แฉ!รพ.เอกชนยัดใต้โต๊ะให้นำคนเจ็บส่ง หวังเงินพ.ร.บ.บุคคลที่ 3 หมื่นห้า
เวทีประชุมวิชาการแพทย์ฉุกเฉินระดับชาติ “นพ.ไพบูลย์” เปิดข้อมูลรพ.เอกชนบางแห่งจ่ายใต้โต๊ะนำคนเจ็บส่งรพ.ของตนหวังได้เงินอุดหนุนจากกองทุนคุ้มครองผู้ประสบภัย ด้านตัวแทนมูลนิธิร่วมกตัญญู แฉรถตู้เถื่อนไม่ได้มาตรฐานออกรับคนเจ็บเสี่ยงเสียชีวิต
สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ร่วมกับ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ จัดการประชุมวิชาการการแพทย์ฉุกเฉินระดับชาติ ประจำปี 2556 (National EMS FORUM 2013) ภายใต้ประเด็นหลัก คือ“ภาคีการแพทย์ฉุกเฉินไทย ก้าวไกลสู่อาเซียน” โดยได้มีการเสวนาในหัวข้อ “เติมเต็มช่องว่างของการพัฒนาการแพทย์ฉุกเฉินไทย” เพื่อนำไปสู่การถอดบทเรียนและการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉิน
ศ.นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า สิ่งที่เป็นปัญหาทุกวันนี้คือเราไม่มีระบบธรรมาภิบาลในการบริหารงานโดยเฉพาะในเรื่องของการดูแลเรื่องระบบสุขภาพผู้ป่วยหลายองค์กรหลายหน่วยงานไม่มีธรรมาภิบาล กองทุนบางกองทุนที่จะต้องมาช่วยเรื่องสุขภาพของประชาชนแต่ก็ไม่ได้รับการนำเงินมาใช้อย่างเต็มที่ หรือบางครั้งโรงพยาบาลเอกชนเองยังจ่ายเงินใต้โต๊ะให้กับอาสาสมัครเพื่อให้นำคนเจ็บมาส่งที่โรงพยาบาลของตนเองเพื่อให้ตนเองได้รับเงินอุดหนุนจากกองทุนคุ้มครองผู้ประสบภัยครั้งละ 15,000 บาท
"เงินจากกองทุนตรงส่วนนี้ ไม่เคยเห็นว่าประชาชนจะได้ประโยชน์เลยแม้ แต่บาทเดียว นอกจากนี้แล้วสิ่งที่สำคัญคือสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจะต้องให้ความสำคัญในการจัดทำแผนที่ทรัพยากร เหมือนกรณีของซานติก้าผับก็จะต้องจัดทำการถอดบทเรียนและจัดทำแผนที่ว่า หากเกิดกรณีแบบซานติก้าผับขึ้นมาการเข้าไปช่วยเหลือควรเป็นในรูปแบบไหนและรพ.ใด ที่จะสามารถรับการรักษาต่อผู้ป่วยอาการเหล่านี้ได้"
เกิดเหตุ รัฐเข้าถึงการช่วยเหลือแค่20%
ด้านม.ล.กิติบดี ประวิตร ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวถึงการกู้ชีพในยุคปัจจุบันของประเทศไทยมีความก้าวหน้าพอสมควร จากข่าวในทีวี ที่เมื่อก่อนมีการดึงแขนดึงขา เพื่อช่วยเหลือคนเจ็บเดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว แต่ก้าวไกลมากกว่าเดิมแค่ไหน เป็นสิ่งที่เราต้องมาพูดคุย และหาทางการจัดการแบบบูรณาการร่วมกัน
"ภัยที่เกิดขึ้นแต่ละครั้ง ที่ผ่านจะเห็นว่า รัฐสามารถเข้าถึงการช่วยเหลือเพียง 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ที่เหลือในการเข้าถึงส่วนใหญ่จะเป็นภาคประชาชน และหน่วยกู้ภัยเป็นหลัก การที่จะพัฒนาเจ้าหน้าที่รัฐอย่างเดียว ต้องใช้งบประมาณมาก ซึ่งทางปภ.เองจึงพยายามผลักดันในการพัฒนาภาคประชาชนเป็นหลัก"
