยซ้ำ
คนที่เดินทางไปมาเลเซียหลังจากนั้น 4-5 วัน ยังเห็นโทรทัศน์มาเลย์ออกอากาศเรื่องนี้ซ้ำไปซ้ำมาอยู่เลย...
"ทีมข่าวอิศรา" มีโอกาสเดินทางลงพื้นที่กัวลาลัมเปอร์ เมืองหลวงของมาเลเซีย และได้พูดคุยกับคนมาเลย์เดินถนนทั่วไปเพื่อวัดปรอทความสนใจเกี่ยวกับ "กระบวนการพูดคุยสันติภาพ" เพื่อดับไฟความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย โดยที่มาเลเซียเป็นผู้อำนวยให้เกิดการพูดคุย
เสียงสะท้อนจากคนมาเลย์นับว่าน่าสนใจ เพราะบางส่วนนอกจากจะทำให้เห็นว่ามาเลเซียให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขนาดไหนแล้ว ยังสะท้อนมุมมองของคนมาเลย์ที่มีต่อปัญหาชายแดนใต้ของไทยอย่างตรงไปตรงมาด้วย
ระดับรัฐบาลเล่นเอง
นายมูฮำหมัด อานีฟ เบ็ญมูฮำเหม็ด พนักงานร้านพิซซ่าในกัวลาลัมเปอร์ บอกว่า เป็นเรื่องดีถ้าทั้งสองฝั่ง (มาเลย์กับไทย) จะช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะครั้งนี้ที่ระดับรัฐบาล (มาเลย์) ลงมาเล่นเอง เพราะไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือมาเลเซียก็เป็นเนื้อเดียวกัน เป็นเพื่อนบ้านใกล้ชิดติดกัน การแก้ปัญหาความขัดแย้งเพื่อนำไปสู่ความสงบสุขของพี่น้องประชาชนจะทำให้สองประเทศอยู่ร่วมกันได้ดียิ่งขึ้น
"ที่ผ่านมาเคยได้รับข่าวสารบ้างว่าที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยมีปัญหาการสู้รบกัน พี่น้องทางโน้นต้องอาศัยอยู่อย่างไม่มีความสุข แต่หลังจากที่มีการลงนามในข้อตกลงร่วมกันน่าจะมีสิ่งดีๆ เกิดขึ้น อีกอย่างครั้งนี้ทราบว่า ดาโต๊ะนาจิบ ลงมาให้ความช่วยเหลือเอง ก็น่าจะเป็นผลดีมากกว่าที่ผ่านมา"
ตกใจนราฯปืนเยอะ
นายไพซอล ไซมุดดีน เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (รปภ.) โรงแรมเจดับบลิว แมริออต กล่าวว่า ทราบข่าวคราวมาตลอดว่า จ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาสเกิดความไม่สงบ พี่น้องที่อยู่ในพื้นที่นั้นต้องอยู่อย่างไม่มีความสุข เพราะมีการสู้รบกัน ที่ผ่านมาก็กลัวว่าปัญหาจากฝั่งโน้นจะมาเกิดที่มาเลเซียด้วย ฉะนั้นจึงเป็นเรื่องดีถ้าทั้งสองฝ่าย (ไทยกับมาเลย์) จะร่วมมือกัน เพราะอย่างไรเสียพี่น้องจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยก็เหมือนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับพี่น้องมาเลเซีย
"ทุกวันนี้มาเลเซียไม่มีเหตุร้าย ทุกคนอยู่ด้วยความสงบสุข แม้จะต่างศาสนา ต่างภาษา แต่ก็อยู่ร่วมกันได้ ที่มาเลเซียมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม แต่ทำงานองค์กรเดียวกันได้ ไม่แบ่งแยก จึงรู้สึกสงสัยว่าทำไมที่สามจังหวัดภาคใต้ของไทยจึงเกิดปัญหาอยู่ร่วมกันไม่ได้ เกิดการสู้รบ เกิดเหตุระเบิด เหตุยิง ฆ่ากันตายทุกวัน คนทุกกลุ่มตกเป็นเป้าหมาย"
"หลายครั้งที่ผมได้ไปเทียว จ.นราธิวาส ครั้งแรกที่ไปรู้สึกตกใจมากที่เห็นเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ถือปืนกระบอกใหญ่เต็มไปหมด แม้แต่ในเมืองทุกซอกทุกมุมเยอะมาก ที่ผมตกใจเพราะตั้งแต่เด็กจนโตไม่เคยเห็นปืนของจริงเลย อยู่ที่ประเทศมาเซียได้ดูปืนก็จากในทีวีเท่านั้น พอไปเห็นของจริงที่ประเทศไทยจึงรู้สึกตกใจ แถมยังมีเยอะเสียด้วย รู้สึกกลัวมาก แต่เมื่อคิดอีกมุมหนึ่งถ้าเจ้าหน้าที่ออกจากพื้นที่ไปหมด ฝ่ายที่ใช้ความรุนแรงก็จะมายิงมาทำร้ายคนอีก"
ทำไมไทยฆ่ากันเอง
เขายังตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดคนไทยถึงต้องต่อสู้ฆ่าฟันกันเอง เพราะหากเทียบกับปัญหาอิสราแอลกับปาเลสไตน์ เป็นปัญหาของคนนอกประเทศ ไม่ใช่คนในประเทศรบกันเอง อย่างไรก็ดี เท่าที่ทราบฝ่ายที่มีความคิดต่างจากรัฐรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงต้องใช้ความรุนแรงเพื่อเรียกร้องความสนใจ
"เคยมีคนที่มีความสัมพันธ์กับพี่น้องในปัตตานีได้เล่าให้ฟังถึงประวัติศาสตร์ของสามจังหวัดคร่าวๆ ว่าคนที่โน่นถูกกดขี่ ไม่ได้รับความเป็นธรรมในหลายๆ เรื่อง ทำให้ต้องหันมาต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม แต่กลับไม่มีใครสนใจ และยังถูกมองว่าคนมุสลิมปัตตานีต่อต้านอำนาจรัฐ พอปัญหายิ่งนานก็ดูเหมือนจะยิ่งบานปลาย ช่วงหลังๆ รู้สึกว่าการต่อสู้ของพวกเขาเปลี่ยนแปลงไป ฝ่ายที่ไม่ใช่รัฐมีเยอะ ไม่ใช่กลุ่มเดียวเหมือนในอดีต เลยยิ่งทำให้คนนอกอย่างเรายิ่งไม่เข้าใจ และสงสัยว่ารัฐบาลไทยทำไมไม่ปฏิบัติกับประชาชนมุสลิมที่เป็นคนไทยให้เหมือนกันกับกลุ่มอื่นๆ"
อย่าแฝงการเมือง
นายมานีส ชาวฮินดู (ขอสงวนนามสกุล) กล่าวว่า คิดว่าเป็นเรื่องดีถ้าทั้งสองฝ่าย (ไทยกับมาเลย์) จับมือกันจริงๆ โดยที่ไม่มีอะไรแอบแฝง โดยเฉพาะประเด็นทางการเมือง เพราะถ้าทำเพื่อการเมือง...แน่นอนว่าประชาชนจะไม่ได้อะไร แต่ถ้าทำเพื่อความสงบสุขของบ้านเมือง ของประชาชน ทุกอย่างก็จะเกิดผลดี ปัญหาที่ประเทศไทยก็จะจบ คนมาเลเซียก็ไปมาได้สะดวกขึ้น ทำธุรกิจอะไรก็ง่าย ยิ่งเรากำลังจะเดินหน้าเข้าสู่ประชาคมอาเซียนด้วย จึงยิ่งดีกับทั้งสองฝ่าย
ขณะที่หญิงวัย 28 ปีคนหนึ่ง บอกว่า อยู่ทางนี้ (มาเลย์) ได้รับข่าวสารจากสื่อต่างๆ มาตลอด โดยเฉพาะจากเฟสบุ๊คและทวิตเตอร์ว่า คนที่โน่น (สามจังหวัดชายแดนภาคใต้) ถูกทำร้าย ไม่ได้รับความเป็นธรรม แต่เมื่อเกิดความร่วมมือกันระหว่างไทยกับมาเลเซีย สถานการณ์ก็น่าจะดีขึ้น
ไม่รู้จัก "ฮัสซัน"
ด้านโชเฟอร์แท็กซี่ชาวมาเลเซีย กล่าวว่า เห็นด้วยที่มีการพูดคุย และเชื่อว่าเป็นเวทีพูดคุยที่เฝ้าจับตากันทั่วโลก
"ผมไม่รู้จักว่า นายฮัสซัน ตอยิบ เป็นใคร (บุคคลที่อ้างว่าเป็นแกนนำขบวนการบีอาร์เอ็น และลงนามร่วมกับเลขาธิการ สมช.ของไทย) ไม่เคยเห็นหน้า และไม่เคยรู้จักมาก่อน แต่ก็น่าเห็นใจการเคลื่อนไหวของฝ่ายที่เห็นต่างจากรัฐ เพราะเขาถูกกระทำมาเยอะ ยังสงสัยว่าทำไมรัฐบาลไทยจึงไม่สามารถปกครองเขาได้ ทั้งที่ปัญหามีนิดเดียว แต่พอปล่อยไปนานๆ จากปัญหานิดเดียวก็เริ่มบานปลาย จากแค่ลุกขึ้นสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม กลายเป็นเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา กลายเป็นปัญหาของคนมุสลิมที่ต่อต้านอำนาจรัฐไทย"
"ถ้ามองเผินๆ ก็เหมือนกับว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ คนปัตตานีเป็นฝ่ายผิด เพราะจับอาวุธต่อสู้กับรัฐ แต่ถ้ามองย้อนกลับไป ต้องหาสาเหตุว่าเพราะอะไรที่ทำให้เขาต้องลุกขึ้นมาต่อสู้ ก็จะพบว่ารัฐไทยทำไม่ถูก ฉะนั้นรัฐไทยควรพูดคุยเพื่อแก้ปัญหา ปฏิบัติต่อคนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมกัน มาเลย์เองก็มีคนหลายเชื้อชาติมาอยู่ แต่สามารถทำมาหากินร่วมกันได้ ส่วนไทยมีไม่กี่ศาสนา ทำไมจึงปกครองไม่ได้ สิ่งสำคัญคือรัฐบาลไทยต้องมีความจริงใจ ต้องแก้ปัญหาจริง ไม่ใช่ไปหลอกเขาอย่างที่ทำมาในอดีต"
"ในส่วนของคนสามจังหวัดก็ควรหันมาคุยกับรัฐ เมื่อรัฐบาลเปิดโอกาสอย่างจริงจังแล้วก็ควรบอกให้รัฐรู้ว่าต้องการอะไร ปัญหาอยู่ตรงไหน และรัฐต้องจัดการอย่างไร อย่าไปใช้ความรุนแรง เพราะการใช้ความรุนแรงจะทำให้เกิดความสูญเสียทั้งสองฝ่าย ไม่มีอะไรดีขึ้นมาเลย" โชเฟอร์แท็กซี่กล่าวทิ้งท้าย