ชาวบ้านหวั่นสันติภาพกำมะลอ สันติบาลชี้เริ่มพูดคุยดีกว่ารอป่วนรายวัน
แม้กระบวนการพูดคุยสันติภาพเพื่อดับไฟใต้จะเริ่มนับหนึ่งแล้ว ถึงขั้นมีการลงนามระหว่างฝ่ายความมั่นคงไทยกับบุคคลที่อ้างว่าเป็นแกนนำขบวนการบีอาร์เอ็น ซึ่งนับเป็นนิมิตหมายอันดี แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ากระบวนการนี้ขาดการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน ทำให้ผู้คนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่เชื่อมั่นว่าสันติภาพจะเกิดขึ้นจริง
นายอิสมาแอ กาลอ ชาวบ้านจาก จ.ปัตตานี กล่าวว่า ไม่เชื่อว่ากระบวนการพูดคุยครั้งนี้จะส่งผลดีกับปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ เพราะเป็นการพูดคุยกับแกนนำพูโล (ชาวบ้านเชื่อว่านายฮัสซัน ตอยิบ ผู้ร่วมลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนงเข้าสู่กระบวนการพูดคุยสันติภาพ เป็นแกนนำองค์กรพูโล ไม่ใช่บีอาร์เอ็น และยังสับสนกับการปรากฏตัวของนายกัสตูรี มาห์โกตา ผู้อ้างตัวว่าเป็นประธานองค์กรพูโล ที่ให้สัมภาษณ์พิเศษผ่านรายการข่าวทางโทรทัศน์ช่องหนึ่งด้วย) ซึ่งพูโลไม่มีบทบาทในพื้นที่มานานแล้ว และการเคลื่อนไหวในพื้นที่ชายแดนใต้มีหลายกลุ่มหลายองค์กรเข้ามาเกี่ยวพัน
"ปัญหาภาคใต้คุยยาก คุยแล้วจะยาว เชื่ออะไรไม่ค่อยได้ อยู่เฉยๆ ดีกว่า ขอให้ยางแพงก็พอ (หมายถึงราคายางพารา) ถ้าคุยกันแค่นี้คิดว่ายังไงก็ไม่จบ เชื่อว่ารัฐบาลชุดนี้ทำเพื่อตัวเอง ไมได้มองชาวบ้านเลย” นายอิสมาแอ ระบุ
อดีตแกนนำ นศ.เชื่อจัดฉากเพราะโดนกดดัน
นายตูแวดานียา ตูแวแมแง อดีตแกนนำนักศึกษาชายแดนใต้ มองว่า การพูดคุยที่มาเลเซียเป็นการจัดฉากเพื่อสนองความต้องการขององค์กรระหว่างประเทศที่มากดดันรัฐบาลไทยอยู่ เป็นการกระทำเพื่อให้เห็นว่ารัฐบาลไม่ได้เพิกเฉยกับปัญหาภาคใต้ ประกอบกับโลกเองก็กดดันรัฐไทยอย่างหนักและต่อเนื่อง ทำให้ต้องเปิดเวทีพูดคุย
"ผมคิดว่าไม่น่าจะส่งผลอะไรกับกระบวนการสันติภาพ ทั้งยังเห็นว่าการเปิดเวทีพูดคุยแบบนี้เป็นการยกระดับขบวนการในพื้นที่ให้มากขึ้นด้วย จากเมื่อก่อนเป็นการพูดคุยอย่างลับๆ ไม่เป็นทางการ แต่ครั้งนี้มีการดำเนินการที่ชัดเจน เสียงดัง และทำให้เห็นว่ารัฐบาลไทยเป็นเจ้าภาพในการแก้ปัญหา" นายตูแวดานียา กล่าว
บ่นรัฐไปเจรจากับใครไม่เห็นรู้จัก
ขณะที่ชาวบ้านจาก อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ซึ่งขอสงวนนาม บอกว่า ท่าทีของการพูดคุยครั้งนี้มองได้ 2 มุม มุมหนึ่งเหมือนรัฐให้โอกาสกับคนที่มีความคิดเห็นแตกต่าง แต่อีกมุมหนึ่งคนในพื้นที่มองเชิงลบ เพราะเชื่อว่าจะไม่ได้ผลอะไร ทำแล้วไม่ได้เกิดประโยชน์ เสียเงินเปล่าๆ คนในพื้นที่ไม่รู้จักคนที่บอกว่าจะเจรจา อย่าง นายกัสตูรี มาห์โกตา หรือนายฮัสซัน ตอยิบ มีคนมาถามว่าเป็นใคร ชาวบ้านไม่รู้จักว่ารัฐไปคุยกับใคร
"รัฐน่าจะเอาเวลามาแก้ปัญหาปากท้องให้ชาวบ้านดีกว่า น่าจะได้ประโยชน์กว่าไปเจรจากับใครก็ไม่รู้" ประชาชนจาก อ.โคกโพธิ์ กล่าว
กังขา "ฮัสซัน ตอยิบ" จากพูโลเป็นบีอาร์เอ็น
ด้านข้าราชการฝ่ายปกครองในพื้นที่ชายแดนใต้รายหนึ่ง กล่าวว่า เท่าที่มีข้อมูลทราบว่า นายฮัสซัน ตอยิบ เคยเป็นคนสนิทของแกนนำขบวนการบีอาร์เอ็นบางปีก และยังอยู่ตรงกันข้ามกับแกนนำบีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนตด้วย เชื่อว่าจากบทบาทที่ผ่านมาของนายฮัสซัน ไม่น่าจะมีอิทธิพลกับกลุ่มที่ก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ขณะนี้
