ต้านสกู๊ป"พีบีเอส"บานปลาย...กับการเปิดพื้นที่ "สื่อ-มหาวิทยาลัย" ให้คนทุกกลุ่ม
ท่ามกลางกระแสพูดคุยสันติภาพระหว่าง "ตัวแทนรัฐไทย" กับ "ตัวแทนกลุ่มผู้ที่เห็นต่างจากรัฐ" และแกนนำขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน กลับมีเหตุการณ์ที่ "สวนทางสันติภาพ" เกิดขึ้นที่ชายแดนใต้ อันสืบเนื่องจากการทำหน้าที่สื่อของสถานีโทรทัศน์สาธารณะอย่างไทยพีบีเอส
มีอะไรในสกู๊ปเจ้าปัญหา
ปลายเดือน ก.พ.2556 สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสได้นำเสนอรายงานพิเศษในช่วง "ข่าวเด่นประเด็นใต้" เรื่อง "นักศึกษาถูกชักจูงเป็นแนวร่วม" พาดพิงขบวนการนิสิตนักศึกษาทั้งในและนอกพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่ามีความเกี่ยวโยงในลักษณะเป็น "ปีกการเมือง" ของขบวนการ บีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนท ที่ส่งแนวร่วมเข้าไปยังสถาบันอุดมศึกษาเพื่อรอจัดตั้งมวลชนของตนในรั้วมหาวิทยาลัย
ในรายการได้หยิบยกกิจกรรมนักศึกษาที่จัดเวทีเสวนาที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงเมื่อวันที่ 21 ก.พ.2556 เกี่ยวกับ นายมะรอโซ จันทรวดี ในท่วงทำนองตั้งคำถามว่าเป็นวีรบุรุษนับรบปาตานีหรือกบฏของรัฐสยาม ขึ้นมาเป็นตัวอย่างด้วย
รายงานพิเศษชิ้นนี้ตั้งประเด็นจากกรณีหนึ่งใน 16 ผู้เสียชีวิตหลังเข้าร่วมโจมตีฐานนาวิกโยธินที่ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส เมื่อ 13 ก.พ.2556 เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 4 จากสถาบันอุดมศึกษาแห่งหนึ่งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จากนั้นได้อธิบายข้อมูลเพื่ออ้างอิงความเชื่อมโยงระหว่างขบวนการนักศึกษากับกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดน
ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายๆ ตอนของรายงานพิเศษชิ้นนี้มีความอ่อนไหวสูงมาก เช่น การใช้คำบรรยายใต้ภาพมารดาของผู้เสียชีวิตว่า "ครอบครัวแนวร่วม" หรือการเปิดข้อมูลโครงสร้างการจัดองค์กรมวลชนในสถาบันอุดมศึกษาของกลุ่มบีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนต โดยกล่าวอ้างถึงการตั้งชมรมบางชมรมในมหาวิทยาลัยเพื่อเตรียมบ่มเพาะเยาวชนมุสลิมที่เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 1 "ในภาพรวม" ซึ่งไม่ใช่ลักษณะของการตั้งข้อสังเกต จากนั้นจึงเสนอบทสัมภาษณ์นายกองค์การนักศึกษาทีหลังเพื่อปฏิเสธว่าเป็นเรื่อง "ตัวบุคคล"
นักศึกษา-ภาคประชาสังคมฮือต้าน
หลังจากรายงานพิเศษชิ้นนี้เผยแพร่ออกไป ได้มีการเคลื่อนไหวจากนิสิตนักศึกษาทั้งที่ชายแดนใต้และกรุงเทพฯ ประท้วง "ทีวีสาธารณะ" อย่างกว้างขวาง ทั้งในสื่อสังคมออนไลน์และการจัดชุมนุมกลุ่มย่อย ล่าสุดมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมได้ออกแถลงการณ์เรื่อง "เปิดพื้นที่ทางการเมือง : บทบาทที่สื่ออย่างไทยพีบีเอสควรขานรับ" วิพากษ์ทั้งสื่อและวิธีการใช้สื่อเป็นเครื่องมือของกองทัพในกรณีปัญหาชายแดนใต้อย่างตรงไปตรงมา โดยทิ้งท้ายอย่างเจ็บแสบว่าอย่าให้ซ้ำรอยกรณี "ผังล้มเจ้า" ที่ออกมาเล่นงานกลุ่มคนเสื้อแดงและผู้สนับสนุนในช่วงการชุมนุมเมื่อปี 2553 แต่จนถึงวันนี้กลับยังหาตัวไม่ได้แม้กระทั่งผู้รับผิดชอบในการจัดทำข้อมูล
