“สมคิด” ห่วงไทยเกิดภาวะสมรรถนะบกพร่อง ปลุกปชช.เข้มแข็ง-พึ่งตัวเอง
"สมคิด" ฉายภาพสังคม ศก. การเมืองไทย เปรียบเหมือนภาพเขียนโมเนต์ สวยระยะไกล พร่ามัว เลอะเทอะเมื่อมองใกล้ จี้ปฏิรูประการคลัง รับมือเปิดเออีซี
เมื่อวันที่ 5 มีนาคม ศาสตราภิชาน ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ ปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ "ประเทศไทย ณ จุดเปลี่ยน" ในงานวันนักข่าว 58 ปี สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ที่โรงแรมอมารี วอเตอร์เกท ประตูน้ำ
ศาสตราภิชาน ดร.สมคิด กล่าวตอนหนึ่งว่า สถานการณ์ประเทศในขณะนี้ ไม่ได้มีแค่ปัญหาเศรษฐกิจเฉพาะหน้า ตนคิดว่าปัญหาในปัจจุบันอยู่ในวิสัยที่สามารถบริหารจัดการได้ หากกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย มีความร่วมแรงร่วมใจ ความสามัคคีกัน เชื่อว่าทุกปัญหาไม่น่าจะเหลือบ่ากว่าแรง
"ผมได้กล่าวกับโปรเฟสเซอร์ชาวต่างชาติ ซึ่งเป็นอาจารย์ของผมว่าขณะนี้ ประเทศไทยอยู่ในแผนพัฒนาฉบับที่ 11 หากใช้มาตรวัดสากล นับว่าไทยก้าวมาไกลา มีจีดีพีกว่า 10 ล้านล้านบาท และมีรายได้ต่อหัวเฉลี่ย 5 พันเหรียญ ต่อหัวต่อคนต่อปี มีเงินเฟ้อไม่เกิน 4 % คาดว่าปีหน้าอัตราการเจริญเติบโตจะเป็น 56% และคาดว่าไทยจะสามารถเป็นฮับของอาเซียนได้ แต่ภาพนั้นเป็นคนละภาพกับที่ผมรู้สึกอยู่ในใจ เพราะประเทศไทยที่ผมสัมผัสมาตลอด เหมือนภาพวาดสีน้ำมันของโมเนต์ ที่มองไกลๆ จะดูดี แต่ถ้าดูใกล้ๆ จะมีความพร่ามัว เลอะเทอะ เปรอะเปื้อน"
ศาสตราภิชาน ดร.สมคิด กล่าวต่อว่า แต่ประเทศไทยไม่ใช่ภาพ ฉะนั้น ความเลอะเทอะ พร่ามัวในบางจุด นานๆ เข้า จะสะสม และถ้าไม่แก้ไขก็จะบ่มเพาะเป็นเชื้อโรค เชื้อร้ายที่วันข้างจะนำประเทศไปสู่ความเสื่อมถอยในที่สุด แม้เศรษฐกิจไทยจะยืนยัดได้ด้วยจีดีพี ที่คาดว่าจะเติบโตได้ถึง 5-6% แต่ลึกๆ แล้ว อนาคตข้างหน้าไม่ง่ายที่จะรักษาเศรษฐกิจให้ยั่งยืนได้ตลอด
อดีตรองนายกฯ กล่าวอีกว่า เมื่อประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศกว่า 30-40 ล้านคนอยู่ในภาคเกษตร ที่ยังไม่มีการปฏิรูป ปรับปรุงเทคโนโลยีและจัดการอุปสงค์ อุปทาน จึงสร้างผลผลิตได้เพียงร้อยละ 10 เท่านั้น เกษตรกรจึงเคลื่อนย้ายมาภาคอุตสาหกรรม ที่ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา สินค้าได้กำไรต่ำ อาศัยแรงงานค่าจ้างราคาถูก เมื่อไม่สามารถจ่ายค่าจ้างแพงได้ จึงเกิดนโยบายค่าแรง 300 บาท ซึ่งก็ดี แต่ต้องทำควบคู่ไปกับการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน ไม่อย่างนั้นเอกชนก็จะหาวิธีลดคนงาน หรือลดค่าใช้จ่าย และท้ายที่สุดผลร้ายก็จะตกอยู่กับแรงงานตามเคย
