เสียงจากคนในรั้วมหาวิทยาลัยชายแดนใต้... อย่าประทับตรา "โจรใต้" กับผู้คิดต่าง
ยังคงเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ในพื้นที่ชายแดนใต้ตีคู่มากับกระบวนการพูดคุยสันติภาพกับขบวนการบีอาร์เอ็น นั่นก็คือการนำเสนอรายงานพิเศษของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ว่าด้วยเรื่อง "นักศึกษาถูกชักจูงเป็นแนวร่วม" พาดพิงขบวนการนิสิตนักศึกษาทั้งในและนอกพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่ามีความเกี่ยวโยงในลักษณะเป็น "ปีกการเมือง" ของขบวนการ บีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนท
ทำให้ล่าสุดเมื่อวันอังคารที่ 5 มี.ค.2556 ไทยพีบีเอสได้จับมือกับสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ จัดเวทีเสวนา "บทเรียนการสื่อสารและการเปิดพื้นที่ทางการเมือง กรณีไทยพีบีเอสกับกิจกรรมนักศึกษามหาวิทยาลัยที่ชายแดนใต้" เพื่อพูดคุยกันในหัวข้อ "สื่อสาธารณะ: มหาวิทยาลัยกับเรื่องชายแดนใต้" ที่ห้องประชุมชูเกียรติ ปิติเจริญกิจ ชั้น 3 คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี)
งานนี้มี นายธาม เชื้อสถาปนศิริ นักวิชาการจากสถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ ไทยพีบีเอส ร่วมพูดคุยในฐานะตัวแทนจากฝั่งทีวีสาธารณะด้วย ท่ามกลางผู้ที่สนใจเข้าร่วมรับฟังเต็มห้องประชุม
ไทยพีบีเอสยันไม่ได้เพิกเฉย
นายธาม กล่าวตอนหนึ่งว่า ไทยพีบีเอสไม่ได้นิ่งเฉยกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาแล้ว คาดว่าจะรับทราบผลในวันที่ 7 มี.ค.นี้
"กระบวนการทำงานของไทยพีบีเอสอย่างแรกคือ ความอิสระของกองบรรณาธิการ (กอง บก.) ที่ไม่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการบริหาร โต๊ะข่าวมีสิทธิเต็มที่ในการเลือกค้นหาข้อมูล ณ ช่วงเวลานั้นแล้วนำเสนอไป โดยมีประเด็นทางสังคมและยุทธศาสตร์เป็นสำคัญ ซึ่งปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นยุทธศาสตร์ของเราที่สำคัญในปีนี้ ซึ่ง กองบก.รู้ว่าการรายงานข่าวไฟใต้มา 9 ปีมีปัญหาหลักอยู่ที่การรับรู้ จึงคิดว่าจะทำอย่างไรไม่ให้ข่าวของไทยพีบีเอสเป็นแค่ปรากฏการณ์รายวัน"
"ข้อมูลที่ถูกเก็บมาเกือบสิบปีจะถูกนำออกมาเผยแพร่มากขึ้น แล้วแต่ว่าจะเหมาะกับช่วงเวลาไหน เรามีจริยธรรม มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง เมื่อนักศึกษาไปยื่นเรื่อง (ให้ตรวจสอบกรณีรายงานพิเศษที่มีปัญหา) ก็มีคณะอนุกรรมการด้านจริยธรรมรับเรื่องแล้วบรรจุเป็นวาระด่วนที่ต้องพิจารณาให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 7 มี.ค. ซึ่งมีทั้งหลักฐานการรายงานข่าว จดหมายร้องเรียน จดหมายเปิดผนึก และประสานคนมาชี้แจง เมื่อพิจารณาแล้วว่าข่าวนำไปสู่ความคลาดเคลื่อน ไทยพีบีเอสจะน้อมรับการนำเสนอความคลาดเคลื่อนนั้น"
