ธ.ก.ส.เผยยังรับจำนำข้าว 1.5หมื่นบ./ตัน ร้อง รบ.ส่งคืนรายเดือนแก้สภาพคล่อง
กษ.เร่งตรวจสอบที่ สปก.ทั่ว ปท. ดันสมาร์ทฟาร์เมอร์ เลิกโครงการณัฐวุฒิ “ถนนยางพารานครศรีฯ” ธกส.ยันรับจำนำข้าว 1.5 หมื่นบ./ตัน ขอ รบ.ส่งคืน ธกส.รายเดือนแก้สภาพคล่องโครงการ
วันที่ 6 มี.ค. 56 ที่สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (รมว.กษ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานงานวันคล้ายวันสถาปนา ส.ป.ก. ครบรอบ 38 ปีว่า ส.ป.ก.มีภารกิจหลัก 2 ด้าน คือ การจัดสรรที่ดินทำกินแก่เกษตรกรที่ยากไร้ และการพัฒนาเกษตรกรให้มีอาชีพเกษตรกรรมที่มั่นคง ซึ่งการดำเนินโครงการตั้งแต่ปี 2518-55 ได้จัดสรรที่ดินแล้ว 34,641,215 ล้านไร่ เกษตรกรได้รับมอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) 2,575,566 คน ในพื้นที่ 71 จังหวัด ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จตรงตามเป้าหมายที่วางไว้
อย่างไรก็ตาม ส.ป.ก. ยังต้องพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรให้มีความสามารถและก้าวสู่โครงการเกษตรกรปราดเปรื่อง (สมาร์ท ฟาร์มเมอร์) นอกจากนี้ต้องส่งเสริมผลผลิตที่ได้มาตรฐานสากลและเพิ่มตลาดรองรับสินค้าให้ทั่วถึง เพราะปัจจุบันประสบปัญหาไม่มีแหล่งกระจายสินค้าที่ได้มาตรฐาน เพื่อสร้างความพร้อมอย่างรอบด้านเมื่อเปิดประชาคมอาเซียนในปี 58
“อนาคตเราต้องพัฒนาเยาวชนรุ่นใหม่ภายใต้โครงการยุวเกษตรกรในพื้นที่ส.ป.ก.ให้มีศักยภาพ พร้อมเร่งเคลียร์ปัญหาการใช้ประโยชน์ในที่ดินส.ป.ก.ผิดวัตถุประสงค์ ซึ่งขณะนี้มีหลายพื้นที่ต้องใช้กระบวนการทางกฎหมายตรวจสอบก่อนเรียกคืนต่อไป” รมว.กษ. กล่าว
ด้านนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (รมช.กษ.) ในฐานะกำกับดูแลยางพารา กล่าวว่า โครงการถนนยางพาราที่จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นนโยบายของนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีตรมช.กษ. เสนอไว้นั้น คณะอนุกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์การเพิ่มมูลค่ายางพาราไทยมีมติยุติโครงการดังกล่าว เนื่องจากประสบปัญหาเอกสารสิทธิที่ดินที่อยู่ในเขตป่า แต่มีแนวโน้มให้ย้ายไปทำในจ.ภูเก็ต เพราะเป็นพื้นที่มีสวนยางพาราและเป็นแหล่งท่องเที่ยวตามเงื่อนไขที่ระบุว่าต้องเป็นเส้นทางที่มีการใช้ถนนเพื่อการท่องเที่ยวและโลจิสติกส์ อย่างไรก็ตามจะนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) 12 มี.ค. นี้
ขณะที่นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ส่งเงินคืนธกส. แล้วประมาณ 60,000 ล้านบาท ซึ่งน่าจะเพียงพอในการดำเนินงานโครงการครั้งต่อไป อย่างไรก็ดีโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี 2555/56 กรอบวงเงิน 197,000 ล้านบาท ส่วนข้าวเปลือกนาปรังรอบใหม่ 100,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะมีปริมาณน้อยกว่าปีที่ผ่านมาจาก 11 ล้านตันเหลือเพียง 8 ล้านตัน เนื่องจากเกษตรกรประสบปัญหาภัยแล้ง ปริมาณที่อาจลดลงจึงทำให้วงเงินที่ใช้รับจำนำข้าวนาปรังลดลงไปด้วย จากเดิมคาดว่า 165,000 ล้านบาทเหลือเพียง 100,000 ล้านบาท
“ยืนยันว่าตั้งแต่ม.ค. –ธ.ค. 56 จะมีการระบายข้าวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะมีเม็ดเงินเข้ามา 180,000 ล้านบาท ถ้าเป็นไปตามนี้จะมีเงินทุนเพียงพอในการดูแลเรื่องรับจำนำข้าวนาปรัง”
ส่วนปรับปรุงเงื่อนไขการรับจำนำข้าวหรือไม่นั้น กรมการค้าภายในยังคงมีนโยบายเดิมคือให้คำนวณจากราคารับจำนำข้าวเปลือกเจ้าตันละ 15,000 บาท แต่จะต้องวางกรอบการนำเงินส่งคืนธ.ก.ส.เป็นรายเดือน แต่หากไม่สามารถดำเนินการได้ อาจทำให้กระแสเงินไหลเข้าและออกในโครงการฯ มีความคลาดเคลื่อนบ้าง
ผู้จัดการธ.ก.ส. กล่าวต่อว่าขณะนี้ธ.ก.ส.มีสภาพคล่องเหนือกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธ.ป.ท.) กำหนดให้สถาบันการเงินต้องดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องไว้ในอัตราร้อยละ 6 ของยอดเงินฝาก ซึ่งปัจจุบันธ.ก.ส. มียอดเงินฝากรวมประมาณ 900,000 ล้านบาท คิดเป็นสภาพคล่องร้อยละ 18 มากกว่า 3 เท่า
ส่วนแหล่งเงินในโครงการรับจำนำข้าว ธกส.ปรึกษากับนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้ครม.มีมติให้สำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) จัดหา ซึ่งที่ผ่านมาจัดหาได้ 410,000 ล้านบาท และใช้สภาพคล่องของธ.ก.ส. ซึ่งขณะนั้นมีอยู่ 90,000 ล้านบาท ประกอบกับมีการแยกโครงการเป็นบัญชีธุรกรรมนโยบายรัฐออกจากบัญชีปกติของธ.ก.ส. และรัฐบาลจะรับผิดชอบต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยและผลขาดทุนที่อาจเกิดขึ้น จึงไม่ต้องกังวลว่าธ.ก.ส.จะขาดสภาพคล่องอย่างที่เป็นข่าว.