'โคทม' หนุนองค์อิสระมีความจำเป็น ไม่ควรตัดออกจาก รธน.
อดีตกก.ป.ป.ช. มอง 15 ปี องค์กรอิสระเป็นนวัตกรรมที่แหวกแนวคิดแบบเดิมๆ มีความเด่นเฉพาะที่ นอกจาก 3 อำนาจหลักคือ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ
(1 มี.ค.) ที่โรงแรมพลาซ่า แอทธินี มีการเสวนา “15 ปี องค์กรอิสระ สำรวจธรรมาภิบาลไทย สำรวจประชาธิปไตย” จัดโดยโครงการสะพานร่วมกับเว็บไซต์ประชาไท เพื่อการพูดคุยถกเถียงอย่างเปิดกว้างและตรงไปตรงมาเกี่ยวกับองค์กรอิสระที่สำคัญ ๆ ของไทย เช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ฯลฯ
นายโคทม อารียา อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวว่า บทบาทขององค์กรอิสระยังคงมีความจำเป็น เพื่อถ่วงดุลตรวจสอบฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารที่มักกินรวบอำนาจเป็นฝ่ายเดียวกัน ในช่วงที่จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่น่าสนใจคือ จะออกแบบอย่างไรให้ยึดโยงกับประชาชนแต่ไม่เสียความเป็นอิสระ
สำหรับปัญหาเรื่องขอบเขตอำนาจขององค์กรอิสระนั้น นายโคทม กล่าวว่า ไม่ควรนำองค์กรอิสระออกจากรัฐธรรมนูญ แต่ควรมีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญรองรับว่าองค์กรใดควรมีฐานะเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับองค์กรอิสระได้ง่ายขึ้นหากมีความจำเป็น ในส่วนของการตรวจสอบองค์กรอิสระนั้น ปัจจุบันการเงินมีระบบตรวจสอบอยู่แล้ว นอกจากนี้ยังสามารถตรวจสอบได้โดยศาล ส่วนประชาชนก็สามารถเข้าชื่อกันเพื่อถอดถอนได้ และเรื่องสำคัญคือการปลอดการแทรกแซงจากการเมืองได้หรือไม่นั้น หากองค์กรอิสระมีความเข้มแข็ง มีผลงานดี ประชาชนสนับสนุน ก็จะเป็นภูมิคุ้มกันที่ดี
ศ.เมธี ครองแก้ว อดีตคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวว่า จากการที่ตนเองเป็นกรรมการ ป.ป.ช. มา 6 ปี คิดว่าองค์กรอิสระเป็นนวัตกรรมที่แหวกแนวคิดแบบเดิมๆ การเกิดขึ้นขององค์กรอิสระคือการสร้างฐานอำนาจที่ 4 ที่มีความเด่นเฉพาะที่ นอกจาก 3 อำนาจหลักคือ นิติบัญญัติ บริหารและตุลาการ ซึ่งทั้ง 3 อำนาจในไทยมีความไม่สมบูรณ์ในการทำงานไม่สามารถแก้ไขปัญหาในตัวมันเอง จึงต้องสร้างฐานอำนาจที่ 4 เพื่อสร้างความถ่วงดุล ส่วนกระบวนการตรวจสอบองค์กรอิสระนั้น จากประสบการณ์การทำงานเห็นว่า ไม่มีปัญหา ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของผู้ทำงานมีอยู่แล้ว ไม่ต้องกังวล รวมทั้งกรรมการภายในก็มีการตรวจสอบกันเองอยู่แล้ว นอกจากนี้ยังถูกตรวจสอบโดยวุฒิสภาได้ และว่าทุกครั้งที่ ป.ป.ช.มีการชี้มูลความผิดต่อนักการเมืองหรือข้าราชการระดับสูง ก็จะถูกฟ้องกลับทุกครั้ง รวมทั้งมีการทำรายงานต่อสภาและแถลงต่อประชาชนทุกปี เราทำงานด้วยความระมัดระวังที่สุด ไม่มีการลุแก่อำนาจ
นายจาตุรนต์ ฉายแสง ประธานสถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย กล่าวว่า ปัญหาสำคัญคือ องค์กรอิสระหลังรัฐธรรมนูญไม่อิสระจริง เนื่องจากมีที่มาจากการเห็นชอบของ คมช. จึงกลายเป็นองค์กรมีสังกัด ถูกผลักให้เกื้อหนุนการเมืองฝ่ายหนึ่งและไม่เกื้อหนุนฝ่ายหนึ่ง ส่วนปัญหาการตรวจสอบองค์กรอิสระนั้น การฟ้องศาลอย่างเดียวไม่เพียงพอ เพราะหลายเรื่องฟ้องศาลไม่ได้ เช่น การตรวจสอบ ป.ป.ช.ว่าเลือกปฏิบัติ เมื่อไปร้องกับ ส.ว.เพื่อทำหน้าที่ถอดถอน แต่ปรากฏว่าเป็น ส.ว.สรรหา ที่ประธาน ป.ป.ช.เป็นกรรมการสรรหา ส.ว. นั้นเสียเอง กลไกนี้ก็ล้มเหลว และเมื่อมีการถกเถียงเรื่องนี้ซึ่งเกี่ยวพันกับเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญด้วยนั้น โดยสภาพทำให้องค์กรอิสระย่อมอยู่กับข้างที่ไม่ต้องการแก้รัฐธรรมนูญ