10 ปีบ้านมั่นคงสานฝัน 286 ชุมชนเมือง-69 ชนบท โชว์ 12 ต้นแบบศูนย์เรียนรู้
มอบรางวัล 12 ต้นแบบศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านมั่นคง เผย 10ปีโครงการฯ สานฝัน 286 ชุมชนเมือง-69ชนบทมีที่อยู่อาศัย ชาวบ้านมีวินัยการเงินหนี้เสียไม่ถึง 1% คนครบุรีร้องรัฐแก้ปัญหาอุทยานฯทับลานทับที่ทำกิน
วันที่ 26 ก.พ. 56 ที่ รร.เซ็นทราคอนเวนชันเซ็นเตอร์ศูนย์ราชการ ถ.แจ้งวัฒนะ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ร่วมกับสหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ (สอช.) และเครือข่ายการแก้ไขปัญหาที่ดินแนวใหม่ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองแห่งชาติ (คทช.) จัดงาน ‘10 ปี บ้านมั่นคง ผนึกพลังคนจนเมือง-ชนบทสู่การจัดการตนเองของชุมชนท้องถิ่น’ เพื่อสรุปบทเรียนการดำเนินงานของขบวนองค์กรชุมชนในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน โดย ดร.อินทร์ริตา นนทะวัชรศิริโชติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง เป็นประธานมอบโล่รางวัล ‘เมืองจัดการตนเอง’ แก่ 12 เมืองที่บริหารจัดการตนเองด้านการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยดีเด่น จนสามารถเป็นศูนย์การเรียนรู้แก่ชุมชนอื่น
ได้แก่ เครือข่ายบ้านมั่นคงเมืองเชียงราย เป็นเมืองที่มีการจัดตั้งกองทุนพัฒนาที่อยู่อาศัย กองทุนคุ้มครองรักษาบ้านและดิน กองทุนสวัสดิการชุมชนระดับเมือง และกองทุนฟื้นฟูภัยพิบัติ, เครือข่ายบ้านมั่นคงเมืองน่าน เป็นเมืองที่มีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการระดับเมือง กองทุนพัฒนาที่อยู่อาศัยเมืองน่าน การพัฒนาที่อยู่อาศัยเมืองเก่า การฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม เพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือง, เครือข่ายบ้านมั่นคงนครอุดรธานี เป็นเมืองที่มีการจัดตั้งกองทุนรักษาบ้านรักษาดิน กองทุนสวัสดิการระดับเมือง การเชื่อมโยงแกนนำ และกองทุนทีมอาสา การบริหารองค์กรและการพัฒนาคน, เครือข่ายบ้านมั่นคงเมืองชุมแพ เป็นเมืองที่แก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยทั้งเมือง จนจัดตั้งกองทุนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยระดับเมือง ที่พัฒนาระบบจนได้รับการสมทบกองทุนจากมูลนิธิ ACHR, เครือข่ายบ้านมั่นคงนครอุบลราชธานี เป็นเมืองที่จัดการที่อยู่อาศัยให้กับคนไทยและคนต่างด้าว กองทุนสวัสดิการชุมชนที่ดูแลทั้งคนไทยและต่างด้าว กองทุนธนาคารคนจน เครือข่ายพัฒนาชุมชนเมืองนครสวรรค์ เป็นเมืองที่นำประสบการณ์พัฒนากองทุนสวัสดิการชุมชน ส่งเสริมอาชีพ กองทุนภัยพิบัติ จนได้รับการสมทบกองทุนจากมูลนิธิ ACHR,
เครือข่ายบ้านมั่นคงเมืองหน้าพระลาน เมืองที่มีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนระดับเมือง กองทุนภัยพิบัติ กองทุนพัฒนาอาชีพ, เครือข่ายบ้านมั่นคงเมืองหัวหิน เป็นเมืองที่ใช้ประเด็นการแก้ไขปัญหาในที่ดินรถไฟเชื่อมโยงกับชุมชนเมือง สู่การจัดตั้งกองทุนชุมชนระดับเมือง , กองทุนเมืองเกาะขวาง เป็นกองทุนหมุนเวียนแก้ไขปัญหาด้านอาชีพ เป็นศูนย์เรียนรู้ชุมชน มีการพัฒนาเป็นวิสาหกิจชุมชน คือ โรงผลิตน้ำ เลี้ยงไก่ไข่ เลี้ยงปลา ปลูกผัก, เครือข่ายองค์กรชุมชนเมืองภาษีเจริญ เป็นเมืองที่มีกองทุนจัดการภัยพิบัติ สิ่งแวดล้อม อาชีพ และต่อต้านยาเสพติด, กองทุนเมืองเทศบาลนครรังสิต เป็นเมืองพัฒนาการปลูกข้าวลอยน้ำ การจัดทำสื่อเพื่อเผยแพร่ทางเคเบิลท้องถิ่น และเครือข่ายบ้านมั่นคงเมืองสงขลา เป็นเมืองที่ใช้ประเด็นการแก้ไขปัญหาในที่ดินรถไฟสู่การจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนระดับเมือง นอกจากนี้ยังมอบรางวัล ‘กองทุนแห่งความดี’ แก่องค์กรที่มีระบบการบริหารจัดการภายในองค์กรที่ดี จำนวน 212 องค์กรด้วย
และยังมีการเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ซึ่ง นางอร่ามศรี จันทร์สุขศรี ตัวแทนสอช. กล่าวว่าปัจจุบันกระบวนการแก้ไขปัญหาด้านที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินของโครงการบ้านมั่นคงครอบคลุม 70 จังหวัด 286 เมือง จากจำนวนผู้เดือดร้อนที่มีการสำรวจในปี 50 ทั้งสิ้น 840 เมือง โดยเป็นงบประมาณด้านการปรับปรุงพัฒนาระบบสาธารณูปโภค 3,092 ล้านบาท สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย 5,459 ล้านบาท มีผู้ได้รับประโยชน์ 366 องค์กร สำหรับการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินในภาคชนบทมีพื้นที่ดำเนินการ 72 จังหวัด 69 พื้นที่โดยทำงานร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่นเป็นหลัก
โดย สอช.พยายามยกระดับการทำงานให้ครอบคลุมการพัฒนาโครงการบ้านมั่นคงในทุกมิติ เช่น ส่งเสริมให้มีการออมทรัพย์เพื่อเป็นระบบสวัสดิการชุมชน และพัฒนาเป็นกองทุนสวัสดิการระดับเมือง ปัจจุบันมี 65 กองทุนระดับเมือง มีสมาชิก 17,513 ครัวเรือน นอกจากนี้ยังจัดให้มีกองทุนรักษาดิน รักษาบ้าน ที่มีการบริหารจัดการโดยชุมชนทั้งหมด 94 กองทุน 12,864 ครัวเรือน กองทุนสมทบรวม 2,652,260 บาท ซึ่งที่ผ่านมากองทุนได้ช่วยเหลือสมาชิกที่ประสบปัญหากรณีเสียชีวิตแล้ว 14 ครัวเรือน 1,171,125 บาท ช่วยเหลือกรณีภัยพิบัติ 681 ครัวเรือน 1,085,993 บาท และกองทุนทุพลภาพ 9 ครัวเรือน 46,399 บาท
นายธนัช นฤพรพงศ์ ผู้จัดการสำนักงานบริหารกองทุนและสินเชื่อ พอช. กล่าวว่าการบริหารจัดการเงินและสินเชื่อสหกรณ์เป็นสิ่งสำคัญในการสร้างบ้านและสร้างชุมชนตามแนวทางของโครงการบ้านมั่นคง โดยการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพของชาวบ้านพิสูจน์แล้วว่าทุกสหกรณ์ชุมชนสามารถผ่อนชำระหนี้กู้ยืมเงินสร้างบ้านคืน พอช.ได้ครบถ้วน มีอัตราสินเชื่อผิดนัดในโครงการเฉลี่ยไม่ถึง 1% เมื่อเปรียบเทียบกับอัตราสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ผิดนัดในระบบของสถาบันการเงินอื่นราว 5-10% หรือสินเชื่อผิดนัดในสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐมีอัตราสูงกว่านี้ แสดงให้ห็นว่าคนจนสามารถบริหารจัดการกองทุนได้โปร่งใสมีประสิทธิภาพ
นางเดือนเพ็ญ ดวงศรี ตัวแทนเครือข่ายบ้านมั่นคงนครอุบลราชธานี กล่าวถึงความคืบหน้าการยุติโอนย้ายโครงการบ้านมั่นคงจากความดูแลของ พอช.ไปยังสำนักงานการเคหะแห่งชาติ ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ยืนยันให้โครงการฯ อยู่ในความรับผิดชอบของพอช.ตามเดิมนั้น สอช.ขอรอดูท่าทีจากรัฐบาลก่อน เพราะกลัวถูกหลอก ซึ่งเครือข่ายคนจนไร้ที่อยู่อาศัยจะต้องทวงถามมติครม.ถึงประเด็นดังกล่าวอีกแน่นอน
“โครงการบ้านมั่นคงให้สิทธิชาวบ้านบริหารจัดการเงินกองทุน บุคลากร และสภาพแวดล้อมเอง จนสามารถสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นในชุมชนได้ แต่หากโอนย้ายไปอยู่กับการเคหะฯ การบริหารจัดการจะใช้ระบบเดียวกับบ้านเอื้ออาทร ซึ่งขึ้นตรงกับภาครัฐ โดยชาวบ้านไม่มีสิทธิ” ตัวแทนเครือข่ายฯ อุบลราชธานี กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่านายสุรสิทธิ์ ลื่นกลาง ตัวแทนชาวบ้านต.ลำเพียก อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา พร้อมชาวบ้าน 10 คน เข้ายื่นหนังสือกับนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ฝากถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้ตรวจสอบการประกาศเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานทับซ้อนที่ดินทำกิน จนทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนไม่มีที่อยู่อาศัย ซึ่งเรียกร้องให้มีการปักปันเขตป่าใหม่ โดยชาวบ้านมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจของรัฐ.
ที่มาภาพ:http://www.rsunews.net/userfiles/images/ชุมชนแออัด.jpg