นักวิชาการหนุน “ลดราคาจำนำข้าว 1.3หมื่น/ตัน” นายกฯชาวนาเปรยลุกฮือต้าน
นักวิชาการหนุน “รบ.เตรียมลดราคาจำนำข้าว 1.3หมื่น/ตัน” แก้สภาพคล่องรัฐ-ทวงแชมป์ส่งออก ด้านนายกฯชาวนาค้าน-ไม่เชื่อโซนนิ่งเพาะปลูกทำต้นทุนลด-ผลผลิตเพิ่ม เปรยไม่มีมาตรการชัดเจนระวังชาวนาลุกฮือ
วันที่ 28 ก.พ.56 นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย ให้สัมภาษณ์ในรายการ "ตรงประเด็นเที่ยง" กรุงเทพธุรกิจทีวี ถึงกรณีที่มีข่าวคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ(กขช.) จะพิจารณาปรับลดราคารับจำนำข้าวเปลือกนาปรังปี 56 ให้รัฐบาลปรับลดมาที่ตันละ 13,000 บาท ให้ใกล้เคียงกับราคาตลาดตันละ 10,000 บาท ว่าตนได้สอบถามชาวนาบางส่วน บางคนรับได้ บางคนไม่ยอมรับ เพราะตั้งแต่รัฐบาลรับจำนำข้าวตันละ 15,000 ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นด้วย เช่น ค่าเช่านา ที่เคยเสียปีละ 1,000 บาทเพิ่มเป็น 2,000 บาท ค่าแรงต่างๆก็เพิ่ม ซึ่งที่ราคาจำนำ 15,000 บาทก็ไม่ได้ทำให้ชาวนาหมดหนี้สิน เพราะ 80% ทำนาเช่า เจ้าของนาเห็นราคาข้าวขึ้นสูงก็เอานาคืนไปทำเอง เจ้าของนาไม่เดือดร้อน แต่คนที่เช่านาเดือดร้อนมาก รัฐบาลเอาเงินไปใช้อย่างอื่นตั้งเยอะ แค่มาช่วยชาวนาตรงนี้ก็จะมาลดแล้ว ไม่มีเหตุผลพอ ชาวนาคงรับไม่ได้
นายกสมาคมชาวนา ยังกล่าวถึงกรณีที่อ้างว่าต้นทุนผลิตข้าวจากนี้จะลดลงหลังจากมีการกำหนดโซนนิ่งเพาะปลูกข้าวในแต่ละชนิดให้เหมาะกับพื้นที่ ว่าตนคุยมาหลายรัฐบาลแล้วเรื่องการจัดโซนนิ่งและลดต้นทุน แต่ไม่เคยทำ จะมาพูดตอนนี้ลดตรงนี้เลยทำไม่ได้ เพราะแผนต่างๆยังไม่มีว่าจะลดต้นทุนอย่างไร เพิ่มผลผลิตแบบไหน ต้องกำหนดมาเลยเช่น ต้นทุนที่ชาวนาสูงถึง 6,500-7,000 บาท ตอบได้ไหมว่าจะลดเหลือ 4,000 บาท และทำให้ได้ผลผลิต 800-900 กิโลกรัมเท่าเดิมที่ต้นทุน 4,000 บาท
"ชาวนา 80% เช่าเขาทำ แล้วนาหนึ่ง 30-35 ไร่ขึ้นไป ถ้าจะทำโซนนิ่งต้องรวมเป็นแปลงใหญ่ไม่ต่ำกว่า 200 - 300 ไร่ รัฐบาลมีแนวทางอย่างไร รัฐบาลมีแนวคิดหรือยังว่าจะทำอย่างไร มันต้องมีระบบให้ชัดเจน ไม่ใช่ประกาศอย่างเดียวแต่ทำไม่ได้"
นายประสิทธิ์ ยังกล่าวถึงทางออกของปัญหานโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาล ว่าเราต้องรู้ปัญหาก่อนว่าคืออะไร 1. เราทำนาเช่าเป็นจำนวนมาก 2.ต้นทุนสูง ต้องลดต้นทุน 3.ผลผลิตตกต่ำ จะเพิ่มผลผลิต รัฐบาลจะมาลดราคาจำนำเหลือ 13,000 แล้วจะมีแนวทางช่วยเหลือชาวนาในเรื่องอะไร เช่น สนับสนุนต้นทุนให้ก่อนในช่วงนี้ หรือเอาปุ๋ยราคาถูกมาให้ชาวนา เรื่องประกันภัยพืชผล สวัสดิการชาวนา
"ประกันภัยพืชผล ชาวนาลงทุนไป 4 พัน แต่พอพืชผลเสียหายรัฐบาลมาช่วยเพียง 400-600บาท ไม่คุ้มค่า เอาเลยถ้าลงทุน 4 พัน เกิดผลผลิตเสียหายมารัฐบาลจะเข้าไปช่วย 70-80% ของที่เสียไป และส่วนหนึ่งชาวนาต้องมีทุนเข้าไปสมทบในเรื่องของประกันภัยหรือเรื่องสวัสดิการชาวนา มันต้องชัดเจนก่อนประกาศ ถ้าประกาศแล้วเอาเลยมันจะมีแรงต่อต้าน แล้วชาวนาจะลุกมาแน่นอน ถ้าความชัดเจนที่จะช่วยตรงนี้ไม่มี ขอฝากไปถึงรัฐบาลต้องคิดให้รอบคอบ"
ในอีกด้านหนึ่ง นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่าการรับจำนำข้าวสูงถึงตันละ 15,000 บาท แม้จะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้น และเพิ่มกำลังการซื้อได้แล้ว แต่ทำให้ราคาข้าวไทยในตลาดโลกสูงกว่าหลายประเทศ ส่งผลให้การส่งออกตกจากอันดับหนึ่งลงมาอยู่อันดับ 3 ของโลก
"รัฐบาลได้ดำเนินการตามที่หาเสียงไว้แล้ว เมื่อสถานการณ์และความเป็นอยู่ของเกษตรกรดีขึ้น จึงควรปรับลดเพดานราคาลงมาเพื่อลดการใช้งบประมาณ และแก้ไขปัญหาสภาพคล่องของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) ลดปริมาณข้าวที่เข้ามาในสต็อก การส่งออกข้าวของไทยน่าจะดีขึ้นได้" .
ที่มาภาพ : http://bit.ly/ZL6aGt