ผู้บริโภคจี้สอบโฆษณาเกินจริง กสทช.ยอมรับคุมวิทยุชุมชน-เคเบิ้ลท้องถิ่นยาก
ผู้บริโภคภาคกลางจี้กสทช.สอบเคเบิลทีวีโฆษณาเกินจริง ยกตัวอย่างเห็ดหลินจือ 100% ทวนทอง 99 ยาเกร็กคู นักวิชาการระบุไร้กฏเกณฑ์ควบคุม“สุภิญญา” ยอมรับบทบาทตรวจสอบเคเบิ้ลท้องถิ่น-วิทยุชุมชนด้อย
วันที่ 8 มี.ค. 56 ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นายกำชัย น้อยบรรจง เลขาธิการสมาคมพิทักษ์สิทธิผู้บริโภคจ.สระบุรี พร้อมเครือข่ายผู้บริโภค 4 จังหวัดภาคกลาง ได้แก่ สระบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สิงห์บุรี และแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อน.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกสทช. เพื่อให้ตรวจสอบและมีมาตรการเกี่ยวกับโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพเกินจริงและผิดกฎหมายในเคเบิลทีวี
นายกำชัย กล่าวว่า เคเบิลทีวีบนจาน PSI ได้แก่ รายการ ซุปเปอร์บันเทิง, บุฟเฟต์ทีวี, เรื่องดี 24 ชั่วโมง, อินสเตชั่น เอพลัส, มิราเคิล, Night Channels และ MY TV มีการโฆษณาผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมายและอวดอ้างสรรพคุณเกินจริงที่มีทั้งการโฆษณาและเป็นรายการที่จัดรูปแบบการถามตอบ ซึ่งหากผู้บริโภคหลงเชื่ออาจทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพหรือสูญเสียเงินโดยเปล่าประโยชน์ ซึ่งตัวอย่างกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่โฆษณา เช่น ผลิตภัณฑ์ยาแผนโบราณและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อวดอ้างว่ารักษาโรคได้, ผลิตภัณฑ์เสริมสมรรถภาพทางเพศชายและหญิง
อย่างไรก็ตาม ได้มีข้อเสนอแนะต่อกสทช. ให้เพิ่มเติมหลักเกณฑ์และเงื่อนไขประกอบการขอรับใบอนุญาตในส่วนที่เกี่ยวข้องกับโฆษณาอาหารและยาที่เอาเปรียบผู้บริโภค, ต้องพิจารณาประวัติของการกระทำผิดที่เกี่ยวกับโฆษณาสำหรับการขอรับใบอนุญาตของผู้ประกอบการใหม่, ตรวจสอบการโฆษณาในเคเบิลทีวีอย่างจริงจัง, ทบทวนการให้ใบอนุญาตแก่ผู้ประกอบการที่เข้าข่ายการโฆษณาเกินจริง, มีการลงโทษปรับผู้ประกอบการที่กระทำผิดกฎหมาย โดยต้องคำนึงถึงรายได้ของผู้ประกอบการที่กระทำผิดกฎหมาย ที่สำคัญต้องมีระบบรับเรื่องร้องเรียนของกสทช.ในส่วนที่เกี่ยวกับโฆษณาเกินจริงที่เข้าถึงได้ง่ายและมีประสิทธิภาพ
น.ส.สุภิญญา กล่าวว่า การตรวจสอบผู้ประกอบการที่กระทำผิดด้านการโฆษณาเกินจริงในเคเบิลท้องถิ่นและวิทยุชุมชนยังมีข้อจำกัดอยู่หลายด้าน โดยเฉพาะระบบการตรวจสอบที่ชัดเจน เนื่องจากกำลังอยู่ในขั้นตอนการออกกฎระเบียบต่าง ๆ ดังนั้นจึงต้องอาศัยกระบวนการทำงานของเครือข่ายผู้บริโภคทั้งประเทศแทน อย่างไรก็ตามจะนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) วันที่ 19 มี.ค. 56 หากพบว่ากระทำผิดจริง จะดำเนินการส่งหนังสือเตือน ปรับ และเพิกถอนใบอนุญาตตามขั้นตอนต่อไป สำหรับช่องรายการที่ไม่ได้รับการทดลองประกอบกิจการฯ หากตรวจสอบเจอการกระทำผิดจะแจ้งดำเนินคดีต่อไป
ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการกพย. กล่าวว่าปี 56 เป็นปีทองของการคุ้มครองผู้บริโภค แต่ยังไม่เห็นการออกระเบียบหลักเกณฑ์ต่างๆที่ชัดเจน ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการแก้ไขปัญหา อย่างไรก็ดีการทำงานร่วมกับเครือข่ายผู้บริโภคทั่วประเทศของกสทช.ในการเป็นศูนย์เฝ้าระวังผู้กระทำความผิดเป็นทิศทางที่ถูกต้องแล้ว นอกจากนี้ควรมีมาตรการลงโทษพิธีกรหรือผู้ดำเนินรายการที่นำเสนอข้อมูลเท็จหรือเกินจริง เพราะผิดจริยธรรมสื่อสารมวลชน เช่น มีการนำเสนอข้อมูลเท็จของผลิตภัณฑ์ยา ซึ่งกระทำผิดตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยา ส่วนตัวจึงเห็นควรให้ดำเนินคดีตามกฎหมาย และเรียกร้องให้องค์กรสื่อรวมตัวกันสร้างเสริมจริยธรรมในกลุ่มวิชาชีพ ซึ่งกพย. ได้ดำเนินการแล้วในเครือข่ายของยาและอาหาร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครือข่ายผู้บริโภคภาคกลางได้มอบดีวีดีบันทึกไว้เป็นหลักฐานแก่กสทช.ด้วย ซึ่งหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่มีการโฆษณาเกินจริง ได้แก่ เห็ดหลินจือ 100% ทวนทอง 99 และยาเกร็กคู พร้อมขอความร่วมมือจากกสทช.ให้รายงานความคืบหน้าทุก 7 วัน เพื่อให้รู้ถึงสถานการณ์แก้ปัญหาของหน่วยงานกำกับดูแล ทั้งนี้เมื่อ 1 มี.ค. 56 เครือข่ายผู้บริโภคจ.สระบุรีได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อนายแพทย์สาธารณสุขจ.สระบุรี กรณีโฆษณาผลิตภัณฑ์ที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริงในสถานีวิทยุที่กระจายเสียงในจ.สระบุรีด้วย.