ดร.อุทัย แนะวางฐานการศึกษา เคลื่อนสังคมสันติประชาธรรม
"อุทัย ดุลยเกษม" ปาฐกถาพิเศษป๋วย อึ๊งภากรณ์ ชี้การศึกษาแบบตะวันตกล้มเหลว ปชช.ต้องหนุนเสริมระบบการศึกษา เริ่มที่อุดมศึกษา ผลักดันไปสู่สังคมสันติประชาธรรม
วันที่ 8 มีนาคม คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดการแสดงปาฐกถาพิเศษ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 13 ณ ห้อง ศ.101 ชั้น 1 เรื่อง "การศึกษากับการสร้างสังคมสันติประชาธรรม" โดย ดร.อุทัย ดุลยเกษม นักวิชาการ และอดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
ดร.อุทัย กล่าวตอนหนึ่งว่า ระบบการศึกษาแบบโลกธรรม (ระบบการเรียนรู้แบบดั้งเดิมในชุมชน สถาบันศาสนา หรือในสถานประกอบอาชีพ) ชนิดเป็นทางการในโลกสมัยใหม่ มีพลังและศักยภาพมากพอในการสร้างสรรค์สังคมที่มีโครงสร้างทางการเมืองการปกครอง โครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมที่พึงปรารถนาได้ แต่ในข้อเท็จจริงพลังของระบบการศึกษาในการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ในสังคมจะสำเร็จได้นั้นต้องอาศัยเงื่อนไขเชิงบริบทที่เกื้อกูลกับระบบการศึกษาอย่างสำคัญ จึงเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก หรือเป็นไปไม่ได้เลยด้วยซ้ำที่จะคาดหวังให้ระบบการศึกษาที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐอย่างเบ็ดเสร็จโดยลำพัง ทำหน้าที่และแสดงบทบาทความรับผิดชอบตามพันธกิจที่สวนทางหรือขัดแย้งกับทิศทางด้านการเมืองการปกครองและทิศทางของโครงสร้างด้านเศรษฐกิจของรัฐ
ทั้งนี้ ไม่อาจคาดหวังให้รัฐ หรือผู้ยึดกุมอำนาจรัฐปรับเปลี่ยนโครงสร้างด้านการเมืองการปกครองและปรับเปลี่ยนโครงสร้างด้านเศรษฐกิจในสังคมไปในทิศทางที่รัฐหรือผู้ยึดกุมอำนาจรัฐเสียผลประโยชน์
ดร.อุทัย กล่าวต่อว่า โดยทั่วไปแล้ว รัฐเกือบทุกแห่งใช้ระบบการศึกษาเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนระบบการเมืองการปกครองและระบบเศรษฐกิจให้ไปในทิศทางที่ผู้ยึดกุมอำนาจรัฐต้องการ เพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มที่ยึดกุมอำนาจรัฐทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งในทางแอบแฝงและเปิดเผย ผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษาไทยจำนวนมากยังมีแนวคิดที่เชื่อและศรัทธาต่อระบบบริหารจัดการแบบภาคธุรกิจอุตสาหกรรมแบบตะวันตก โดยเชื่อมั่นว่า ระบบดังกล่าวที่นิยมใช้ในประเทศอุตสาหกรรมนั้นจะทำให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น
"ในปัจจุบันระบบบริหารจัดการแบบตะวันตกได้หมดความวิเศษมหัศจรรย์ลงเกือบหมดแล้ว ดังหลักฐานจากผลการดำเนินงานขององค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนในประเทศใหญ่ๆ เช่น สหรัฐอเมริกา อิตาลี สเปน กรีซ และญี่ปุ่น สะท้อนชัดว่า ระบบบริหารจัดการสมัยใหม่แบบตะวันตกใช้ไม่ได้ผลในภาวะที่มีกระแสการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและซับซ้อนอย่างในปัจจุบัน"
ดร.อุทัย กล่าวถึงการเลือกใช้ระบบการศึกษาเป็นกลไกในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่อาจไม่สอดคล้องกับทิศทางหลักของระบบการเมืองการปกครองและระบบเศรษฐกิจของรัฐ จึงต้องอาศัยกระบวนการและมาตรการด้านต่างๆ ให้สอดคล้องกับทิศทางของการเปลี่ยนแปลงสังคมใหม่ ซึ่งระบบการศึกษาต้องได้รับการหนุนเสริมจากภาคประชาชนที่เป็นผู้ได้รับผลประโยชน์อย่างแท้จริงจากการเปลี่ยนแปลง จึงจะมีโอกาสประสบความสำเร็จได้
"ระบบการศึกษาไทยในปัจจุบัน หากใช้เป็นกลไกในการขับเคลื่อนกระบวนการสร้างสรรค์สังคมสันติประชาธรรม คือเป็นสังคมที่มีความเป็นธรรม ประชาชนส่วนใหญ่ต้องมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงในกระบวนการตัดสินอนาคตของตนเอง และเป็นสังคมที่มีระบบความสัมพันธ์ของสมาชิกในสังคมอย่างปราศจากความขัดแย้งและความรุนแรง ทั้งด้านกายภาพ จิตใจและจิตวิทยา ซึ่งจุดเริ่มต้นที่มีโอกาสเป็นไปได้ที่สุดคือในระบบอุดมศึกษาของรัฐ โดยเฉพาะการจัดการศึกษาในระดับปริญญาตรี" ดร.อุทัย กล่าว และว่า ต้องมีการปรับเปลี่ยนทั้งในแง่ระบบการบริหารจัดการ การดำเนินการตามพันธกิจหลักของสถาบันอุดมศึกษา และทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องกับภาคประชาชน