วงการสื่อชี้ องค์กรอิสระร่วมมือกับสื่อด้านข้อมูล ช่วยสร้างธรรมาภิบาล
บก.ข่าวโพสต์ทูเดย์เผยสื่อตีแผ่คดีทุจริตยาปี 2541 สำเร็จเพราะร่วมมือกับ ป.ป.ช. ส่วนรองประธาน คปก. ย้ำหัวใจสำคัญของสื่อในการตรวจสอบคือ ข้อมูลต่าง ๆ ที่เปิดเผยได้ ชี้รัฐธรรมนูญ 2550 ออกแบบองค์กรอิสระให้ไม่ยึดโยงกับประชาชน ขณะที่กรรมการ กสทช. ชี้ชวนสังคมร่วมตรวจสอบกสทช.ให้มากกว่านี้ได้
เมื่อเร็วๆ นี้ เว็บไซต์ประชาไทร่วมกับโครงการสะพาน จัดสัมมนา “15 ปี องค์กรอิสระ สำรวจธรรมาภิบาล สำรวจประชาธิปไตย” โดยมีผู้เข้าร่วมอภิปรายได้แก่ สุนี ไชยรส รองประธานกรรมการปฏิรูปกฏหมาย (คปก.) นาวสาวสุภิญญา กลางรณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และนายภัทระ คำพิทักษ์ บรรณาธิการข่าว หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์
นายภัทระ คำพิทักษ์ ผู้เคยมีบทบาทสำคัญในการขุดคุ้ยกรณีทุจริตยาเมื่อปี 2541 กล่าวว่า การขุดคุ้ยกรณีทุจริตยาดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงการทำงานร่วมกันระหว่างสื่อมวลชนกับ ป.ป.ช.จนนำไปสู่การนำนักการเมืองที่เกี่ยวข้องมาลงโทษได้ และว่า วัฒนธรรมประชาธิปไตยในสังคมไทยหลายอย่างยังไม่เกิดขึ้น เช่น ไม่มีการเปิดเผยข้อมูล เมื่อไม่เกิดสิ่งเหล่านี้องค์กรอิสระทั้งหลายจึงมีความจำเป็นต้องมีอยู่ แม้ตัวองค์กรอิสระหลายแห่งจะมีปัญหาเป็นที่ถกเถียงในสังคม แต่หากดูโดยภาพรวมจะเห็นว่าช่วงนี้ยังคงเป็นช่วงของการเรียนรู้ เป็นช่วงที่มีโจทย์เพิ่มขึ้นหลายอย่าง มีวิกฤตให้เราได้ทดลองหลายอย่าง ต้องใจเย็นในช่วงการลองผิดลองถูกขององค์กรอิสระทั้งหลาย
สุนี ไชยรส กล่าวว่า หัวใจสำคัญของสื่อในการตรวจสอบ คือ ข้อมูลต่าง ๆ ต้องเปิดเผยได้ต่อสาธารณะ กลไกขององค์กรอิสระ ตามรัฐธรรมนูญ 2540 จึงเกิดขึ้นบนแนวคิดว่า รัฐบาลต้องถูกตรวจสอบได้ตลอดเวลา การร่วมมือกันระหว่างองค์กรอิสระและสื่อมวลชนจะทำให้เกิดการไหลเวียนของข้อมูลข่าวสารในสังคมเพื่อส่งเสริมธรรมาภิบาลได้มาก โดยหลักการเราจึงต้องเน้นให้มีเสรีภาพสื่ออย่างสูงสุดในสังคมประชาธิปไตย ทั้งนี้รัฐธรรมนูญ 2550 ทำให้ที่มาและองค์ประกอบขององค์กรอิสระเพี้ยนจากเจตนารมณ์เดิม ด้วยการออกแบบให้ไม่ยึดโยงกับประชาชน แต่ส่วนใหญ่ยึดโยงกับศาลซึ่งมีบทบาทในการเลือกสรรองค์กรอิสระ
สุนียังหยิบยกประเด็นที่ฝากให้ประชาชนจับตา คือ กรณีที่คณะกรรมการกฤษฎีกาแก้ไขร่างกฎหมายคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่กำลังเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา โดยเพิ่มประโยคสำคัญที่แย่มากว่า ห้ามกรรมการสิทธิฯ เปิดเผยข้อมูลที่ได้มาจากการตรวจสอบ เท่ากับเป็นการล็อคมือล็อคเท้าไม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วม กรณีที่จะเปิดข้อมูลได้เฉพาะการให้การต่อศาล กับการจัดทำรายงานของกรรมการเท่านั้น
นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี กล่าวว่า ปัญหาสำคัญของการทำงานร่วมกับระหว่างสื่อและองค์กรอิสระคือ แม้องค์กรอิสระจะเป็นช่องทางข้อมูลที่สำคัญ แต่ยังมีปัญหาการประสานข้อมูล หรือการที่องค์กรอิสระมีเรื่องต้องเก็บรักษาความลับ ปัจจุบันสถาบันอิศราพยายามสร้างความร่วมมือกับ ป.ป.ช.ในการอบรมให้ความรู้ผู้สื่อข่าวถึงบทบาทหน้าที่และช่องทางการเข้าถึงข้อมูล แต่ก็ยังไม่มีการสร้างกระบวนการเชื่อมโยงข้อมูลอย่างเป็นรูปธรรม และเร็ว ๆ นี้ สถาบันอิศรากำลังจะสร้างความร่วมมือกับคณะกรรมการสิทธิฯ เป็นลำดับต่อไป
น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กล่าวถึงสถานะความเป็นองค์กรอิสระของ กสทช. ว่ามีความอิสระกว่าหลายองค์กร แต่ศักดิ์ศรีในทางราชการไม่เท่าองค์กรอิสระอื่น ๆ เพราะไม่ได้เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ โดยมีลักษณะคล้าย ๆ รัฐวิสาหกิจ ซึ่งมีรายได้เป็นของตัวเองโดยไม่ต้องขอจากรัฐสภา ข้อดีของการมีรายได้เองคือ อิสระจริง ไม่ง้อทุนจากภาครัฐ แต่ข้อด้อยคือทำให้องค์กรใช้เงินมือเติบและไม่ได้รับการตรวจสอบอย่างเข้มข้น ปัจจุบัน กสทช.กลายเป็นองค์กรที่ใช้งบโฆษณามาก ควรให้มีการตรวจสอบรายปีโดยรัฐสภา นอกจากนี้ ถ้ามีการปรับแก้ พ.ร.บ.กสทช. ต้องระบุในกฎหมายให้ละเอียด ให้หลายอย่างต้องเปิดเผยต่อสาธารณะมากกว่านี้ เช่น การเดินทางไปต่างประเทศของกรรมการ กสทช. หรือข้อมูลรายงานการประชุมไปจนถึงคำอธิบายต่อการตัดสินใจลงมติต่าง ๆ ของ กสทช. ทั้งหมดนี้ก็เพื่อความโปร่งใส