ชาวท่าศาลาหวั่นเชฟรอนไม่หยุดสร้างท่าเรือ เกรงกระทบแหล่งอาหารชุมชน
หวั่น ‘เชฟรอน’ ไม่หยุดสร้างท่าเรืออ่าวท่าศาลา ชาวบ้านระบุอีเอชไอเอบิดเบือนข้อเท็จจริงว่าทะเลร้าง เกรงทำลายความสมบูรณ์แหล่งอาหาร-ฐานเศรษฐกิจท้้องถิ่นกว่า 2,140 ล้านบาท
วันที่ 5 มี.ค. 56 ศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง ศูนย์ศึกษานโยบายเพื่อการพัฒนา คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิชีววิถี และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดสัมมนา ‘ความยุติธรรมเชิงนิเวศน์:กรณีศึกษาท่าศาลา’ ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สืบเนื่องจากแผนการก่อสร้าง ‘ศูนย์สนับสนุนการปฏิบัติงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียม’ ของบริษัทเชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ที่บ้านบางสาร ต.กลาย อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ตั้งแต่ปี 54 เพื่อเป็นศูนย์ควบรวมการปฏิบัติงาน 2 แห่งในอ่าวไทย ได้แก่ อ.เมือง จ.สงขลา และอ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ซึ่งมีโครงการประกอบด้วยท่าเทียบเรือขนาดใหญ่ยาว 330 เมตร กว้าง 33 เมตรยื่นออกไปจากชายฝั่งประมาณ 500 ม. และพื้นที่พัฒนาโครงการอีก 105 ไร่
ซึ่งการสร้างท่าเทียบเรือจะต้องมีการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) โดยคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) ภายใต้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ได้มีมติเห็นชอบรายงานอีเอชไอเอแล้ว ทำให้ชาวบ้านออกมาคัดค้าน เพราะรายงานอีเอชไอเอมีเนื้อหาที่คลาดเคลื่อนจากการประเมินผลกระทบทางสุขภาพชุมชน (ซีเอชไอเอ) ที่ชาวบ้านอ.ท่าศาลา จ.นครศรีฯ จัดทำขึ้น และหวั่นว่าจะทำลายฐานทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยความมั่นคงทางอาหาร
ล่าสุดบริษัทเชฟรอน ได้ประกาศยุติการสร้างท่าเรือน้ำลึก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในโครงการก่อสร้างศูนย์สนับสนุนฯ แล้ว ตั้งแต่ 7 ธ.ค. 55 และมีการส่งหนังสือยืนยันไปยังเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อแจ้งยุติโครงการอย่างเป็นทางการ แต่ยังพบว่า บริษัท เชฟรอน ยังคงมีเงื่อนไขในการขอส่งรายงานอีเอชไอเอฉบับสมบูรณ์ไปยังสผ. เพื่อให้พิจารณาต่อ ชาวบ้านจึงเกิดความคลางแคลงใจว่าจะมีการดำเนินการโครงการดังกล่าวอีกหรือไม่
ผศ.นพนันท์ วรรณเทพสกุล นักวิจัย ‘ความยุติธรรมเชิงนิเวศในความเป็นชุมชนสมัยใหม่’ กล่าวว่า เครื่องมืออีไอเอมีเจตนารมณ์ในการสร้างความยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อมให้กับมนุษย์ โดยการชั่งน้ำหนักระหว่างผลประโยชน์กับต้นทุน แต่มักตกเป็นเครื่องมือของภาครัฐในการหาผลประโยชน์ จึงทำให้หลักคิดดังกล่าวกระทบคนบางกลุ่มจนถูกลืมจากสังคม ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ที่ถาโถมเข้ามาจนเกิด ‘คนชายขอบ’ มากขึ้น ซึ่งคนชายขอบมิได้จำกัดอยู่เฉพาะคนพิการ กลุ่มชาติพันธุ์ คนชรา แต่ครอบคลุมถึงคนทุกชนชั้นในสังคมที่ถูกกดขี่จากสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่นเดียวกับชุมชนท่าศาลาที่ดำเนินวิถีชีวิตท่ามกลางวัฒนธรรมดั้งเดิมก็กลายเป็นคนชายขอบที่ไม่เข้าถึงสิทธิ
“ในอดีตชาวบ้านท่าศาลาเคยนำเรือประมงปิดอ่าวเพื่อเรียกร้องให้ภาครัฐแก้ปัญหาข้อพิพาทระหว่างเรือประมงพาณิชย์ที่รุกล้ำชายฝั่ง จนที่สุดมีการปรับแก้กฎหมายเพื่อแก้ปัญหา ซึ่งต้องมีกลไกทางกฎหมายและกลไกทางสังคมที่จะยับยั้งความขัดแย้งและสร้างสิทธิที่เท่าเทียม และเพื่อให้เกิดความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการพัฒนาด้วย” ผศ.นพนันท์ กล่าว
นายภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ นักวิจัย ‘ขบวนการสังคมใหม่:การต่อสู้เพื่อปกป้องความมั่นคงทางอาหารในอ่าวทองคำ อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช กล่าวว่ากรณีอ่าวท่าศาลาเป็นรูปธรรมความขัดแย้งระหว่างการพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดยักษ์กับการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและแหล่งอาหาร เกิดการต่อต้านจากชาวบ้านที่ต้องการรักษาพื้นที่ผลิตอาหารสำหรับคนไทยและโลกไว้ โดยชุมชนได้ทำซีเอชไอเอแย้งมิได้เป็นทะเลร้างตามที่เชฟรอนกล่าวอ้างในอีเอชไอเอ
“กรณีอ่าวท่าศาลาเป็นความขัดแย้งกับการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ฉวยโอกาสใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม คุกคามความมั่นคงทางอาหาร” นายภาณุเบศร์ กล่าว
ดร.เขมรัฐ เถลิงศรี นักวิจัย ‘ชุมชนท่าศาลากับการพัฒนาที่ยั่งยืน’ กล่าวว่าพื้นที่ท่าศาลาเป็นชุมชนชาวมุสลิมมีแบบแผนและวิถีชีวิตตามหลักศาสนาอิสลาม เน้นการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่าและอนุรักษ์ เพราะยึดมั่นว่าพระเจ้าประทานมาให้ จึงต้องรักษาให้ลูกหลาน นอกจากนี้ยังมีลักษณะเฉพาะของทำเลถิ่นที่อาศัยอยู่ใกล้ชายฝั่งอ่าวไทย มีความสัมพันธ์ที่เรียกว่า ‘เขา-ป่า-นา-เล’ โดยมีน้ำจากเทือกเขาหลวงไหลผ่านป่า ไร่นา ลงสู่ทะเล เช่น ผู้มีอาชีพทำประมงชายฝั่งก็พึ่งพอคนอยู่บนภูเขา คนบนภูเขาก็พึ่งพาคนทำประมงชายฝั่ง มีการใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิมในการทำประมงพื้นบ้านชายฝั่งก่อให้เกิดการจ้างงานและอาชีพชุมชน
“หากอำนาจทุนจากภายนอกมาแสวงหาประโยชน์ในชุมชน อัตลักษณ์ทั้งหมดอาจหายไป เช่นความสัมพันธ์ทางเครือญาติ เศรษฐกิจแบบพึ่งพากันก็จะหายไป จะมีแรงงานภายนอกเข้ามาในชุมชน ส่วนแรงงานในพื้นที่ก็ไปทำงานต่างถิ่น เพราะการประกอบอาชีพดั้งเดิมหายไป” ดร.เขมรัฐ กล่าว
ดร.สิทธิเดช พงศ์กิจวรสิน นักวิจัย ‘อาชีพประมงพื้นบ้าน:ความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทย’ กล่าวว่าอาชีพประมงพื้นบ้านของจ.นครศรีฯ มีมูลค่าโดยรวมกว่า 500 ล้านบาท/ปี ร่วมกับอาชีพต่อเนื่อง เช่น ผู้ขายวัตถุดิบในการต่อเรือ ผู้จำหน่ายน้ำมันและสินค้าต่าง ๆ มีมูลค่า 280 ล้านบาท และธุรกิจปลายน้ำที่นำผลผลิตจากประมงพื้นบ้านมาใช้ เช่น ผู้ผลิตอาหารกระป๋อง ร้านอาหาร และบริการต่าง ๆ มีมูลค่า 1,360 ล้านบาท หากโครงการปิโตรเลียมขนาดใหญ่เข้ามาตั้งฐานการผลิตในพื้นที่ อาจสร้างผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในพื้นที่เหล่านี้สูงถึงประมาณ 2,140 ล้านบาท
ขณะที่ข้อมูลจากรายงานซีเอชไอเอ พบว่า ความมั่นคั่งของสัตว์ทะเลในอ่าวท่าศาลา ก่อให้เกิดการจ้างงานกว่า 5,000 คน/วัน รายได้ต่อหัวขั้นต่ำ 300 บาท มีเงินหมุนเวียนสำหรับค่าแรง 1.5 ล้านบาท/วัน คิดเป็นปีละ 300 ล้านบาท นอกจากนี้เรือประมงชายฝั่งที่เข้ามาหากินในชายหาดสิชล-ท่าศาลาราว 1,300 ลำ มีรายได้เฉลี่ย 391 ล้านบาท/ปี อีกทั้งสัตว์น้ำที่เป็นต้นทางสายพานทางเศรษฐกิจสัตว์น้ำสร้างทั้งมูลค่าและการจ้างงานของคนมากกว่า 10,000 คนตลอดสายพาน ทำให้เกิด ‘ธุรกิจร้านน้ำชาเคลื่อนที่’ ซึ่งเป็นกิจกรรมสอดคล้องกับวิถีประมงและชุมชนมุสลิม ที่รองรับเรือประมงหลายร้อยลำที่เข้าฝั่งมา.
