6มี.ค.ประชัน 4ร่าง กม.ประกันสังคมเข้าสภาฯ รัฐดันขยายคุ้มครองแรงงานนอกระบบ
ประกาศราชกิจจาลดเงินสมทบประกันสังคม’56 บรรเทาผลกระทบค่าแรง 300บ. รมว.แรงงานเผยร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับใหม่ 4 ฉบับเข้าสภาฯ 6 มี.ค. รัฐบาลเข็นขยายคุ้มครองแรงงานนอกระบบ
วันที่ 6 มี.ค.56 นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ประกันสังคมฉบับแก้ไขเพิ่มเติม(จากฉบับปัจจุบัน) ว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรวาระ 1 วันที่ 6 มี.ค.นี้ โดยร่างใหม่มีผู้เสนอ 4 ฉบับ ได้แก่ ร่างฉบับรัฐบาลฉบับประชาชน ฉบับของนายเรวัต อารีรอบ และฉบับของนายนคร มาฉิม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคประชาธิปัตย์
ทั้งนี้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับรัฐบาล มีการแก้ไข 18 มาตรา เช่น ขยายการคุ้มครองประกันสังคมไปสู่ลูกจ้างชั่วคราว ทุกประเภทของส่วนราชการทั้งลูกจ้างรายเดือนและลูกจ้างรายวัน จะได้รับความคุ้มครองกรณีประสบภัยพิบัติธรรมชาติ สามารถลดหรืองดค่าปรับจากการค้างจ่ายเงินสมทบของนายจ้างซึ่งกฎหมายกำหนดไว้ที่ร้อยละ 2 ของยอดค้างชำระแต่ละเดือน ขยายการรับสิทธิประโยชน์ทดแทนจาก 1 ปี เป็น 2 ปี และการจ่ายเงินสมทบของรัฐบาลเข้ากองทุนประกันสังคมช่วยผู้ประกันตนมาตรา 40
ผู้สื่อข่าวรายงานว่ามีประกาศราชกิจจานุเบกษาลงวันที่ 1 มี.ค.56 เรื่อง “กฎกระทรวงกําหนดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ.2556” สาระสำคัญคือให้มีการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับปัจจุบัน โดยให้ยกเลิกอัตราเงินสมทบเดิม และให้รัฐบาล นายจ้าง และผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ออกเงินสมทบเข้ากองทุนฯ เพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนใน 6 กรณี ดังนี้
ตั้งแต่วันที่ 1 มค.-31 ธ.ค.56 กรณีเงินสมทบเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีประสบอันตราย กรณีเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ กรณีตาย และกรณีคลอดบุตร ให้รัฐบาล นายจ้าง และผู้ประกันตน สมทบฝ่ายละ 0.5 (อัตราเงินสมทบเป็นร้อยละของค่าจ้างของผู้ประกันตน)กรณีเงินสมทบเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตร และกรณีชราภาพ ให้รัฐบาลสมทบร้อยละ 2 นายจ้างร้อยละ 3 ผู้ประกันตนร้อยละ 3
และตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.57 เป็นต้นไป กรณีเงินสมทบเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีประสบอันตราย กรณีเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ กรณีตาย และกรณีคลอดบุตร ให้รัฐบาล นายจ้าง และผู้ประกันตน สมทบฝ่ายละร้อยละ 1.5 กรณีเงินสมทบเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตร และกรณีชราภาพ ให้รัฐบาลสมทบร้อยละ 1 นายจ้างร้อยละ 3 ผู้ประกันตนร้อยละ 3
โดยกฎกระทรวงฉบับนี้มีเหตุผลเพื่อบรรเทาภาระของนายจ้างและผู้ประกันตนให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจสังคมปัจจุบันที่ได้รับผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นตํ่าปี 56 โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.56 เป็นต้นไป .
ที่มาภาพ : http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1240577599&catid=04