ชุมชนรอบสถานีรถไฟฟ้าจี้ ชะลอใช้ผังเมืองรวมกทม.ฉบับล่าสุด
จากกรณีที่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนขยายจากสถานีหัวลำโพงแนวเส้นทางผ่านถนนเจริญกรุง โดยมีสถานีที่สำคัญ 2 สถานีคือ สถานีวัดมังกรและสถานีวังบูรพา โดยบริเวณรอบสถานีในรัศมี 500 เมตร เป็นบริเวณที่ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครฉบับใหม่ที่จะประกาศใช้ในเดือนพฤษภาคมนี้ ตีกรอบให้การพัฒนาหนาแน่นเฉพาะรอบสถานีเท่านั้น ทำให้ชาวชุมชนเจริญไชยที่ตั้งอยู่บนถนนเจริญกรุงและอยู่ในรัศมีการพัฒนารอบสถานีวัดมังกร กังวลว่าชุมชนและอาคารเก่าแก่จะถูกทำลายจนสูญสิ้นความเป็นชุมชน โดยที่ผ่านมาได้ขับเคลื่อนขบวนการภาคประชาชนต่อสู้คัดค้านมาโดยตลอดนั้น
วานนี้ (27 ก.พ.) เครือข่ายอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรม จัดงานเสวนาทางวิชาการเรื่อง “ฟื้น (ราก) ชาวกรุง?” ขึ้นที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สี่แยกปทุมวัน โดยมีนักวิชาการ ตัวแทนชุมชนต่าง ๆ ในกรุงเทพมหานครเข้าร่วมเสนอข้อมูลและแนวทางในการแก้ไขปัญหา
ศิริณี อุรุนานนท์ คณะทำงานกลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูชุมชนเจริญไชย กล่าวว่า พื้นที่ชุมชนเจริญไชย มีอาคารเก่าที่มีคุณค่าจำนวนมาก และเป็นแหล่งจำหน่ายสินค้าทางวัฒนธรรมประเพณีแบบจีนแหล่งสำคัญในกรุงเทพมหานคร แต่ล่าสุดผังเมืองที่จะประกาศใช้ในเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้ ระบุว่าบริเวณรอบสถานีรถไฟฟ้าในรัศมี 500 เมตร สามารถสร้างอาคารขนาดใหญ่ถึงหนึ่งหมื่นตารางเมตรขึ้นไปได้ รวมทั้งการอนุญาตสร้างอาคารบางประเภทอย่างที่ไม่เคยอนุญาตมาก่อน เช่น โรงแรม ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ แม้จะมีกฎหมายควบคุมความสูงอยู่ที่ 37 เมตร แต่ขนาดความใหญ่ไม่จำกัด ถ้าปล่อยให้ผังเมืองเกิดขึ้น ตึกสูงสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดแนวถนนเจริญกรุงช่วงที่พาดผ่านพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ และในความเป็นจริงรัศมี 500 เมตรรอบสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินทั้งสองสถานี คือสถานีวัดมังกรกมลาวาศกับสถานีวังบูรพา กินพื้นที่กว่าครึ่งของย่านเยาวราช จึงเกรงว่าชุมชนดั้งเดิมจะถูกทำลายจากการเวนคืนที่ดิน
ภารณี สวัสดิรักษ์ นักผังเมืองอิสระ กล่าวว่า ผังเมือง กทม.ที่จะออกแน่นอนว่าชุมชนเจริญไชยจะถูกทำลาย จึงมีข้อเสนอว่า ถ้าประชาชนคิดว่าผังเมืองไม่คุ้มครองเสรีภาพในการประกอบอาชีพ ก็ต้องช่วยกันหยุดอย่าให้ผังเมืองถูกประกาศใช้ นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญมาตรา 43 ที่ ระบุถึงเสรีภาพในการประกอบกิจการ ประกอบอาชีพ ต้องได้รับการคุ้มครองผลกระทบที่จะเกิดจากการบังคับใช้ผังเมืองด้วย ดังนั้นกฎกระทรวงของผังเมืองรวมจะใหญ่กว่าบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญไม่ได้
ด้านนายวรชัย พิลาสรมย์ ตัวแทนจากชมุชนวัดกัลยาณ์ กล่าวว่า ขอให้ช่วยชะลอผังเมือง อย่าเพิ่งออก เพราะไม่มีการกลั่นกรองว่าพื้นที่ใดเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ที่มีคุณค่าบ้าง ขอให้รอผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนใหม่มาก่อน แล้วค่อยผลักดันผังเมืองนี้อีกครั้ง
นายพงษ์สวัสดิ์ อักษรสวาสดิ์ กรรมการผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์กฎหมายสิ่งแวดล้อมประเทศไทย กล่าวว่า การต่อสู้ทางกฎหมาย ต้องใช้มาตรา 67 ของรัฐธรรมนูญเป็นข้อเรียกร้องว่า โครงการของรัฐต่าง ๆ แม้จะอ้างว่ามีผลดีทางเศรษฐกิจ แต่ต้องไม่กระทบต่อการดำรงอยู่ของชุมชน ซึ่งรัฐธรรมนูญได้รับรองไว้ด้วยคำว่า “สิทธิชุมชน” เช่นเดียวกับที่รับรอง “สิทธิมนุษยชน” เพราะสิทธิชุมชนมีอยู่เองโดยธรรมชาติตั้งแต่พื้นที่นั้น ๆ มีสภาพเป็นชุมชน และรัฐธรรมนูญมารับรองสิทธินั้นทีหลัง
ขณะที่ รศ.ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงสิทธิชุมชนและสิทธิของบุคคลที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญมาตรา 66 และ 67 ว่า บุคคลมีสิทธิในการมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชน ในการคุ้มครอง รักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้โดยไม่ได้รับอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพหรือคุณภาพชีวิต การดำเนินโครงการที่จะก่อผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ต้องมีการศึกษาและประเมินผลกระทบ มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อน
อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.ธ.กล่าวอีก ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ กทม. ก็ยังมีมาตรา 290 ที่ระบุว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังมีอำนาจหน้าที่ในการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมด้วย
“ถ้าไม่มีกฎหมายกำหนดไว้ รัฐธรรมนูญก็เข้าไปคุ้มครองเสมือนว่ามีอยู่ เราจึงสามารถอ้างรัฐธรรมนูญว่าเป็นบทบัญญัติคุ้มครองขั้นต่ำได้ ซึ่งหมายความว่าการดำเนินโครงการใด ๆ ก็ตามในเขตกรุงเทพมหานคร ชุมชนหรือท้องถิ่นมีสิทธิมีส่วนร่วม สามารถฟ้องต่อศาลปกครองให้สั่งระงับยับยั้งได้ ประชาชนสามารถใช้สิทธิที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้ได้ แต่ที่สำคัญคือชุมชนต้องรวมกันได้ก่อนแล้วชุมชนต้องยืนยันในสิทธิของตัวเอง
เป็นสิทธิเดียวกับที่ชาวมาบตาพุดใช้ฟ้องร้องนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดต่อศาล ให้หยุดการก่อสร้างโรงงานจนกว่าจะมีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและองค์กรกลางว่า โครงการต่าง ๆ จะไม่กระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนในพื้นที่อย่างรุนแรงเกินไป ซึ่งเป็นคดีตัวอย่างว่า ศาลก็รับฟ้องจากประชาชน” รศ.กิตติศักดิ์ กล่าว
(อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง จับตาโยธาฯยกร่างกม.ผังเมืองใหม่ดึงผังปท.2600วางกรอบพัฒนาอุตฯ-ละเมิดสิทธิชุมชน)