กษ.เตือนน้ำแล้ง อย่าปลูกข้าวนาปรังเข้าโครงการจำนำเกินปีละ 2 ครั้ง
กษ.เตรียมแผนรับมือภัยแล้ง เตือนปลูกข้าวนาปรังเข้าโครงการจำนำปีละไม่เกิน 2 ครั้ง ของบ กบอ.10ล้านสร้างอาชีพชดเชยเกษตรกร 8 เขื่อนอีสานงดปลูกพืชฤดูแล้ง จับมือ กฟผ.ปล่อยน้ำเขื่อนแก้วิกฤติไฟฟ้า
วันที่ 26 ก.พ. 56 ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (รมว.กษ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูงของ กษ.ถึงการแก้ปัญหาสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ว่า กษ.ยังคงยืนยันให้เกษตรกรงดปลูกพืชฤดูแล้งในพื้นที่ 8 เขื่อน (ได้แก่ อ่างห้วยหลวง เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนลำปาว อ่างเก็บน้ำมูลบน เขื่อนลำตะคอง อ่างเก็บน้ำลำแซะ อ่างเก็บน้ำกระเสียว และอ่างเก็บน้ำปราณบุรี) โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสาน โดยการทำฝนเทียมขณะนี้ยังไม่สามารถทำได้เนื่องจากอาจทำให้พืชผลเสียหายเนื่องจากอยู่ในช่วงฤดูการเก็บเกี่ยวพืชผล อย่างไรก็ดีกรมชลประทานยืนยันว่ายังสามารถควบคุมปริมาณน้ำในช่วงแล้งนี้ได้
โดยกรมชลประทานได้ของบประมาณจากคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย(กบอ.)10 ล้านบาทเพื่อสนับสนุนอาชีพโดยจ้างแรงงานท้องถิ่นหรือเกษตรกรซึ่งเคยเพาะปลูกพืชฤดูแล้งในพื้นที่ 8 เขื่อนให้ทำงานกับกรมชลประทาน เช่น การขุดลอกทำความสะอาดคลอง โดยคาดว่าจะได้รับการอนุมัติงบประมาณเร็วๆนี้ สำหรับ 33อ่างเก็บน้ำทั่วประเทศขณะนี้มีปริมาณน้ำ 42,688 ล้านลบ.ม. แบ่งเป็นน้ำที่ใช้การได้ 19,189 ล้านลบ.ม. หรือร้อยละ 27 จากความจุอ่างทั้งหมด(ณ วันที่ 25 ก.พ.56)
นางพรรณพิมล ชัญญานุวัตร อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยความคืบหน้าแผนการจัดสรรน้ำในการปลูกพืชฤดูแล้งปี 2555/56 ว่า ขณะนี้ผลการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งทั้งประเทศทั้งในและนอกเขตชลประทานยังเป็นไปตามเป้าหมาย จากที่กำหนดพื้นที่เพาะปลูกไว้ 16.62 ล้านไร่ แบ่งเป็นนาปรัง 13.99 ล้านไร่ พืชไร่พืชผัก 2.63 ขณะนี้(ณ วันที่ 22 ก.พ. 56)สามารถปลูกข้าวนาปรังได้ 13.31 ล้านไร่ พืชไร่พืชผักร้อยละ 2.04 ล้านไร่ รวมปลูกแล้ว 15.35 ล้านไร่ หรือร้อยละ 92.31 ของแผนการเพาะปลูกทั้งหมด
ทั้งนี้สถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นช่วงม.ค.–ก.พ.ในพื้นที่ จ.เชียงราย และอุตรดิตถ์นั้น เกษตรกรได้รับผลกระทบ 1,300 ราย คาดว่ามีพื้นที่เสียหายนอกเขตชลประทาน 9,400 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ปลูกพืชไร่ 9,300 ไร่ ปลูกข้าว 100 ไร่ ทั้งนี้ขอเตือนให้เกษตรกรที่จะปลูกข้าวนาปรังเพื่อเข้าโครงการรับจำนำข้าวปลูกข้าวไม่เกินปีละ 2 ครั้งตามนโยบายรัฐบาลเท่านั้น หากเกษตรกรมาขึ้นทะเบียนเกิน 2 ครั้งระบบจะไม่ขึ้นทะเบียนให้
ด้านนายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวเพิ่มเติมถึงการรับมือในวิกฤตขาดแคลนพลังงานว่า นอกจากเขื่อนต่างๆ ที่มีการผลิตกระแสไฟฟ้าอยู่เดิมแล้ว เช่น เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ ที่ขณะนี้ไม่สามารถระบายน้ำในแต่ละอ่างฯ เกินวันละ 20 ล้านลูกบาศก์เมตร/วัน ได้ เนื่องจากต้องรักษาระดับการเก็บกักน้ำในอ่างฯนั้น กรมชลประทานได้ทำบันทึกความเข้าใจร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)ในการติดตั้งเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าบริเวณประตูระบายน้ำเพื่อสร้างกระแสไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 6 แห่ง ได้แก่ เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท โดยขณะนี้ได้เริ่มเปิดดำเนินการแล้วและผลิตไฟฟ้าได้ 78 เมกะวัตต์/วัน ส่วนอีก 5 แห่งอยู่ระหว่างก่อสร้างและดำเนินการ ได้แก่ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนแควน้อย เขื่อนแม่กลอง เขื่อนนเรศวร และเขื่อนขุนด่านปราการชล
อนาคตคาดว่าจะขยายความร่วมมือกับกฟผ.หรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเพื่อติดตั้งเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าไปยังเขื่อนต่างๆที่มีศักยภาพอีกกว่า 30 แห่ง ซึ่งแม้ว่าปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้จากพลังงานน้ำจะมีสัดส่วนเพียง 5 % ของการผลิตกระแสไฟฟ้าจากแหล่งทรัพยากรอื่น แต่ก็ช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าอีกทางหนึ่ง
ทั้งนี้กรมชลประทานได้ร่วมมือกับกฟผ.เพิ่มปริมาณการระบายน้ำในเขื่อนภาคตะวันออก เช่น เขื่อนวชิราลงกรณ์ เพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้าเพิ่มในช่วงที่ประเทศพม่าและไทยจะมีการปิดซ่อมท่อแก๊สรวม 27 วันโดยที่เดิมมีการระบายน้ำจากเขื่อนเฉลี่ยวันละ 22 ล้านลบ.ม.เป็นวันละ 35 ล้านลบ.ม. รวมปริมาณน้ำที่ระบายทั้งสิ้น 384 ล้านลบ.ม. คิดเป็นพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้ 62.95 GWh (กิกะวัตต์-ชั่วโมง) ซึ่งเมื่อคิดราคาเป็นน้ำมันเตาจะมีมูลค่า418 ล้านบาท หรือ 15.5 ล้านบาทต่อวัน และหากคิดราคาเป็นน้ำมันดีเซลจะมีมูลค่า 632 ล้านบาท หรือ 23.4 ล้านบาทต่อวัน โดยกฟผ.ได้ตกลงแลกเปลี่ยนให้กรมชลประทานใช้ไฟฟ้าฟรี 2.5 แสนหน่วยใน 1 ปี
ที่มาภาพ ::: http://www.mcot.net/site/content?id=50bc87e4150ba0400d0001df#.USyYCzecrlc