คาดค่าแรง 300 บ.ทำจีดีพีขยับ 0.64-1.29% รายได้เกษตรกรเพิ่ม 18-22%
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจคาดค่าแรง 300บ.เพิ่มจีดีพี 0.64-1.29% รายได้เกษตรกรเพิ่ม 18-22% ไม่เลิกจ้างเหมือนอุตฯ แนะปรับตัวลดต้นทุนเลือกใช้เทคโนโลยี-รวมกลุ่มใช้แรงงานชุมชน จี้ รบ.เฝ้าระวังสินค้าแพง
วันที่ 28 ก.พ. 56 ที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ดร.จารึก สิงหปรีชา ผู้อำนวยการศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร เปิดเผยถึงอนาคตภาคการเกษตรไทยภายใต้นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ว่า จากกรณีเมื่อ 20 พ.ย. 55 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการค่าจ้างได้มีมติยืนยันตามมติเดิมเมื่อ 17 ต.ค. 54 ให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บ.ใน 70 จังหวัดทั่วประเทศ ตั้งแต่ 1 ม.ค. 56 และให้คงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไว้เป็นเวลา 2 ปี ตั้งแต่ 2557-58
นโยบายดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจมหภาค โดยทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าโดยรวมสูงขึ้น ส่งผลให้ระดับราคาสินค้าโดยทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น ขณะเดียวกันยังทำให้ระดับรายได้ของภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้น ถือเป็นการกระตุ้นการบริโภคของภาคครัวเรือนโดยตรง ส่งผลให้มีการใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น อย่างไรก็ตามระดับรายได้ที่เพิ่มขึ้นของภาคครัวเรือนมีอัตราสูงกว่าระดับอัตราเงินเฟ้อ ส่งผลให้ภาพรวมดัชนีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ที่แท้จริงเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 0.64-1.29 ซึ่งผลของนโยบายดังกล่าวจะเป็นผลดีของระบบเศรษฐกิจประเทศ
สำหรับภาพรวมผลกระทบต่อภาคเกษตร พบว่าค่าแรง 300 บาททำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 6-16 ได้แก่ ข้าวนาปี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ถั่วเหลือง อ้อย ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ไม้ผล ปศุสัตว์ และประมง ด้านระดับราคาสินค้าเกษตรปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 12-19 โดยอ้อยและน้ำตาลเป็นสินค้าที่คาดว่าจะมีราคาเพิ่มขึ้นมากที่สุด ร้อยละ 19 รองลงมา คือ ข้าว ผัก ผลไม้ และมันสำปะหลัง ขณะที่รายได้ของภาคครัวเรือนเกษตรมีแนวโน้มสูงขึ้นร้อยละ 18-22 ซึ่งจะอยู่ในกลุ่มปศุสัตว์ พืชน้ำมัน และพืชไร่
ทั้งนี้รายได้ภาคครัวเรือนเกษตรจะเพิ่มขึ้นมากกว่าระดับราคาสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นคาดการณ์ว่า นโยบายดังกล่าวจะส่งผลให้เกิดอัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นในระยะสั้น 4-6 เดือน แสดงว่าจะไม่ก่อให้เกิดปัญหาอย่างรุนแรงกับภาคการเกษตร ไม่ทำให้เกิดการเลิกจ้างแรงงานในภาคการเกษตรเหมือนอุตสาหกรรม
อย่างไรก็ตาม ภาคการเกษตรไทยยังต้องปรับตัวเพื่อการรับมือนโยบายดังกล่าว โดยต้องพัฒนาศักยภาพแรงงานเกษตรให้เลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อลดต้นทุนการผลิต เพิ่มปริมาณและคุณภาพผลผลิต ซึ่งแนวทางพัฒนาเครื่องจักรกลและเทคโนโลยีการเกษตรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นนโยบายสำคัญที่จะสนับสนุนภาคเกษตรได้ นอกจากนี้ต้องจัดหาแหล่งเงินทุนเพื่อพัฒนาการผลิตที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อสนับสนุนการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกที่อาศัยเงินทุนจำนวนมาก และส่งเสริมการรวมกลุ่มในระดับเกษตรชุมชน เช่น การใช้แรงงานชุมชนในการเก็บเกี่ยวผลผลิต
อีกทั้งรัฐบาลต้องควบคุมดูแลและเฝ้าระวังราคาสินค้าอุปโภค บริโภคปรับตัวสูงขึ้นตามค่าแรงอย่างต่อเนื่อง เพราะอาจทำให้ผู้บริโภคเดือดร้อน ที่สำคัญควรส่งเสริมให้เกษตรกรพึ่งตนเองและใช้แรงงานในครัวเรือนเป็นหลัก ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีงานทำตลอดปีและช่วยลดต้นทุนการผลิตจากค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มขึ้น ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ
ส่วนข้อกังวลผลกระทบจากค่าแรงขั้นต่ำจะทำให้แรงงานภาคเกษตรย้ายไปทำงานในภาคอุตสาหกรรมนั้น คงเป็นไปได้ยาก เพราะแรงงานภาคอุตสาหกรรมจำเป็นต้องใช้ศักยภาพในการทำงานค่อนข้างสูง แต่สำหรับแรงงานภาคอุตสาหกรรมอาจมีการย้ายมาภาคเกษตรได้.
ที่มาภาพ:http://www.innnews.co.th/images/news/2012/2/413693-01.jpg