ดร.ฉลองภพ สอน ‘คลัง-ธปท.’ บริหารนโยบายการเงิน อย่าพุ่งเป้าดอกเบี้ยเป็นหลัก
นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ ชี้การส่งออก กลายเครื่องยนต์หลักอันเดียวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย จี้ปรับโครงสร้างให้สมดุล เพิ่มบทบาทการลงทุนภาครัฐ หลังพบมีสัดส่วนต่ำมาตลอด
วันที่ 1 มีนาคม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดเวทีเสวนาสาธารณะ หัวข้อ "ค่าเงินบาทกับโครงสร้างเศรษฐกิจระยะยาว" โดย ดร.ฉลองภพ สุสังกรกาญจน์ นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ ปาฐกถาพิเศษเรื่อง "ค่าเงินบาทกับยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศ" ณ ห้องประชุมชั้น 2 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
ดร. ฉลองภพ กล่าวตอนหนึ่งถึงอัตราแลกเปลี่ยน มีความสำคัญสูงกับประเทศที่เศรษฐกิจพึ่งพิงการส่งออกสูง เช่น ประเทศไทย และมีผลมากต่อความได้เปรียบในการแข่งขันสำหรับสินค้าที่ใช้แรงงานเป็นหลัก เห็นได้ชัดว่า เศรษฐกิจไทยพึ่งพาต่างประเทศมากขึ้น ก่อนวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 สัดส่วนการส่งออกต่อ GDP อยู่ที่ร้อยละ 45 แต่ปัจจุบันขึ้นไปถึงร้อยละ 75
"ที่สำคัญยิ่งกว่านั้น เมื่อดูโครงสร้างในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ก็เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง จากตัวเลขสัดส่วนการบริโภคต่อ GDP ก่อนและหลังวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 ค่อนข้างคงที่ อยู่ที่ร้อยละ 63-65 และแม้สัดส่วนการส่งออกต่อ GDP จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่สิ่งที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด คือ สัดส่วนการลงทุนต่อ GDP จากร้อยละ 40-45 ปัจจุบันอยู่ร้อยละ 20-25 ซึ่งถูกลดความสำคัญลงไป" นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ กล่าว และว่า เครื่องยนต์มีอยู่อันเดียวในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ก็คือ การส่งออก ฉะนั้น หากมีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสมดุล มีเครื่องยนต์หลายอัน ความสำคัญที่อยากจะให้อัตราแลกเปลี่ยนเป็นไปในทางหนึ่งทางใดก็จะลดลงไป โดยเฉพาะเราจำเป็นต้องเพิ่มบทบาทการลงทุนภาครัฐขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วย หลังจากคงที่มาตลอด หากเพิ่มการลงทุนของภาครัฐขึ้นให้ได้ร้อยละ 5 ของ GDP ก็จะเท่ากับประมาณปีละ 570,000 ล้านบาท หรือประมาณ 4 ล้านล้านบาทใน 7 ปีข้างหน้า
ดร. ฉลองภพ กล่าวถึงความขัดแย้งทางความคิดระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลัง ในการการบริหารนโยบายการเงิน ด้วยว่า อัตราดอกเบี้ย เป็นเพียงหนึ่งในหลายๆ เครื่องมือที่สามารถนำมาใช้ในการดำเนินนโยบายทางการเงิน ดังนั้น ควรต้องดูเครื่องมือต่างๆ ให้ครบ ทั้ง ดอกเบี้ยนโยบาย, อัตราแลกเปลี่ยน ,การกำหนดปริมาณเงินสำรอง (Reserve Requirement) ที่ต้องทำงานร่วมกัน ประสานกันระหว่างคณะกรรมการนโยบายการเงิน และคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน และการควบคุมเงินทุนเคลื่อนย้าย (Capital Control) และใช้อย่างผสมผสานกัน
"ตัวดอกเบี้ยอย่างเดียวทำทุกอย่างไม่ได้ หากดูเป็นแพ็กเก็จ จะทำให้การทำงานระหว่าง ธปท.กับกระทรวงการคลัง ลงตัว และง่ายขึ้น"
ขณะที่ดร. สมชัย จิตสุชน ผู้อํานวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง ทีดีอาร์ไอ กล่าวถึงค่าเงินบาทแข็ง นับเป็นโอกาสที่ดีในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ด้วยการนำเข้าเทคโนโลยีมายกระดับอุตสาหกรรมไทย พร้อมแสดงความเห็นด้วยนโยบายการเงินต่างๆ นั้น ไม่ควรพูดเรื่องดอกเบี้ยอย่างเดียว รวมทั้งอยากเห็นธปท.และกระทรวงคลัง ถกเถียงกันด้วยความคิดสร้างสรรค์
ส่วนผศ. ดร. สมประวิณ มันประเสริฐ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า อัตราแลกเปลี่ยน ไม่ได้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนเงินอย่างเดียว แต่ปัจจุบันอัตราแลกเปลี่ยนเป็น 'สินทรัพย์' ลงทุนประเภทหนึ่ง จึงมีความผันผวนค่อนข้างมาก
"เราไม่ควรกังวลเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนแข็งหรืออ่อน ตราบใดที่ยังคงสะท้อนปัจจัยโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจของประเทศได้ เป็นตัวกลางทำธุรกรรมระหว่างประเทศได้ แต่สิ่งที่เราควรกังวล ทำอย่างไรอัตราแลกเปลี่ยนสะท้อนอยู่ในมูลค่าที่ควรจะเป็น"ผศ. ดร. สมประวิณ กล่าว พร้อมแสดงความเป็นห่วง นโยบายที่เกี่ยวข้องกับอัตราแลกเปลี่ยนไม่โปร่งใส มีการแอบแทรกแซง ช่วยประคับประคองการส่งออกมาตลอด และตั้งคำถามบ้านเราแทรกแซงมากไปหรือไม่
ทั้งนี้ ในช่วงท้าย ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ กล่าวถึงปัญหาใหญ่ของ Capital Control คือพูดได้ แต่ทำยาก พร้อมมีข้อเสนอถึงรัฐบาล ควรมีการทำบัญชีทุกครั้งที่เงินทุนไหลเข้าประเทศ เช่น เข้ามาเมื่อไหร่ อย่างไร พร้อมออกกฎหมายขึ้นมาด้วย หากเงินไหลเข้ามาแล้ว ขาออก (ช่วงวิกฤต) รัฐบาลจะสงวนสิทธิ์ให้เงินทุนที่เข้ามานาน ออกได้เสรีก่อน แต่สำหรับเงินทุนไหลเข้าระยะสั้นนั้น จะถูกควบคุม เป็นต้น