อ่านเกมรัฐ "เจรจาดับไฟใต้"
ชัดเจนขึ้นเป็นลำดับเกี่ยวกับการเดินทางไปมาเลเซียหนนี้ของ นายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าน่าจะมีข่าวดีเรื่อง "นับหนึ่ง" กระบวนการพูดคุยสันติภาพ หรือ peace talk กับกลุ่มขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน และกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ
โดยเป็นการต่อยอดผลการประชุมประสานงานของระดับเจ้าหน้าที่ที่มี พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาฯ สมช. พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาฯ ศอ.บต. และนายทหารจากกระทรวงกลาโหมที่มีความเชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน และคลุกอยู่ "วงใน" การเจรจาสันติภาพที่อาเจะห์ ร่วมเป็นคณะทำงาน
แม้จะมี กัสตูรี มาห์โกตา ที่อ้างตัวว่าเป็นประธานขบวนการพูโล โผล่จอโทรทัศน์บ้านเรามาให้แม่ทัพภาคที่ 4 ได้ขุ่นเคืองเล็กๆ แต่การเดินหน้าเรื่อง "พูดคุยสันติภาพ" เป็นกระบวนการที่ต้องทำใจไว้แต่ต้นว่าจะต้องมีทั้ง "ตัวปลอม" และ "ตัวจริง" โผล่ออกมาเรื่่อยๆ กว่าสถานการณ์จะนิ่งและ "คลิก" ลงตัว
มีประเด็นที่หลายฝ่ายเป็นห่วง นั่นก็คือการไปพูดคุยกับกลุ่มขบวนการที่ "อยู่ข้างนอก" ซึ่งค่อนข้างมีหลักฐานยืนยันชัดเจนว่าเป็น "กลุ่มเก่า" ที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีอำนาจสั่งการกลุ่ม "แนวร่วมรุ่นใหม่" ที่เคลื่อนไหวก่อความรุนแรง "อยู่ข้างใน" จะทำให้สถานการณ์บานปลายเหมือนเมื่อครั้งที่ "ใครบางคน" ดอดไปเจรจาที่มาเลย์จนเป็นต้นเหตุของ "คาร์บอมบ์หาดใหญ่-ยะลา" เมื่อ 31 มีนาฯปีที่แล้วหรือไม่
ยิ่งพื้นที่ชายแดนใต้นาทีนี้ กำลังคุกรุ่นรอวันระเบิดจากกรณีที่วัยรุ่นและคนหนุ่มในขบวนการต่อต้านรัฐไทยซึ่งเรียกตัวเองว่า "จูแว" จำนวนมาก ไม่พอใจเหตุการณ์วิสามัญฆาตกรรม 16 ศพที่หน้าฐานปฏิบัติการนาวิกโยธิน อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส
ผมเองก็เดาไม่ออกว่าสถานการณ์ในระยะสั้นจะพลิกผันไปอย่างไร แต่เท่าที่พูดคุยกับ "คนใน" ของหน่วยงานความมั่นคง ทำให้ได้ทราบ "ยุทธศาสตร์" หรือ "การเดินเกม" ของรัฐบาลอยู่พอสมควร จึงขอเอามาถ่ายทอดดังนี้
- รัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงเองก็ทราบว่า พวกที่ "อยู่ข้างนอก" ส่วนใหญ่ไม่ใช่ตัวจริง แม้จะเคยมีอิทธิพลสูงในอดีต แต่ปัจจุบันเป็นคนละเรื่อง ทว่าการเปิดโต๊ะเจรจาจะเป็นการ "ล็อค" ไม่ให้กลุ่มนี้หวนกลับมาเคลื่อนไหวอีก