"จากการพูดคุยกับคนในพื้นที่บอกว่าไม่มีใครรู้จักนายฮัสซัน และอีกอย่างที่ทำให้สงสัยคือตำแหน่งเปลี่ยนไป จากเดิมบอกว่าเป็นพูโลมาตลอด ก่อนหน้าจะมีวันนี้รู้แต่ว่าเขาอยู่พูโลสายเก่า แต่มาวันนี้กลับเป็นบีอาร์เอ็น"
สันติบาลไม่กังวล"ตัวปลอม" – ชี้พูดคุยดีกว่าอยู่เฉย
พล.ต.ท.สฤษฎ์ชัย เอนกเวียง ผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล กล่าวว่า ไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่อง “ตัวจริง-ตัวปลอม” เพราะกระบวนการพูดคุยต้องทำกับทุกกลุ่มที่มีความคิดเห็นแตกต่างจากรัฐ ซึ่งไม่จำเป็นว่ากลุ่มเหล่านั้นมีอิทธิพลต่อการก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่หรือไม่
"ถึงไม่มีการพูดคุย เหตุรุนแรงก็เกิดอยู่แล้ว ฉะนั้นริเริ่มพูดคุยน่าจะดีกว่า เพราะหากประสบความสำเร็จก็จะแก้ปัญหาในพื้นที่ได้" ผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล ระบุ
เมื่อถามว่า ได้ตรวจสอบข้อมูลจากเจ้าหน้าที่สันติบาลในพื้นที่หรือยังว่ากระแสตอบรับที่มีต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพเป็นอย่างไร พล.ต.ท.สฤษฎ์ชัย กล่าวว่า ยังไม่ได้สอบถามจากเจ้าหน้าที่ แต่เชื่อว่ากระแสตอบรับน่าจะดี ส่วนเหตุรุนแรงที่หลายฝ่ายเกรงว่ากลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการพูดคุยเจรจาจะเร่งสร้างสถานการณ์เพื่อส่งสัญญาณคัดค้านการพูดคุยนั้น มองว่าเป็นเรื่องปกติ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงก็พยายามป้องกันเหตุร้ายทุกรูปแบบอยู่แล้ว ที่ผ่านมาก็ทำได้ดี มีบางเหตุการณ์เท่านั้นที่หลุดรอดจนก่อความสูญเสียได้ แต่ก็เป็นเรื่องที่ต้องยอมรับ
เอ็นจีโอหนุนพูดคุย – ติงไม่ควรรีบตีปี๊บ
นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ จากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ซึ่งทำงานด้านให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายและสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ชายแดนใต้ กล่าวว่า เห็นด้วยกับการพูดคุยสันติภาพ และอยากเสนอให้รัฐบาลขยายวงพูดคุยไปหลายๆ กลุ่ม รวมทั้งองค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) ด้วย
"คิดว่าการลงนามกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐที่มาเลเซียน่าจะเป็นแนวโน้มที่ดี แต่น่าจะเรียกว่าสัญญาสุภาพบุรุษมากกว่า หรือสัญญาสุภาพชนก็ได้ และอยากเรียกร้องให้สื่อมวลชนเลิกพาดหัวข่าวว่าเจรจากับโจรใต้ หรือกบฏใต้ เพราะเป็นคำที่ละเอียดอ่อนและส่งผลกับกระบวนการสันติภาพ"
ส่วนที่มีบางฝ่ายมองว่าการพูดคุยสันติภาพน่าจะเข้าข่ายเป็น "สนธิสัญญา" ที่รัฐบาลต้องนำเรื่องเข้าขอความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อนนั้น นางสาวพรเพ็ญ มองว่า ข้อตกลงเพื่อเข้าสู่กระบวนการพูดคุยไม่เข้าข่ายเป็นสนธิสัญญา และไม่ได้มีผลกระทบกับอาณาเขตประเทศไทยหรืออธิปไตยไทย เพราะพื้นฐานก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าเป็นข้อตกลงตามรัฐธรรมนูญไทย อย่างไรก็ดี เห็นว่าการทำข้อตกลงเบื้องต้นน่าจะทำกันลับๆ ก่อน ไม่ควรรีบเร่งจัดแถลงข่าวเหมือนเล่นลิเก
"ดิฉันคิดว่าถึงที่สุดแล้วกระบวนการพูดคุยสันติภาพแบบไทยๆ อาจจะเวิร์คก็ได้ และเชื่อว่าคนในกองทัพจำนวนไม่น้อยที่เห็นด้วย เพราะมิฉะนั้นก็ต้องรบกันไปอีก 30 ปี เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นในติมอร์ตะวันออก อาเจะห์ และซูดาน" นางสาวพรเพ็ญ กล่าว
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : เยาวชนมุสลิมผู้ที่ต้องรับผลแห่งอนาคตของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้