นายธาม บอกด้วยว่า ไทยพีบีเอสมีความจริงใจจึงเปิดเวทีสาธารณะ แสดงว่าไม่ได้เพิกเฉย และเรื่องที่เกิดขึ้นจะเป็นบทเรียนให้กับพนักงานอีก 900 คน
"เราคุยกันทุกวันว่าพลาดอะไร ทุกคนผิดหมดทุกระดับทั้งองค์กร ก็ต้องดูว่าเป็นความผิดพลาดขั้นตอนไหน เราไม่ได้ทำข่าวอาศัยความรุนแรงเพื่อเรียกเรตติ้ง เพราะเรตติ้งไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการ เราต้องการความไว้วางใจจากสาธารณะ แสดงจุดยืนต่อประชาชน ให้ประชาชนช่วยกันตรวจสอบในทุกเรื่อง นี่เป็นพลังเดียวที่ไทยพีบีเอสมี เรามองทุกวาระให้สลายความขัดแย้งทางสังคมโดยการรายงานข้อเท็จจริง ต้องมีการเจ็บตัว กล้าหาญทางจริยธรรมและความรับผิดชอบ และเป็นสัญญาณดีที่นักข่าวจะได้หันมามองการรายงานข่าวชายแดนใต้ว่าต้องทำงานที่เคลื่อนเข้าหาสันติภาพให้มากขึ้น" นายธาม ระบุ
อย่าประทับตราโจรใต้กับคนในรั้วมหาวิทยาลัย
อาจารย์บัณฑิต ไกรวิจิตร จากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี กล่าวว่า ขอฝากให้ไทยพีบีเอสได้สำนึกกับสิ่งที่เกิดขึ้น และควรเข้าใจว่าบรรยากาศใน ม.อ.ปัตตานี ดีกว่าข้างนอกมาก มีความสัมพันธ์ระหว่างนักศึกษากับนักศึกษา และนักศึกษากับอาจารย์ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพราะไทยพีบีเอสเหมารวม เนื่องจากมีข้อมูลด้านเดียว
"คำว่า 'โจรใต้ ลูกโจร' เป็นการจัดประเภทคน และย้ายความน่ากลัวเข้ามาอยู่ในมหาวิทยาลัย นักศึกษากลายเป็นกลุ่มที่ถูกเฝ้าระวัง ถูกระแวง จากที่เคยปลดโซ่ตรวนของตนเองในมหาวิทยาลัย กลายเป็นตราประทับโจรใต้ ลามไปถึงการรับน้อง พิธีกรรมทางศาสนา สิ่งที่ปลดปล่อยกลายเป็นสิ่งคุมขัง สร้างความหวาดหวั่นในพื้นที่และเป็นตราบาปให้นักศึกษา หากนักศึกษาเป็นโจร ผมเองก็คงเป็นอาจารย์โจร นักศึกษาไปฝึกงานยังถูกเรียกว่าเป็นลูกโจร เราไม่ได้เป็นอย่างที่คุณคิด เราแค่คิดต่าง เราต้องการเสรีภาพ ความสงบ และปลอดภัย"
อาจารย์จากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ กล่าวต่อว่า ที่มีการอ้างว่าใช้ข้อมูลจากแหล่งข่าวก็เป็นข้อมูลชี้นำ ทำให้น่าสงสัยถึงประสิทธิภาพของทีมข่าว หรือเป็นปัญหาของกองบรรณาธิการจากกรุงเทพฯ แล้วโยนความผิดให้กับคนทำงานภาคสนาม ทุกตอนที่นำเสนอไม่มีคำอธิบาย มีแต่การตอกย้ำและปกป้องตัวเองขององค์กร มีการสรุปว่านักศึกษาเป็นขบวนการแบ่งแยกดินแดน ทั้งที่นักศึกษาปฏิเสธ ไม่มีคำขอโทษ เป็นการกดทับของการสื่อสารที่นอกเหนือจากอำนาจรัฐ เป็นเครื่องมือลดทอนความเป็นมนุษย์ เกิดเผด็จการของสัญญะ ไม่แยกแยะกับใคร แต่ทำกับทุกคนในมหาวิทยาลัย