.......................................................
ล้อมกรอบ
สำนักข่าว www.thaipublica.org ได้เผยแพร่แถลงการณ์ ‘พวกคุณกำลังเล่นเกมอะไรกันอยู่’ เมื่อ 26 ก.พ.56 ของสมาคมเครือข่ายประมงพื้นบ้านอ่าวท่าศาลา ร่วมกับเครือข่ายรักษ์บ้านเกิดท่าศาลา เครือข่ายลูกหลานชาวท่าศาลา และภาคีเครือข่าย ถึงกรณีเงื่อนไขในการขอส่งรายงานอีเอชไอเอฉบับสมบูรณ์ไปยัง สผ. เพื่อให้พิจารณาต่อ โดยขอให้เลขาธิการ สผ. ชี้แจงเรื่องราวทั้งหมด ซึ่ง สผ. ได้มีหนังสือตอบคำถามมายังเครือข่าย ดังนี้
1. ในกรณีการขอให้ทบทวนมติคชก.พิจารณาการอนุมัติรายงานอีเอชไอเอของบริษัท เชฟรอน เนื่องจากพบข้อบกพร่องหลายประการ ซึ่ง สผ. ได้ทำหนังสือให้บริษัท เชฟรอน ส่งข้อมูลมายัง สผ. อีกครั้ง แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่ส่งข้อมูลมาเพื่อประกอบการพิจารณาครั้งใหม่ของคชก. ตามการร้องขอของ สผ.
2. สผ. มีความเห็นว่า แม้ว่าบริษัทประกาศยุติโครงการฯ จะไม่มีผลต่อการเห็นชอบรายงานของ คชก. และหาก คชก. ยืนยันมติเห็นชอบรายงานอีเอชไอเอ สผ. ก็จะส่งรายงานไปยังกรมเจ้าท่า ซึ่งเป็นหน่วยงานอนุญาตเพื่อจัดทำกระบวนการต่อไป รวมทั้งส่งให้คณะกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (กอสส.) เพื่อให้ความเห็นประกอบ
ขณะที่บริษัท เชฟรอน นั้น สมาคมเครือข่ายประมงพื้นบ้านอ่าวท่าศาลาได้ทำหนังสือสอบถามความชัดเจนกรณีการยุติโครงการสร้างท่าเรือน้ำลึก ซึ่งบริษัท เชฟรอน ยืนยันกลับมาว่าจะไม่ขอยกเลิกรายงาน อีเอชไอเอโดยอ้างว่าเพื่อเป็นประโยชน์กับสาธารณะ
“เหตุการณ์ที่สอดคล้องต้องกันยืนยันว่า ทั้งบริษัท เชฟรอน และ สผ. จะยังคงยืนยันดำเนินการส่งรายงาน อีเอชไอเอฉบับนี้ไปสู่กระบวนการขอใบอนุญาตจากกรมเจ้าท่าต่อไป การประกาศยุติโครงการของเชฟรอน เป็นเพียงปาหี่เยื้อเวลาเท่านั้นเอง” แถลงการณ์ระบุ
ในแถลงการณ์ยังระบุว่า หากกระบวนการยังคงเดินหน้าต่อจนกว่าจะได้รับใบอนุญาต จะทำให้บริษัทเชฟรอนเปลี่ยนใจมาสร้างท่าเทียบเรือเมื่อใดก็ได้ เพราะใบอนุญาตไม่มีหมดอายุ ซึ่งในขณะนี้ บริษัท เชฟรอน ยังทำงานมวลชนในพื้นที่แบบรุกหนักเช่นเดิม
ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เครือข่ายจึงมองว่าเป็นการเล่นละครตบตาประชาชนครั้งสำคัญ ภายใต้การเล่นแง่ตามกลไกกฎหมายที่ให้อำนาจกับ สผ. เท่านั้น
“ข้อเรียกร้องของเราคือ ขอให้ยกเลิกรายงานอีเอชไอเอฉบับนี้ทันที เพื่อมิให้เกิดความขัดแย้งที่ต่อเนื่องยาวนาน และไม่มีความจำเป็นอย่างใดอีกที่จะดำเนินการ เพราะเจ้าของโครงการประกาศยุติการดำเนินการแล้ว ข้อเรียกร้องของเรามีเพียงข้อเดียวเท่านั้น และคิดว่าสมเหตุผลสำหรับการปกป้องพื้นที่ชุมชน สมเจตนารมณ์ของบริษัทที่ต้องการยุติโครงการฯ” แถลงการณ์ระบุ