ล่าสุดสดๆ ร้อนๆ วันอังคารที่ 5 มี.ค.2556 ได้มีการจัดเวทีเสวนา "บทเรียนการสื่อสารและการเปิดพื้นที่ทางการเมือง กรณีไทยพีบีเอสกับกิจกรรมนักศึกษามหาวิทยาลัยที่ชายแดนใต้" โดยคณะรัฐศาสตร์ คณะวิทยาการสื่อสาร และคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) ร่วมกับสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ที่ห้องประชุมชูเกียรติ ปิติเจริญกิจ ชั้น 3 คณะวิทยาการสื่อสาร ม.อ.ปัตตานี โดยมีหัวข้อนำสนทนา คือ "สื่อสาธารณะ: มหาวิทยาลัยกับเรื่องชายแดนใต้" มี นายธาม เชื้อสถาปนศิริ นักวิชาการสถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ ไทยพีบีเอส ตัวแทนจากนักศึกษา นักกิจกรรม และอาจารย์จากคณะวิทยาการสื่อสาร คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี และมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
อย่างไรก็ดี ตลอดกว่า 1 สัปดาห์ตั้งแต่รายงานพิเศษที่เป็นปัญหาได้รับการเผยแพร่ออกอากาศ ยังไม่มีท่าทีใดๆ ต่อสาธารณะจากไทยพีบีเอส มีเพียงข่าวที่ว่าผู้บริหารสถานีได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนเรื่องนี้แล้วเท่านั้น
สื่อ-มหาวิทยาลัยควรเปิดพื้นที่ให้คนทุกกลุ่ม
เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังจากเกิดเหตุการณ์วิสามัญฆาตกรรมกลุ่มติดอาวุธที่นำโดย นายมะรอโซ จันทรวดี จำนวน 16 ศพขณะบุกเข้าโจมตีฐานปฏิบัติการกองร้อยปืนเล็กที่ 2 บ้านยือลอ ต.บาเระเหนือ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส เมื่อเวลา 01.00 น.วันพุธที่ 13 ก.พ. ได้มีข้อถกเถียงกันในสื่อสังคมออนไลน์อย่างกว้างขวางเกี่ยวกับบทบาทของนายมะรอโซและกลุ่มติดอาวุธ เนื่องจากมีหลายเหตุการณ์สะท้อนว่าคนในพื้นที่ชายแดนใต้บางส่วนอาจไม่ได้มองว่ากลุ่มติดอาวุธที่นำโดย นายมะรอโซ เป็นคนร้ายหรือ "โจร" ในความหมายที่รัฐอธิบาย แต่อาจเป็น "นักรบ" หรือ "ตัวแทนคนพื้นที่" ที่ต่อสู้กับความอยุติธรรมและความไม่เป็นธรรมที่เคยได้รับ ดังเช่นกรณีตากใบ เมื่อ 25 ต.ค.2547
การถกเถียงลุกลามไปถึงบทบาทการรายงานข่าวของสื่อ ซึ่งแม้ว่าบทบาทสื่อในกรณีนายมะรอโซและพวกจะได้รับการยอมรับว่าดีขึ้น โดยเฉพาะการเปิดพื้นที่ให้ครอบครัวของผู้เสียชีวิตได้พูดผ่านสื่อกระแสหลัก แต่ก็ยังมีการตั้งคำถามถึงการทำหน้าที่ในกรณีอื่นๆ โดยเฉพาะการใช้คำที่กระทบกับความรู้สึกในสื่อสิ่งพิมพ์ อาทิ คำว่า "โจรใต้" หรือการเหมารวม "หมายจับ" จากข้อมูลของฝ่ายความมั่นคง ทำให้ผู้ต้องหาบางคนมีหมายจับหลายสิบหมาย ทั้งๆ ที่ไม่น่าจะมีหลักฐานเชื่อมโยงมากถึงขนาดนั้น
เวทีเสวนาที่พูดกันถึงเรื่องดังกล่าวนี้ก็เช่น เวที "ปริศนาความรุนแรง ณ ปาตานี" จัดโดยคณะรัฐศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี ร่วมกับปาตานี ฟอรั่ม วิทยุร่วมด้วยช่วยกันดีสลาตัน และองค์กรภาคีภาคประชาสังคมกว่า 30 องค์กร ที่ ม.อ.ปัตตานี เมื่อวันเสาร์ที่ 23 ก.พ.2556, เวทีเสวนา "มองไฟใต้ มองสื่อในการเสนอข่าวกรณีบาเจาะ" จัดโดยสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เมื่อวันอาทิตย์ที่ 24 ก.พ.2556 และเวทีคนทำสื่อสนทนา "โจรใต้ นักรบญีฮาด กบฏแบ่งแยกดินแดน ในสายตาสื่อไทย" จัดโดย มีเดีย อินไซด์ เอ้าท์ ที่กรุงเทพฯ เมื่อวันศุกร์ที่ 1 มี.ค.2556 เป็นต้น