- การให้ความสำคัญกับมาเลเซียในฐานะเสมือนเป็น "ตัวกลางการเจรจา" ย่อมส่งผลให้องคาพยพต่างๆ ของมาเลย์หยุดสนับสนุนขบวนการก่อเหตุรุนแรงในฝั่งไทยไปด้วยในตัว ขณะที่มาเลย์ก็เพิ่งได้รับการยอมรับอย่างสูงในกระบวนการเจรจาสันติภาพจนนำไปสู่ "ข้อตกลงหยุดยิง" ระหว่างรัฐบาลฟิลิปปินส์กับกลุ่มโมโรด้วย
- อีกด้านหนึ่งรัฐก็ใช้กลไก ศอ.บต.เข้าไปช่วยเหลือดูแลผู้ประกอบการร้าน "ต้มยำกุ้ง" เพื่อปิดช่องทางการให้ความช่วยเหลือทั้งเม็ดเงินและที่หลบซ่อน ซึ่งต้องยอมรับว่าที่ผ่านมามีผู้ประกอบการบางส่วนให้การสนับสนุนจริง เมื่อบวกกับข้อตกลงที่ไทยจะทำกับมาเลย์เรื่อง "คนสองสัญชาติ" ก็จะทำให้การเคลื่อนไหวข้ามแดนทำได้ยากขึ้นกว่าเดิม
- พร้อมกันนี้รัฐบาลก็จะใช้กลไกลของกระทรวงการต่างประเทศ ทำความเข้าใจกับ "โอไอซี" หรือ องค์กรความร่วมมืออิสลาม ให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อไทยให้บทบาทมาเลย์ในฐานะ "ตัวกลางเจรจา" มาเลย์ซึ่งเป็นชาติมุสลิมหนึ่งในสมาชิกโอไอซี ย่อมช่วยไทยในเวทีโอไอซีอีกแรง (ขณะที่ "คดีซาอุฯ" รัฐบาลก็กำลังทำอย่างขะมักเขม้น)
- ทั้งหมดนี้คือยุทธศาสตร์ปิดล้อมกลุ่มขบวนการในพื้นที่ ตัดการสนับสนุนช่วยเหลือจาก "ข้างนอก" ให้หมด เหมือนเมื่อครั้งที่ไทยเคยทำสำเร็จมาแล้วในสงครามปราบคอมมิวนิสต์ ด้วยการไปเจรจากับจีนให้หยุดการสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
ส่วนขบวนการที่เคลื่อนไหวอยู่ "ข้างใน" ก็มีทั้งมาตรการทางทหารกับกลุ่มที่ใช้ความรุนแรง และมีมาตรการทางกฎหมาย คือ มาตรา 21 พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ กับกลุ่มที่พร้อมวางอาวุธ เปิดทางให้กลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติสุขกับครอบครัว
นี่คือ "แผนยุทธศาสตร์" ที่วางเอาไว้ หากมีอุปสรรคปัญหาระหว่างทางบ้างก็คงต้องค่อยๆ คลี่คลายกันไป แต่ที่น่าตกใจคือเกือบทั้งหมดนี้เป็นการทำงานของ "ฝ่ายประจำ" ขณะที่ "ฝ่ายการเมือง" ยังไม่ได้สำแดงฝีมือให้เห็นเด่นชัด
คำถามก็คือ เจตจำนงทางการเมืองของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยแรงพอที่จะผลักดันให้สถานการณ์ก้าวพ้นความรุนแรงรายวัน ไปสู่โจทย์เจรจาสันติภาพได้หรือไม่?
-------------------------------------------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้ตีพิมพ์ในคอลัมน์แกะรอย หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ปกโฟกัส ฉบับวันอังคารที่ 26 กุมภาพันธ์ 2556
บรรยายภาพ : เหตุการณ์กลุ่มบุคคลลึกลับปักธงชาติมาเลเซียเกือบ 300 จุดในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อวันที่ 31 ส.ค.2555 สะท้อนให้เห็นถึงความเกี่ยวพันกันหลายบริบทระหว่างไทยกับมาเลเซียในปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้