‘ภารนี สวัสดิรักษ์’ จับตาผังเมืองใหม่ ท่ามกลางเส้นแบ่งพื้นที่อุตสาหกรรม-ชุมชน
การใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่ออุตสาหกรรม-เกษตร ถูกกำหนดโดยผังเมืองตั้งแต่ระดับประเทศ-จังหวัด ท่ามกลางความคิดที่ขัดแย้งในการวางผังของรัฐ-ทุน-ชาวบ้านและแนวพัฒนาสองฝั่งที่สวนทางกัน
ผังประเทศ 2600 : ไม่เป็นกฎหมาย แต่เปิดแนวทางใช้ประโยชน์ที่ดิน
มติคณะรัฐมนตรี 9 ก.ค.45 ให้กรมโยธาธิการและผังเมืองดำเนินการทำผังประเทศ ผังภาค และผังเมืองรวมจังหวัด เป็นที่มาของการทำ “ผังประเทศ พ.ศ. 2600” ที่กำหนดทิศทางการพัฒนาและใช้ประโยชน์ที่ดินล่วงหน้าไปเกือบ 50 ปี
ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา เปิดทัศนะผังเมืองไทยกับ ‘ภารนี สวัสดิรักษ์’ อดีตข้าราชการกรมโยธาฯที่ผันตัวมาเป็น “นักวิชาการผังเมืองอิสระ” มองว่าการจัดทำผังประเทศเป็นเรื่องดี แต่ต้องผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทว่าผังประเทศ 2600 แม้จะไม่มีผลบังคับตามกฏหมาย เป็นเพียงแนวนโยบาย แต่ในทางปฏิบัติกลับสร้างความชอบธรรมและเปิดทางให้มีการใช้ประโยชน์ที่ดินของอภิโปรเจ็คต่างๆ ซึ่งหลายโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ไม่ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน
เช่น สมัยรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีการร่างพ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งกำหนดให้คณะกรรมการเขตฯสามารถใช้อำนาจเหนือพื้นที่ที่มีกฎหมายอื่นดูแลอยู่ เช่น พื้นที่อุทยานแห่งชาติ ซึ่งได้รับการคัดค้านหนักจนล้มเลิกไป ทว่าสาระดังกล่าวมาปรากฎอยู่ในข้อกำหนดการจัดซื้อจัดจ้าง(TOR) ของผังประเทศ 2600 ที่ระบุให้การทำผังกำหนดไปถึงการใช้ประโยชน์พื้นที่ส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษด้วย
“ผังนโยบายอย่างผังประเทศ ที่กำหนดการใช้พื้นที่แบบหยาบที่สุด ไม่ควรเสนอการใช้ประโยชน์ที่ดินถึงระดับพื้นที่ตั้งโครงการซึ่งเราไม่เห็นพื้นที่ชัดๆ เช่น ผังประเทศเสนอให้มีการสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา ที่ อ.ละงู จ.สตูล ซึ่งดำเนินการก่อสร้างไปแล้วแม้ชาวบ้านจะคัดค้าน แสดงให้เห็นว่ามีการดำเนินโครงการล้อตามผังประเทศ ถามว่าทำไมไม่ให้ส่วนท้องถิ่นและชุมชนร่วมกำหนดเองว่าโครงการนี้จะอยู่ในผังเมืองรวมอำเภอละงหรือผังชุมชนหรือไม่”
และประเด็นสำคัญที่น่าเป็นห่วงคือกรมโยธาฯกำลังแก้ไขพ.ร.บ.การผังเมืองใหม่ โดยมีสาระนำผังประเทศไปบังคับใช้ตามกฎหมาย เช่น ในมาตรา 31 ระบุว่าเมื่อผังประเทศใช้บังคับ โครงการพัฒนาของรัฐด้านกายภาพ ต้องสอดคล้องกับผังประเทศ และการตั้งงบประมาณต้องสอดคล้องด้วย หมายความว่าผังประเทศจะมาบังคับทิศทางการทำผังระดับย่อยลงมาตั้งแต่ผังเมืองรวมจังหวัด อำเภอ ชุมชน