วาทกรรมผลิตซ้ำ-ชี้แค่เห็นต่างไม่ใช่แนวร่วม
อาจารย์อับดุลรอซะ วรรณอาลี จากมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งหนึ่งที่ถูกพาดพิงถึงในรายงานข่าวของไทยพีบีเอส กล่าวว่า ในยุคปัจจุบันที่สื่อมีการแข่งขันกันสูง มีจำนวนผู้ชมเป็นตัวชี้วัด ประเด็นนักศึกษาซึ่งเป็นปรากกฏการณ์เล็กๆ ได้กลายเป็นประเด็นใหญ่ที่อันตราย สังเกตว่าไทยพีบีเอสมักใช้แหล่งข่าวเดิมๆ ในการรายงาน บรรณาธิการในส่วนกลางยังคงจินตนาการเหมือนคนกรุงเทพฯทั่วไป วาทกรรมการผลิตซ้ำสร้างความน่ากลัว
"ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของนักศึกษาที่มีอุดมการณ์ทางการเมือง แต่ไม่ใช่เป็นแนวร่วม เป็นความหลากหลายของประชาธิปไตย ฉะนั้นสื่อต้องช่วยแก้ปัญหาในระบบใหญ่ๆ และช่วยสร้างสันติภาพให้ได้ ไม่ใช่ข่าวเกี่ยวกับชายแดนใต้ยังมีแค่ภาพรถยีเอ็มซี ลวดหนาม ทหารถือปืน หากเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นได้จะดีกว่า อยากให้สื่อเป็นสื่อที่สร้างสรรค์และเป็นประโยชน์กับคนรับสารอย่างแท้จริง"
อย่าผลักให้นักศึกษาไปอยู่กับขบวนการ
ด้านตัวแทนนักศึกษาจาก ม.อ.ปัตตานี ที่ตกเป็นผู้ถูกสัมภาษณ์ในรายงานข่าว กล่าวว่า ทีมงานไทยพีบีเอสสัมภาษณ์ไปจริง แต่ตอนนำไปออกกลับเป็นอีกด้านซึ่งส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของนักศึกษาทั่วไป จึงอยากให้ดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องโดยด่วน
"เขาสัมภาษณ์ไปจริง แต่ไปออกอีกด้าน กลายเป็นภาพลบที่ไม่ใช่ความจริง พวกผมเป็นเด็กนอกพื้นที่ เข้ามาเรียนที่นี่ด้วยใจรัก มีสำนึกร่วมทางสังคมว่าปัญหาชายแดนใต้เป็นปัญหารุมเร้าที่สังคมไทยต้องฉุกคิด เราคิดอย่างหลากหลายและห่วงใยแผ่นดิน ความเป็นนักศึกษาไม่ได้เรียนแต่ในห้อง ต้องลงมือทำเพื่อสังคมด้วย แต่วันนี้สื่อ สังคม และรัฐ มองพวกเราอย่างไร ต่างระแวงว่าสิ่งที่ตั้งใจทำจะเป็นเหตุร้าย จึงเป็นหน้าที่ของไทยพีบีเอสที่ต้องแก้ไขให้เรา"
"เรารู้ว่าสื่อมีสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ แต่สิ่งที่สื่อรายงานต่อสาธารณะเป็นเรื่องที่ต้องรับผิดชอบด้วย ต้องพิจารณาตัวเองอย่างรวดเร็ว และแก้ไขโดยด่วน เพราะล่าช้าคือความอยุติธรรมอย่างหนึ่ง"