"ประเทศไทยถูกจัดลำดับให้เป็นประเทศที่มี "ความไม่เท่าเทียม" กันมากที่สุดในโลก คน 20% ระดับบนควบคุมอำนาจแทบทั้งหมด ส่วนคนระดับล่างมีอำนาจเพียง 20% เท่านั้น นั่นหมายถึง ความมั่งคั่งกระจุกอยู่ในฐานแคบๆ ไม่ทั่วถึง จึงมีการพัฒนาให้เกิดความเท่าเทียม ทั้งจัดการศึกษา สาธารณะสุข และสวัสดิการ อย่างไรก็ตามอัตรางบประมาณในแต่ละปีมีไม่เพียงพอ อีกทั้ง มีรายจ่ายเพิ่มขึ้นทุกปี ยิ่งในอนาคตผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นทวีคูณ จึงมีความจำเป็นต้องเริ่ม "ปฏิรูปการคลัง" ตั้งแต่วันนี้"
ในส่วนภาคการเมือง อดีตรองนายกฯ กล่าวว่า การเลือกตั้งเป็นไปเพื่อให้นักการเมืองเป็นตัวแทนประชาชนไปใช้อำนาจทางบริหาร แต่กลายเป็นว่า เมื่อเลือกตั้งจบอำนาจประชาชนก็จบ นักการเมืองจะแบ่งอำนาจกัน เมื่อตนเองไม่ได้ตำแหน่งก็มีนอมินี เช่นนี้แล้ว ความรับผิดชอบอยู่ตรงไหน สิ่งที่จะเป็นปัญหาในอนาคต คือการฟาดฟันกันระหว่างการเมือง มีผลให้การแต่งตั้งทางการเมือง ไม่เกี่ยวกับใครเก่ง-ใครดี ดูแค่ "ใครพวกใคร" ระบบราชการก็ต้องเลื้อยตามความต้องการทางการเมือง ทำให้ ภาวะสมรรถนะบกพร่องทั้งประเทศ ความเข้มแข็งของประเทศและธรรมาภิบาลจะค่อยๆ ด้อยลง ความเชื่อถือของประเทศจะน้อยลง ศักยภาพคนในประเทศจะน้อยลง ทั้งๆ ที่เรามีฐานะไม่แพ้ใครเลย
"เศรษฐกิจ สังคม และการเมืองไทยที่เป็นเช่นนี้ ต้องแก้ให้ได้ ไม่อย่างนั้นอนาคตจะถอยหลังอย่างแน่นอน ถามว่าว่าคนที่รับผิดชอบคือใคร คนส่วนใหญ่จะชี้ไปที่การเมือง หรือรัฐบาล แต่ประชาธิปไตยที่แท้จริงต้องยืนอยู่บน 3 ขา คือ การเมือง เอกชน และประชาชน แต่ภาคประชาชนเราไม่เข้มแข็ง ประชาชนด่า เบื่อการเมือง แต่ไม่ทำอะไร รอแต่รัฐบาล ฝากทหาร ฝากเทวดา แต่ไม่เคยมองตัวเอง หากภาคประชาชนเข้มแข็ง ภาคการเมืองก็จะดีตาม จะมีการตรวจสอบ แนะนำโครงการดีๆ ให้กับรัฐบาล เช่นที่เกิดขึ้นกับประเทศเกาหลีใต้ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งไทยก็เริ่มต้นแล้ว กับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น"
อ่านปาฐกถาฉบับเต็มได้ที่ : "สมคิด" ฉายภาพไทย พร่ามัว เลอะเทอะ แนะทางรอด "ปฏิรูปการคลัง"