“เท่ากับว่าคนปากบาราถูกมัดมือชกให้ยอมรับการสร้างท่าเรือตั้งแต่ระดับผังประเทศ โดยไม่มีสิทธิโต้แย้ง ทั้งที่คนในพื้นที่ควรกำหนดอนาคตตัวเองว่าจะมีอะไรบ้าง และทั้งๆที่มีรัฐธรรมนูญรับรองสิทธิชุมชน แต่กลับกำลังมีกฎหมายหมายที่ยินยอมให้ผังประเทศมาลิดรอนสิทธิ”
ถ่วงเวลาประกาศผังเมืองรวมจังหวัด ทุนสบช่องขยายพื้นที่อุตสาหกรรม
ลงมาระดับผังเมืองรวมจังหวัด แม้กระบวนการทำผังจังหวัดจะเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 46 ผ่านมาเกือบ 10 ปี แต่กลับประกาศใช้แล้วไม่ถึง 10 ผัง (แต่ละผังมีระยะเวลา 5 ปี) แต่ส่วนใหญ่ยังรอการพิจารณารวมกันอยู่ที่คณะกรรมการผังเมือง และคณะกรรมกฤษฎีกา ความล่าช้ากลายเป็นโอกาสให้ภาคอุตสาหกรรมใช้ช่องว่างในระหว่างที่ยังไม่มีผังเมืองรวมจังหวัดขยายพื้นที่โครงการต่างๆ
“ในพื้นที่ที่ร่างผังเมืองกำหนดให้เป็นพื้นที่เกษตร นายทุนอุตสาหกรรมอาจมีความเกี่ยวพันกับการชะลอหรือถ่วงผังไว้ เพื่อผลักดันให้เกิดโครงการ เนื่องจากผังเมืองจังหวัดไม่มีผลบังคับย้อนหลัง”
ความเชื่อนี้ยิ่งหนักแน่นมากขึ้น เมื่อไม่นานมานี้มีการสั่งให้รื้อผังเมืองรวม 9 จังหวัด (ได้แก่ ชลบุรี กาฬสินธุ์ ชัยนาท ตาก ปัตตานี ศรีสะเกษ สงขลา สตูล และสุราษฎร์ธานี) ซึ่งใกล้จะประกาศใช้แล้วกลับมาทบทวนใหม่ตั้งแต่ขั้นตอนแรก(จาก 24 ขั้นตอน)
“การรื้อผัง จ.สงขลาและ สตูล ซึ่งเดิมร่างผังกำหนดพื้นที่สีเขียวห้ามการสร้างโรงไฟฟ้า ถ้าผังเมืองรวมจังหวัดประกาศใช้เมื่อใดโรงไฟฟ้าจะนะ(จ.สงขลา) ก็จะสร้างไม่ได้ แต่ตอนนี้มีการรื้อผังมาทำใหม่ หรือ เวลานี้ที่มีการย้ายฐานอุตสาหกรรมจากพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมมาตั้งในหลายจังหวัดภาคตะวันออก ก็มีรื้อผังเมืองใหม่ในบางจังหวัด เช่น ชลบุรี สถานการณ์มันสอดคล้องกัน”
การรื้อผังเมืองทั้ง 9 จังหวัดนั้นมีความชอบธรรมตามหลักธรรมาภิบาลแล้วหรือไม่? เพราะผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะตามกฎหมาย ผ่านการให้ความเห็นชอบของคณะกรรมการผังเมืองแล้ว แต่ถูกขอให้รื้อทำใหม่โดยคณะกรรมการผังเมืองระดับจังหวัดซึ่งเป็นเพียงคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งไม่ผ่านกระบวนการรับฟังความเห็นของประชาชนในพื้นที่ว่าต้องการให้มีการแก้ไขผังหรือไม่
“เคยเสนอโยธาฯให้ใช้อำนาจตามมาตรา 15 วรรค 3 พ.ร.บ.ผังเมือง 2518 ออกหลักเกณฑ์คุ้มครองพื้นที่ระหว่างที่ผังเมืองรวมจังหวัดยังไม่ประกาศใช้ เพื่อป้องกันฉวยโอกาสขยายโครงการต่างๆในพื้นที่สีเขียว แต่เขาบอกว่าจะไปลิดรอนสิทธิผู้ประกอบการ ถามว่าการไม่ใช้กฎหมายนี้ลิดรอนสิทธิชาวบ้านหรือเกษตรกรไหม เพราะเกษตรกรอยู่มาก่อน กรมโยธาฯก็เคยใช้มาตรานี้จำกัดพื้นที่ห้างค้าส่งค้าปลีกขนาดใหญ่ไม่ให้กระทบร้านโชห่วยที่จ.สมุทรปราการ ซึ่งตอนนั้นผังเมืองรวมจังหวัดยังไม่ประกาศ”
จับตา “ผังเมืองหมกเม็ด สีเขียวซ่อนม่วง”