ขณะที่ นายมะอีซอ ดะแซ ประธานเครือข่ายนักศึกษาสานสัมพันธ์ (Restu) มหาวิทยาชัยราชภัฏยะลา ซึ่งเป็นชมรมที่ถูกอ้างถึงในรายงานข่าวเช่นกัน กล่าวว่า ถ้าบอกว่าชมรมมีพฤติกรรมบังคับนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ให้เข้าร่วมกิจกรรม และน้องปีหนึ่งเหล่านั้นต้องเป็นสมาชิกของขบวนการบีอาร์เอ็นทั้งหมด ก็แปลว่าทั้งมหาวิทยาลัยซึ่งมีนักศึกษาเกือบหมื่นคนต้องถูกเหมารวมไปด้วย ไม่รู้ว่าเอาข้อมูลมาจากแหล่งข่าวที่ไหน
"อยากขอว่าอย่าให้สิ่งเหล่านี้เป็นอาวุธที่ผลักให้นักศึกษาเข้าไปอยู่ในขบวนการ เราอยากให้ไทยพีบีเอสแก้ไขและขอโทษในสิ่งที่ได้กระทำลงไป อย่าให้พวกเราต้องตกเป็นผู้ถูกกล่าวหา"
ความคิดแตกต่างคือประชาธิปไตย
ด้าน ผศ.สมปอง ทองผ่อง รองอธิการบดี ม.อ. วิทยาเขตปัตตานี ในฐานะผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่ใหญ่และเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในพื้นที่ กล่าวว่า เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อบุคลากรและนักศึกษาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตั้งแต่เริ่มเกิดเหตุการณ์เมื่อต้นปี 2547 มีอาจารย์ขอย้าย โอนย้าย และลาออกไป 40 กว่าคน การรับอาจารย์ใหม่ก็ยากขึ้น บางคณะรับสมัครเป็นปีถึงจะได้ และยังต่อเนื่องมาจนทุกวันนี้
ในส่วนของนักศึกษาจากนอกพื้นที่ก็มาเรียนน้อยลง มีนักศึกษาไทยพุทธอยู่ 3-4 เปอร์เซ็นต์ เมื่อจะจัดสัมมนาให้กับนักศึกษา วิทยากรก็ไม่กล้าลงมา จะจัดได้ก็ที่หาดใหญ่ (จ.สงขลา) ภูเก็ต หรือสุราษฎร์ธานีเท่านั้น อาจารย์และนักศึกษาที่ลงพื้นที่ทำวิจัยและกิจกรรมก็ลำบากมากขึ้น โชคดีที่มีนักศึกษาในพื้นที่พาลงทำกิจกรรมจนคุ้นเคยกัน จึงยังไม่เคยมีเหตุร้ายเกิดขึ้นกับบุคลากรของมหาวิทยาลัย
"หลายเหตุการณ์สำคัญที่ ม.อ.ปัตตานี ได้ทำเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อพี่น้องในพื้นที่ เมื่อเกิดเหตุการณ์ใหม่ๆ ได้ยินคนบอกว่ามีอาจารย์และนักศึกษาเป็นแนวร่วม ผมบอกว่าเป็นเรื่องของประชาธิปไตย แต่เชื่อว่าแม้จะมีแนวคิดแต่คงไม่ไปทำเรื่องรุนแรงอย่างที่เป็นข่าวแน่นอน เหตุเกิดมาเป็นหมื่นครั้ง แต่ยังไม่มีรายชื่อที่เกี่ยวพันกับบุคลากรและนักศึกษาของที่นี่เลย เราอยู่ได้ด้วยชุมชน บนพื้นฐานของความจริงและความจริงใจ" ผศ.สมปอง กล่าว
เป็นคำกล่าวที่ยืนยันหลักการของมหาวิทยาลัยในฐานะแหล่งรวมองค์ความรู้และความแตกต่างหลากหลายที่ปฏิเสธการใช้ความรุนแรง!
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 (จากซ้ายไปขวา) อาจารย์บัณฑิต ไกรวิจิตร อาจารย์อับดุลรอซะ วรรณอาลี และ นายธาม เชื้อสถาปนศิริ
2 นักศึกษาแสดงความรู้สึกผ่านป้ายข้อความ (ภาพทั้งหมดโดย เลขา เกลี้ยงเกลา)