ม.ล.กิติบดี กล่าวด้วยว่า บทบาทของปภ.ในวันนี้ เป็นหน่วยงานที่เป็นตัวกลางประสานเชื่อมต่อ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ โดย สพฉ.รวมถึงหน่วยกู้ภัยอื่นๆ ได้อย่างน่าพอใจ ขณะที่การแจ้งเหตุผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ค อยู่ในความน่าพอใจ ประชาชนมีความตื่นตัวเป็นอย่างมาก แม้การเข้าถึงโซเชียลเน็ตเวิร์ค จะได้รับการตอบรับที่ดี แต่สิ่งที่เราต้องเน้นและต้องคำนึงถัดมาและต้องพัฒนา คือ การแบ่งเขตพื้นที่ในการบริการที่ต้องมีอย่างทั่วถึงไม่ ใช้เวลาไม่นาน เช่น เมื่อมีการแจ้งเหตุแล้ว จะทำให้ล้อหมุนภายใน 1 นาทีเพื่อทำการช่วยเหลือได้อย่างไร เป็นต้น
พร้อมกันนี้ ม.ล.กิติบดี เสนอโมเดล ที่อยากให้ อบจ.ในแต่ละจังหวัดมาเป็นเจ้าภาพพร้อม ทั้งตั้งสถานีรับแจ้งเหตุให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยมีอบต.เป็นผู้ดูแลควบคุมถัดมา ที่เหลือซึ่งเป็นจำนวนบุคคลากร ให้นำอาสาสมัครท้องถิ่นเข้ามาร่วม เช่นเดียวกับประเทศฮอลแลนด์ ที่ศูนย์ๆ หนึ่ง มีเจ้าหน้าที่มาประจำรับแจ้งเหตุและคอยประสานงานเพียง 2 คนเท่านั้น โดยแบ่งเป็นกะเป็นเวรมาทำงาน บุคลากรที่เหลือเป็นอาสาสมัครในท้องถิ่น ซึ่งแนวคิดเช่นนี้ เป็นสิ่งที่ต้องมาพูดคุยและผลักดันให้เป็นรูปธรรมต่อไป
ยันเกือบทุกรพ.เอกชน จ่ายใต้โต๊ะกู้ชีพ
ด้าน น.ส. สกาวรัตน์ สมสกุลรุ่งเรือง ตัวแทนจากมูลนิธิร่วมกตัญญู กล่าวถึงการทำงานของมูลนิธิได้พัฒนาไปมาก มีการจับมือสานสัมพันธ์กันมากขึ้น ด้วยเพราะ สพฉ.ได้เข้ามาช่วยเป็นหน่วยงานกลางในการลงทะเบียนสานสัมพันธ์ในการทำงานกัน ทำให้การประสานงานและการทำงานเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการทำงานในจังหวัดใกล้เคียง เมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติที่รุนแรง
กรณีประเด็นปัญหาการจ่ายซองใต้โต๊ะให้กับเจ้าหน้าที่กู้ชีพของรพ.เอกชน ตัวแทนมูลนิธิร่วมกตัญญูู กล่าวว่า พฤติกรรมแบบนี้จะทำให้คนที่มีจิตอาสา มีอุดมการณ์เปลี่ยนแปลงไป และทำให้คนที่เคยรักกันทะเลาะกันแบ่งแยกกลุ่มกัน ต้องฝากภาครัฐเข้าไปแก้ไขในเรื่องนี้ที่เรื้อรังกันมาหลายปีด้วย
"มูลนิธิพยายามรณรงค์ไม่ให้มีเรื่องเหล่านี้เกิดขึ้น เพราะจะเป็นสาเหตุที่ทำให้การช่วยเหลือประชาชนผิดพลาดแทนที่จะส่งรพ.ใกล้ที่สุด แต่กลับไปส่งรพ.อื่นที่ไปรับเงินมา จะยิ่งทำให้อัตราการเสียชีวิตของประชาชน มีมากขึ้น ซึ่งเกือบทุกโรงพยาบาลเอกชนมีการจ่ายใต้โต๊ะแทบทั้งสิ้น เราพยายามไม่อยากให้เกิดปัญหาตรงส่วนนี้แต่ปัญหานี้แก้ได้อย่างยากลำบากมาก"น.ส. สกาวรัตน์ กล่าว และว่า สำหรับประเด็นหนึ่งที่น่าเป็นห่วงคือ มีภาคเอกชนนัดรวมตัวกันออกรถตู้พยาบาลไม่ติดตราสัญลักษณ์ เข้าไปนำผู้ป่วยไปส่งต่อยังโรงพยาบาลที่ไปรับงานนอก การทำแบนนี้ถือเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย หากู้ป่วยที่ถูกส่งต่อมีชีวิตรอดปลอดภัยก็เป็นเรื่องที่ดี แต่หากเสียชีวิตใครจะมารับผิดชอบในส่วนนี้ จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยจัดการและดูแลในเรื่องนี้โดยด่วน