นอกจากความล่าช้าของการบังคับใช้ผังเมือง ตัวผังเมืองบางผังก็เป็นปัญหา เพราะหมกเม็ดให้โรงงานอุตสาหกรรมหรือโครงการก่อสร้างต่างๆ ตั้งในพื้นที่สีเขียวหรือเกษตรกรรมได้ โดยที่ชาวบ้านไม่รู้เท่าทัน
“สีเขียวๆที่เห็นในตัวผังเมืองรวมจังหวัด หมายถึงการใช้ประโยชน์หลักด้านเกษตรกรรม แต่มันมีการใช้ประโยชน์รองซึ่งสามารถอยู่ร่วมกับพื้นที่เกษตรได้ ฉะนั้นเวลาดูผัง ชาวบ้านต้องดูว่า 1.พื้นที่นี้คือสีอะไร 2.ดูข้อกำหนดท้ายผังว่าสีนี้ให้ทำอะไรได้และห้ามทำอะไร 3.ดูบัญชีท้ายข้อกำหนดที่ระบุรายการว่ายกเว้นให้อุตสาหกรรมกิจการใดบ้างสามารถทำประโยชน์ในพื้นที่สีเขียวได้ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็นกิจการที่ไม่กระทบต่อภาคการเกษตร เช่น โรงงานน้ำมันปาล์มขนาดเล็ก
แต่ที่เป็นปัญหามากคือบางอุตสาหกรรมซึ่งโดยหลักการแล้วไม่ควรอยู่ตั้งอยู่ในพื้นที่สีเขียว ไปปรากฎเป็นข้อยกเว้นอยู่ที่บัญชีท้ายข้อกำหนดผังเมืองรวม ซึ่งส่วนใหญ่เอกสารที่แจกในเวทีรับฟังความคิดเห็นมีแค่โบร์ชัวร์แสดงรูปผังคร่าวๆ ถ้าอยากดูรายละเอียดต้องไปดูที่ติดไว้หลังห้องเอง ซึ่งลำพังชาวบ้านแค่ดูผังซึ่งมีหลายสีทับซ้อนแสดงความสูงต่ำในหลายมิติให้เข้าใจก็ยากแล้ว เวลารับฟังความคิดเห็นก็มีน้อยมาก ยกตัวอย่างผังเมืองรวมจังหวัดชุมพร(ยังไม่ประกาศใช้) เมื่อดูบัญชีท้ายข้อกำหนดของผังมีการยกเว้นให้โรงงานถลุงเหล็กและโรงไฟฟ้าดำเนินกิจการในพื้นที่สีเขียวได้
“พอมาดูข้อกำหนดและบัญชีท้ายข้อกำหนดก็พบว่ามีการหมกเม็ดให้มีโรงไฟฟ้าและโรงถลุงเหล็ก และปิโตรเคมีในพื้นที่สีเขียวได้ ซึ่งตามมาตรฐานผังเมืองแล้วอุตสาหกรรมพวกนี้ไม่ควรมีในพื้นที่สีเขียวเพราะมันกระทบกัน ถ้าผู้วางผังคิดว่าชุมพรควรรองรับการขยายของอุตสาหกรรมถลุงเหล็กหรือโรงไฟฟ้า ก็ควรทำวางผังเมืองกำหนดเป็นพื้นที่สีม่วง(อุตสาหกรรม)ไปเลย เพื่อให้เห็นชัด ไม่ใช่การเอาไปซ่อนอยู่ใต้พรมเขียว เป็นพื้นที่เขียวไม่จริง ซึ่งชาวบ้านมารู้ก็ตอนทำอีไอเอของโรงไฟฟ้า ถึงได้ออกมาคัดค้าน แต่สุดท้ายอีไอเอก็ผ่าน และโรงไฟฟ้าก็ได้ใบอนุญาตไปแล้ว”
แนะท้องถิ่นเร่งทำ ‘ผังชุมชน’ ออกเป็นเทศบัญญัติ ก่อนโดนผังจังหวัดเบียด
แม้ความหวังที่จะให้ผังประเทศ ผังภาค หรือผังเมืองรวมจังหวัด คุ้มครองสิทธิชุมชนจะดูมืดมัว แต่ขอเสนอว่าชาวบ้านในพื้นที่สามารถปกป้องสิทธิและรักษาทรัพยากรท้องถิ่นของตนไว้ได้ ด้วยการทำ ‘ผังชุมชน’ ตามสภาพการใช้ประโยชน์ที่ดินจริงของแต่ละหมู่บ้านรวมกันเป็นตำบล โดยให้องค์การบริหารส่วนตำบล (อ.บ.ต.) หรือเทศบาล ออกข้อบัญญัติท้องถิ่นหรือเทศบัญญัติ โดยอาศัยอำนาจตามพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร หรือกฎหมายท้องถิ่นอื่น เพื่อควบคุมการใช้ประโยชน์พื้นที่ชุมชนแทนการรอเพียงผังเมืองรวมจังหวัด เช่นพื้นที่ชุมชนนี้ชาวบ้านไม่อยากให้มีโรงงานอุตสาหกรรม ก็ทำผังชุมชนขึ้นมา แต่ให้ท้องถิ่นออกข้อบัญญัติตามกฎหมายควบคุมอาคาร ห้ามก่อสร้างอาคารโรงงานในเขตพื้นที่นี้