เอกรินทร์ ต่วนศิริ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี ผู้เขียนบทความ "มะรอโซ จันทรวดี จากเหยื่อสู่อาร์เคเค" ในเว็บไซต์ปาตานีฟอรั่ม กล่าวเอาไว้บนเวที มีเดีย อินไซด์ เอ้าท์ ว่า ไม่ใช่เรื่องแปลกหากแนวร่วมหรือคนที่มีอุดมการณ์แตกต่างจากรัฐจะเข้าไปเรียนมหาวิทยาลัย ส่วนตัวคิดว่าเป็นเรื่องดีเสียอีก เพราะมหาวิทยาลัยควรเป็นพื้นที่เปิดสำหรับทุกคน ทุกกลุ่ม ทุกแนวความคิด โดยเฉพาะผู้ที่มีแนวคิดหรืออุดมการณ์แตกต่างจากรัฐ จะได้มาเรียนรู้หรือเปิดมุมมองด้านอื่น ได้ศึกษาประวัติศาสตร์ในมุมอื่นนอกเหนือจากที่ตนเองได้เรียนรู้มา และที่สำคัญคือได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับอาจารย์รวมทั้งเพื่อนนักศึกษา ซึ่งคนเหล่านั้นอาจเปลี่ยนความคิด หรืออย่างน้อยก็ไม่เลือกไปใช้ความรุนแรง
เปิดบทความศูนย์ทนายมุสลิม
มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ได้เผยแพร่บทความชื่อ "เปิดพื้นที่ทางการเมือง : บทบาทที่สื่ออย่างไทยพีบีเอสควรขานรับ" ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับที่มาของข้อมูลในรายงานข่าวของไทยพีบีเอส ตลอดจนบทบาทสื่อและกองทัพในสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้เอาไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้
"จากกรณีสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสนำเสนอรายงาน สหพันธ์นิสิตนักศึกษาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สนนท.จชต.) มีลักษณะเป็นปีกการเมือง (political wing) ของขบวนการบีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนท โดยนำเสนอแผนผังโครงสร้างที่แสดงถึงความเชื่อมโยงของขบวนการฯกับกลุ่มนักศึกษาในมหาวิทยาลัยทั้งในและนอกพื้นที่ชายแดนใต้ การเสนอรายงานดังกล่าวเป็นผลพวงสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์การปะทะที่ค่ายทหารบ้านยือลอ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 13 ก.พ.2556 ที่กลุ่มผู้ติดอาวุธที่เข้าโจมตีค่ายทหารเสียชีวิตลง 16 ศพ โดยหนึ่งในผู้เสียชีวิตเป็นนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา
แม้รายงานข่าวของไทยพีบีเอสจะไม่ได้ระบุถึงแหล่งที่มาของแผนผังและโครงสร้างดังกล่าว แต่ก็พอจะคาดเดาได้ว่ามาจากการวิเคราะห์ข้อมูลของทางฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ เนื่องจากสอดคล้องกับบทวิเคราะห์ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงที่มีต่อปฏิบัติการและรูปแบบองค์กรของกลุ่มก่อการในพื้นที่จากที่ได้มีการเปิดเผยกันมาก่อนหน้านี้ในหลายโอกาส รวมทั้งสอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่เห็นได้จากการวางผังโครงสร้างกลุ่มก่อความไม่สงบที่ใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีความมั่นคงที่มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมได้ให้ความช่วยเหลือ