แพทย์ฉุกเฉินในท้องถิ่นยังมีช่องว่าง
ขณะที่นพ.กิตติศักดิ์ คณาสวัสดิ์ นายกเทศมนตรีเมืองมหาสารคาม จ.มหาสารคาม กล่าวว่า การจัดการในส่วนของการแพทย์ฉุกเฉินในท้องถิ่น ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า มักกระจุกตัวอยู่ในเขตเมืองเป็นหลัก ขณะที่เขตรอบเมืองท้องถิ่นยังครอบคลุมน้อยมาก ทั้งนี้ต้องเข้าใจว่าทั้งถิ่นเช่น อบต.มีข้อจำกัดในหลายๆเรื่อง ทั้ง งบประมาณ บุคคลากร อีกทั้งยังมีเรื่องที่ต้องทำที่ต้องพัฒนาท้องถิ่นอีกหลายเรื่อง ทำให้บางท้องถิ่นมีการมองข้ามเรื่องการแพทย์ฉุกเฉินไป อย่างเรื่องงบประมาณ อาจมีความกังวลถ้าทำไปแล้วอาจถูกตรวจสอบโดนสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)ทำการเรียกเงินคืนได้ นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับนายกฯอบต.แต่ละท้องที่ด้วยว่า ให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องนี้หรือไม่ แต่โดยรวมแล้ว ยืนยันว่าท้องถิ่นทุกแห่งยังมีความจำเป็นในการจัดการเรื่องการแพทย์ฉุกเฉิน เพราะนอกจากคนท้องถิ่นที่จะได้ประโยชน์แล้ว คนนอกพื้นที่ ที่ต้องขับรถ นั่งโดยสารไปยังท้องที่ต่างๆ ก็ยังได้ประโยชน์หากเกิดอุบัติเหตุอีกด้วย
"แม้การแพทย์ฉุกเฉินในท้องถิ่นยังมีช่องว่าง ด้วยเหตุผลในหลายๆอย่าง แต่เราสามารถดำเนินการบริหารจัดการตรงนี้อย่างเป็นระบบได้ โดยอยากเสนอให้ ทางจังหวัดแต่ละแห่งเป็นแม่งาน และมาคิดต่อว่า การตั้งจุดบริการไว้ที่ไหน เพื่อให้มีการคลอบคลุมทั้งหมด ยกตัวอย่างเช่น การที่จะนำส่งโรงพยาบาล หากมีบริเวณไหนทำการส่งผู้ป่วยเกิน 8 นาที จำเป็นต้องเพิ่มจุดบริการหรือไม่ เพื่อช่วยร่นเวลาให้น้อยลง ขณะที่อาสาสมัครก็ไม่ต้องหาที่ไหนไกล เอาคนในพื้นที่ เพราะปัจจุบันนี้ คนในท้องถิ่นมีจิตอาสาที่สูงเพราะเห็นตัวอย่างทั้งจากดารานักแสดงมาเป็นอาสาสมัครกันจำนวนมากซึ่งทั้งหมดนี้ ทั้งโรงพยาบาล ท้องถิ่น รวมถึงมูลนิธิ ต่างๆ ต้องมานั่งพูดคุยกัน ว่าจะตั้งจุดบริการที่ไหน เพื่อจะได้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั้ง100 เปอร์เซ็นต์ และให้บริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม"
ส่วนเรื่องสายด่วน 1669 นพ.กิตติศักดิ์ กล่าวยอมรับว่า ขณะนี้คนในท้องถิ่นส่วนใหญ่ ยังเข้าไม่ถึง เพราะด้วยตัวเลขที่จำยาก เป็นไปได้หรือไม่ ที่ควรมีหมายเลขเดียวเหมือนเช่นในต่างประเทศ เพื่อที่จะให้ประชาชนไม่เกิดความสับสน สามารถเข้าถึงได้โดยง่าย ส่วนการอบรมเพื่อพัฒนาคน เกี่ยวกับการแพทย์ฉุกเฉิน นอกจากเรื่องการปฐมพยาบาลเบื้องต้นแล้ว ควรเพิ่มเนื้อหาอย่างอื่นไปด้วยหรือไม่เช่น การรู้เท่าทันภัยพิบัติที่ไม่เคยเจอ เช่น สารเคมี สารมีพิษ เป็นต้น