ถามว่าหากถ้าผังชุมชนที่ออกเป็นเทศบัญญัติเพื่อคุ้มครองพื้นที่ให้เป็นเกษตรกรรมหรือชุมชน ขัดกับผังเมืองรวมจังหวัดที่กำหนดให้พื้นที่นั้นเป็นเขตอุตสาหกรรม ทางออกจะเป็นอย่างไร…
“อยู่ที่ว่าอะไรออกก่อน ถ้าผังชุมชนออกมาเป็นข้อบัญญัติท้องถิ่นว่าตรงนี้ห้ามก่อสร้างอาคาร ผังเมืองรวมจังหวัดประกาศใช้ทีหลังขัดแย้งกับข้อบัญญัติท้องถิ่น ก็ต้องมาดูว่าท้องถิ่นจะเห็นชอบกับผังจังหวัดแล้วแก้ข้อบัญญัติของตน หรือให้ผังจังหวัดเป็นฝ่ายแก้ไขให้เข้ากับท้องถิ่นเอง เป็นสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ และถ้ามีใครบิดเบือน คนในพื้นที่ก็จะรู้กัน แต่ถ้าเอาเรื่องท่าเรือปากบารามาตัดสินในห้องประชุมผังเมือง โดยคณะกรรมการผังเมืองส่วนกลาง ชาวบ้านปากบาราจะไม่มีทางรู้เลยว่ากลุ่มการเมืองหรือทุนรายใหญ่ไหนอยู่เบื้องหลังการตัดสินใจของคณะกรรมการบ้าง”
เวลานี้ชาวบ้านหลายชุมชนในหลายจังหวัด เริ่มตื่นตัวและเรียนรู้ที่จะทำผังชุมชนเพื่อคุ้มครองสิทธิของตนเอง เช่น ชาวท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ชาวจะนะ จ.สงขลา ซึ่งกำลังทำผังชุมชนเพื่อนำไปสู่การออกข้อบัญญัติท้องถิ่นก่อนที่ผังเมืองรวมจังหวัดจะประกาศใช้
“ถ้าชาวบ้านออกข้อบัญญัติท้องถิ่นห้ามก่อสร้างโรงไฟฟ้าได้ ถ้าโรงไฟฟ้าจะมาตั้งก็คงต้องสู้เหนื่อยหน่อย”
............................................
‘ภารนี สวัสดิรักษ์’ นักผังเมืองอิสระ สะท้อนว่าผังเมืองไม่ใช่เรื่องไกลตัว อาจหมายถึงโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ หรือโครงการอันไม่พึงประสงค์ที่จะมาตั้งอยู่ใกล้บ้านคุณ ดังนั้นเป็นเรื่องที่ภาคประชาชน ชุมชนต้องตื่นตัวมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจและจัดทำ โดยเฉพาะการจับตาอย่าให้มีการสบช่องใช้โอกาสระหว่างรอผังเมืองขยายพื้นที่อุตสาหกรรมรุกเกษตรกรรม-ชุมชน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :::
-'จับตาโยธาฯยกร่างกม.ผังเมืองใหม่ดึงผังปท.2600วางกรอบพัฒนาอุตฯ-ละเมิดสิทธิชุมชน' http://bit.ly/1620vwv
-'จี้โยธาอุดช่องโหว่อุตฯขยายระหว่างรอผังเมืองใหม่-ชงแก้ผังปท.2600' http://bit.ly/YkmreF
-‘ไม่เชื่อตัวเลขพื้นที่อุตฯโคราชแค่ 1% –ติงโยธาฯไม่ใช้กม.คุ้มครองพื้นที่เกษตร’ http://bit.ly/15rahrR
-‘อุตฯหวั่นพื้นที่เกษตร-ชุมชนรุกอุตสาหกรรม ร้อง มท.ทบทวนผังเมืองใหม่’ http://bit.ly/XTDLqA
-ทุนรุกซื้อพื้นที่สีเขียวเมืองชลฯ 6 พันไร่ เล็งสร้างนิคมอุตฯ ฉวยจังหวะโยธาฯชะลอผังเมือง http://bit.ly/X0Ff47
-'นักวิชาการแนะเร่งทำผังชุมชน หวั่นผังเมือง จว.ล้อผัง ปท.2006 เอื้อพื้นที่สีม่วง' http://bit.ly/Xc2uX4
-'ชี้โยธาฯถ่วงผังเมืองโคราช-ชลฯ+8จว.เอื้อทุนการเมือง-อุตสาหกรรม' http://bit.ly/WjadWI
ที่มาภาพ ::: http://www.pacificsmc.com/view_case.php?id=3