รวมทั้งการปฏิบัติการปิดล้อมตรวจค้นจับกุมกลุ่มนักศึกษา การเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวของเจ้าหน้าที่ที่มีต่อกลุ่มนักศึกษาในพื้นที่ ซึ่งเฝ้ามองด้วยสายตาแห่งความสงสัยมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการแสดงกิจกรรมเชิงรณรงค์กับเหตุการณ์ตากใบ การเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายพิเศษอย่างพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ซึ่งเป็นการรณรงค์ร่วมกันระหว่างกลุ่มนักศึกษากับมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม รวมทั้งการเข้าไปมีส่วนร่วมในการเรียกร้องความไม่เป็นธรรมที่เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐในหลายเหตุการณ์
นอกจากนั้น นักศึกษาและปัญญาชนหลายคนในกลุ่มนี้ยังได้ใช้พื้นที่ของสื่อสาธารณะอย่างเช่นโซเชียลมีเดีย เผยแพร่ข้อมูลและรณรงค์ในประเด็นต่างๆ ที่กล่าวมาอย่างต่อเนื่อง โดยอาศัยความรู้ความสามารถและพลังของคนรุ่นใหม่ไฟแรง
การที่รายงานข่าวเรื่องนี้ได้โยงเข้ากับเหตุการณ์ 16 ศพที่บาเจาะ ทำให้สายตาคนทั่วไปพุ่งเป้าไปที่กลุ่มนักศึกษากับบทบาทการเข้าไปเจาะลึกเบื้องหลังการเสียชีวิตของนายมะรอโซ จันทรวดี และบุคคลที่เสียชีวิตพร้อมกันอีกหลายคน ที่มีข้อมูลว่าเหตุที่ต้องจับอาวุธเพราะความคับแค้นใจจากเหตุการณ์ตากใบ จนนำไปสู่การจัดกิจกรรมเสวนาซึ่งส่งผลให้มีการพูดคุยด้วยน้ำเสียงที่มีลักษณะยกย่องเสมือนผู้เสียชีวิตเป็นวีรบุรุษของคนในพื้นที่
เหตุการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คนทั่วไปรู้ว่าเป็นการต่อสู้ของฝ่ายรัฐโดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคงที่ กอ.รมน. (กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร) เป็นผู้นำ กับฝ่ายขบวนการ ใจกลางของปัญหาคือการต่อสู้กับบุคคลที่มีความเห็นต่างกับรัฐ ซึ่งฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐเองโดยเฉพาะแม่ทัพภาคที่ 4 คือ พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ เคยเสนอแนวความคิดอย่างชัดเจนว่า รัฐไม่ได้มองผู้ก่อเหตุรุนแรงเป็นโจร หากแต่เป็นคนที่หลงผิดเพราะถูกชักจูงจากกลุ่มคนที่ไม่หวังดีต่อชาติบ้านเมือง รวมทั้งพูดมาโดยตลอดว่าท่านกลับเห็นว่าบุคคลเหล่านี้คือวีรบุรุษของคนในพื้นที่ เจ้าหน้าที่จึงพร้อมที่จะเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้กับคนที่เห็นต่าง เพียงแต่ขออย่าให้พวกเขาใช้ความรุนแรง มิฉะนั้นต้องมีการตอบโต้ เพราะนั่นคือสัญชาตญาณของทหาร จำเป็นต้องกระทำ
นอกจากคำพูดของผู้นำกองทัพในพื้นที่ดังกล่าวแล้ว ยังมีการยอมรับจากทางฝ่ายรัฐบาลเองที่บอกว่าการแก้ปัญหาสามจังหวัดนั้นรัฐไม่สามารถแก้ไขได้โดยลำพัง แต่จะต้องอาศัยคนในพื้นที่ช่วยสนับสนุน การวางโครงสร้างการบริหารจัดการในพื้นที่ใหม่ก็เพื่อจะให้การทำงานครอบคลุมและตอบสนองความต้องการของประชากรหลักในพื้นที่อย่างรอบด้านมากขึ้น
นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง (ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง) ก็ได้แต่งตั้งอดีตนักการเมืองที่เคยถูกกล่าวหาจากฝ่ายรัฐเองว่าเป็นแกนนำในการแบ่งแยกดินแดนสามจังหวัด ให้เป็นที่ปรึกษา อีกทั้งสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ก็ได้นำเสนอนโยบายในการสร้างสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมและเอื้อต่อการพูดคุยในการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้ง และการให้หลักประกันในการเข้ามามีส่วนร่วมของผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้เสียในกระบวนการสันติภาพ โดยเน้นย้ำการส่งเสริมการพูดคุยกับบุคคลที่มีความเห็นและอุดมการณ์แตกต่างจากรัฐ ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งที่เป็นผู้มีส่วนได้เสียกับปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งนี้ เพื่อมุ่งหวังในการลดเงื่อนไขและสร้างบรรยากาศที่ดีในพื้นที่ และเอื้อต่อการเปิดให้มีการพูดคุยกับผู้ที่เห็นต่าง
ทั้งหมดนี้ทำให้เห็นได้ว่า นี่คือแนวทางของรัฐไม่ว่าจะมาจาก กอ.รมน.หรือรัฐบาลเองที่ยอมรับการมีความคิดที่แตกต่างของคนในพื้นที่
เจ้าหน้าที่รัฐหลายส่วนส่งสัญญาณว่าฝ่ายความมั่นคงมีนโยบายที่จะสร้างพื้นที่ของการแสดงออกเพื่อเคลื่อนไปสู่การแก้ไข เปิดทางให้ใช้วิธีการที่สันติ ขณะเดียวกันก็บีบพื้นที่ของกลุ่มที่ก่อเหตุรุนแรงให้หมดข้ออ้างในการต่อสู้ด้วยวิถีรุนแรง ทั้งหมดนี้ทำให้คนในพื้นที่ต่างมีความยินดีว่า เจ้าหน้าที่รัฐโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงมีเจตนาและแนวทางที่สร้างสรรค์ในอันที่จะเปิดเวทีและพื้นที่การแสดงออกทางการเมืองรองรับทุกฝ่ายเพื่อแก้ปัญหาให้ยั่งยืน แนวทางการทำงานเช่นนี้ได้เริ่มเปิดทางให้คนในพื้นที่สนองตอบ จึงไม่น่าสงสัยว่า เมื่อเกิดกรณี มะรอโซ จันทรวดี และเพื่อนขึ้น จะเกิดปรากฏการณ์การขุดคุ้ยหาความจริงอย่างตรงไปตรงมาจากคนกลุ่มที่ทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่องในพื้นที่อย่างจากกลุ่มนักศึกษา เพราะความเชื่อที่ว่าพื้นที่ของการพูดคุยอย่างเปิดกว้างกำลังเกิดขึ้น
ในแง่ของภาพข่าวและการอธิบายปรากฏการณ์ที่ออกมานั้น หลังเกิดเหตุการณ์ปะทะที่บาเจาะใหม่ๆ เจ้าหน้าที่ทหารได้รับคำชมเชยจากคนทั่วไปว่าสามารถป้องกันตนเองเพราะข้อมูลการข่าวดีขึ้น ชาวบ้านให้ความร่วมมือมากขึ้น เป็นวีรบุรุษต่อสู้กับโจรก่อการร้าย แต่ภายหลังที่สื่อได้ให้ความสนใจต่อกลุ่มผู้ก่อเหตุที่เสียชีวิต รวมถึงภูมิหลังและแรงจูงใจที่ต้องจับอาวุธต่อสู้กับรัฐ ประกอบกับมีการจัดเวทีสาธารณะในมหาวิทยาลัยและเผยแพร่ทางสื่อสาธารณะ (โซเชียลมีเดีย) ดูเหมือนว่านี่จะเป็นจุดที่ทำให้เห็นอาการจากฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐส่วนหนึ่งที่ไม่ยอมรับคนที่มีความเห็นต่าง
อาการไม่ยอมรับนี้เริ่มพุ่งเป้าไปที่นักศึกษาอันเป็นกลุ่มคนที่ออกมานำเสนอข้อมูลที่แตกต่างดังกล่าว สัญญาณอันหลังนี้ทำให้เริ่มเกิดความสับสนว่า เจ้าหน้าที่จะเปิดกว้างหรือว่าจะทำในลักษณะตรงกันข้ามกันแน่ ซึ่งความสับสนดังกล่าวได้มาพร้อมกับบรรยากาศและสภาพแวดล้อมที่ปกคลุมไปด้วยอาณาจักรแห่งความหวาดกลัว
ในสงครามที่มีการต่อสู้ทางการเมืองมักเต็มไปด้วยการช่วงชิงความได้เปรียบและเสียเปรียบเพื่อเรียกหาความชอบธรรม เครื่องมือหนึ่งที่ใช้กันก็คือ "สื่อ" ในยุคเสรีประชาธิปไตยนั้น สื่อมีบทบาทและอิทธิพลต่อทัศนะและความคิดของบุคคล ซึ่งสิ่งเหล่านี้รัฐต้องยอมรับว่าไม่สามารถปิดกั้นได้ และเป็นเรื่องปกติของสังคมประชาธิปไตย เป็นวัฒนธรรมซึ่งรัฐจะต้องทำใจยอมรับถ้าจะเดินไปตามแนวทางและนโยบายที่ได้ประกาศไว้ มิเช่นนั้นก็ปล่อยให้มีการตอบโต้ของคู่ขัดแย้งในพื้นที่ ไม่ต้องนำเสนอแนวคิดหรือประกาศนโยบายให้เสียเวลา
การใช้สื่อเป็นเครื่องมือในการกล่าวหาและใส่ร้ายต่อบุคคลหรือองค์กรใด จะทำให้สังคมมีความสับสนต่อจุดยืน ส่งผลต่อความลำบากใจในการวางตัวของนักศึกษาในสถาบัน ในขณะเดียวกันเป็นการบั่นทอนต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยเฉพาะการส่งเสริมให้สังคมมีทัศนะการมองแบบเหมารวมต่อกลุ่มนักศึกษา การนำเสนอผังโครงสร้างการจัดตั้งและความเชื่อมโยงกับกลุ่มก่อการ ดูไปแล้วไม่ต่างไปจากการนำเสนอแผนผังเครือข่ายกลุ่มบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่าต้องการทำลายสถาบัน (ผังล้มเจ้า) ที่จนทุกวันนี้ก็ยังไม่ปรากฏความชัดเจนว่ามีเหตุและผลหรือหลักฐานที่จริงจังสนับสนุน แม้แต่เจ้าภาพที่จะรับผิดชอบต่อผังดังกล่าวก็ไม่ปรากฏตัว แต่ทว่าได้มีการนำเสนอโดยสื่อและได้สร้างความเสียหายแก่คนจำนวนมากที่ถูกกล่าวหาเหล่านั้นไปแล้วเป็นที่เรียบร้อย
การจัดกิจกรรมสาธารณะที่นำไปสู่การแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมาโดยเปิดเผยแสดงตนอยู่ในที่สว่างของกลุ่มปัญญาชนนั้น แม้การแสดงออกของพวกเขาจะไม่ถูกใจผู้มีอำนาจ แต่ก็เป็นการแสดงออกที่อยู่ในกฎ ในเกม และในกติกา อยู่ภายใต้การดูแลของสถาบันทางวิชาการ อาจจะมองได้ว่ากลุ่มนักศึกษาในพื้นที่เป็นกุญแจอีกดอกหนึ่งที่จะไขเปิดพื้นที่ทางการเมือง ร่วมสะท้อนปัญหาแทนชาวบ้านในพื้นที่ที่มีความอึดอัดและอยู่ในความมืดหลายชั้นจนยากในการจะเข้าถึง ทั้งเป็นการลดความกดดันในพื้นที่พร้อมกับร่วมแสวงหาเส้นทางสู่การแก้ปัญหาร่วมกับภาคส่วนอื่นๆ ของสังคม ฉะนั้นสังคมจึงควรจะอ้าแขนตอบรับมากกว่าที่จะปิดกั้นหนทางของพวกเขา
ที่สำคัญคนที่จะช่วยเปิดเส้นทางให้สังคมตอบรับในทางที่สร้างสรรค์ควรจะต้องเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และควรจะต้องเป็นสื่อในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อสาธารณะที่ชื่อว่า "ไทยพีบีเอส"
อย่าได้พากันปิดกั้นท้องฟ้าอันมืดมัวด้วยเมฆฝนที่ทำท่าว่ากำลังจะเปิดรับแสงสว่างให้ดำมืดลงอีกเลย...
---------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 ส่วนหนึ่งของใบปิดประชาสัมพันธ์การเสวนา "บทเรียนการสื่อสารและการเปิดพื้นที่ทางการเมือง กรณีไทยพีบีเอสกับกิจกรรมนักศึกษามหาวิทยาลัยที่ชายแดนใต้" วันอังคารที่ 5 มี.ค.2556 ที่ ม.อ.ปัตตานี
2 เอกสารประชาสัมพันธ์เวทีคนทำสื่อสนทนา "โจรใต้ นักรบญีฮาด กบฏแบ่งแยกดินแดน ในสายตาสื่อไทย" จัดโดย มีเดีย อินไซด์ เอ้าท์ ที่กรุงเทพฯ เมื่อวันศุกร์ที่ 1 มี.ค.2556