“เพียรพร ดีเทศน์” :คำถามถึงทุนข้ามชาติ เขื่อนข้ามพรมแดน ธรรมาภิบาลในอุษาคเนย์
"นักลงทุนไม่ได้คิด ว่าป่าผืนนี้ แม่น้ำสายนี้
เป็นของผู้คนในภูมิภาคที่ใช้ร่วมกันมานับร้อยนับพันปี
คิดแค่เรื่องเขตแดนประเทศ"
“เพียรพร ดีเทศน์” หรือ “ไผ่” เกิดภายใต้ครอบครัวของผู้ที่ทำประโยชน์เพื่อผู้อื่น ทั้งแม่ที่เป็นครู ผู้ที่สังคมไทยรู้จักดีคือ “เตือนใจ ดีเทศน์” และพ่อที่เป็นหัวหน้าหน่วยสงเคราะห์ชาวเขา จึงไม่แปลกที่ชีวิตจะถูกหล่อหลอมให้เดินบนเส้นทางสายเดียวกัน
วันนี้เธอกลายเป็นนักกิจกรรมทางสังคมที่ทำงานด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม งานเพื่อปกป้องทรัพยากรธรรมชาติให้คงอยู่อย่างยั่งยืนไปชั่วลูกชั่วหลาน เพราะเธอเชื่อมั่นว่า “ทุน” ที่ไร้ธรรมาภิบาล คือศัตรูที่ร้ายแรงที่สุด ที่จะหวนกลับมาทำลายมนุษย์เสียเอง
ในงานปาฐกถามูลนิธิโกมลคีมทอง ประจำปี 2556 เพียรพร ดีเทศน์ ได้รับเลือกให้เป็นองค์ปาฐก “เขื่อนข้ามพรมแดน ทุนข้ามชาติ คำถามถึงธรรมาภิบาลในอุษาคเนย์”
บนเวทีเดียวกันกับที่ผู้เป็นแม่เคยมาแสดงปาฐกถาไว้เช่นกันเมื่อ 28 ปีก่อน โดยในวันนี้เพียรพรเล่าเรื่องของเธอ ท่ามดวงตาที่คลอด้วยน้ำตาแห่งความตื้นตัน...
แม่น้ำสาละวินเป็นแม่น้ำแห่งชาติพันธุ์ เพราะไหลผ่านบ้านของชาติพันธุ์ต่าง ๆ อย่างน้อย 13 กลุ่ม ตั้งอยู่ห่างไกลศูนย์กลางอำนาจของทั้ง 3 ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นปักกิ่ง กรุงเทพฯ หรือย่างกุ้ง และความไม่สงบทางการเมืองในพม่า แม่น้ำสาละวินจึงติดอันดับ 1 ใน 10 แม่น้ำสายยาวบนโลกที่ยังคงไหลอย่างอิสระ ปราศจากเขื่อนกั้น
อย่างไรก็ตาม มีการวางแผนจะสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำสาละวินเพื่อผลิตไฟฟ้าถึง 13 โครงการในจีน และ 6 โครงการในพม่าและบนพรมแดนไทย-พม่า โดยโครงการที่พวกเราทำงานรณรงค์ในช่วงนั้นคือ โครงการเขื่อนท่าซาง ในรัฐฉาน โครงการเขื่อนสาละวินชายแดนไทย-พม่า ตอนบนและตอนล่าง และโครงการเขื่อนฮัตจีในรัฐกะเหรี่ยง เป็นการลงทุนของเอกชนจีนและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
แต่โครงการเหล่านี้กลับปราศจากข้อตกลงในการใช้แม่น้ำร่วมกัน ทำให้เกิดความกังวลใจในผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับระบบนิเวศ และประชาชนตลอดกลุ่มชาติพันธุ์ตลอดลุ่มน้ำสาละวิน โดยเฉพาะประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ชนกลุ่มน้อยในพม่า
ที่ผ่านมามีรายงานมากมายที่ระบุถึงการเพิ่มขึ้นของกองทัพพม่าในพื้นที่ชนกลุ่มน้อยในนามของโครงการพัฒนา ตามมาด้วยการละเมิดสิทธิมนุษยชนในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การรีดนาทาเร้น การบังคับอพยพ การสังหาร การบังคับใช้แรงงาน และการข่มขืน
ในพื้นที่บางแห่งของรัฐกะเหรี่ยงซึ่งเป็นพื้นที่สงคราม ประชาชนต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ ซึ่งหมายถึงผู้ที่ต้องละทิ้งบ้านเรือนเพื่อหนีการสู้รบอย่างน้อย 1 ครั้งต่อปี
...ชาวบ้านและผู้หนีภัยความตายเหล่านี้ อาจไม่มีบ้าน เรือกสวนผืนนาให้กลับไปหาอีก หากมีการสร้างเขื่อนบนแม้น้ำสาละวิน
นอกจากแม่น้ำสาละวินแล้ว อีกงานหลักของพวกเธอ คือ การปกป้องแม่น้ำโขง
แม่น้ำโขง...สายน้ำที่ยาวที่สุดในอุษาคเนย์ ซึ่งมีโครงการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงทางตอนบนในจีน ที่จีนเดินหน้าก่อสร้างไปทีละเขื่อน ทีละเขื่อน ก็เพียงพอที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงแก่แม่น้ำโขง แม้แต่ระดับน้ำที่ควรจะขึ้นลงตามฤดูกาล ที่บัดนี้กลับถูกกำหนดโดยการผลิตไฟฟ้าของเขื่อนที่อยู่ห่างออกไปในอีกประเทศหนึ่ง ทำลายวงจรการอพยพปลานับร้อยชนิด ความรู้และศิลปะในการใช้ระบบนิเวศของชาวบ้าน ไม่สามารถใช้ได้อีกต่อไป
อย่างเช่น “เขื่อนไซยะบุรี” สร้างกั้นแม่น้ำโขงในแขวงไซยะบุรี ประเทศลาว เป็นเขื่อนแห่งแรกที่สร้างบนแม่น้ำโขงตอนล่างจากแผนใหญ่ทั้งหมด 12 โครงการ ซึ่งมีรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ระบุว่า การประมงในลุ่มน้ำโขงตอนล่างเป็นการประมงน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในโลก ปลาส่วนใหญ่เป็นปลาที่อพยพตามระดับน้ำตามฤดูกาลต่าง ๆ บางพื้นที่พบว่า มีการอพยพของปลาหนาแน่น 30 ตันต่อชั่วโมง ด้วยปริมาณขนาดนี้จะไม่สามารถมีบันไดปลาโจน หรือทางผ่านปลาใด ๆ ที่จะทดแทนได้ หากมีการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง
และที่น่าสนใจ การศึกษาระบุว่า หากสร้างเขื่อนทั้ง 12 เขื่อน ก็จะสามารถผลิตไฟฟ้าได้เพียง 11 เปอร์เซ็นต์ของความต้องการในภูมิภาคเท่านั้น ในขณะที่มีประชาชนมากถึง 2.1 ล้านคนอาศัยอยู่ในระยะ 5 กิโลเมตรจากแม่น้ำโขงที่จะได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะผลกระทบต่อวิถีชีวิต วัฒนธรรม และความเป็นชุมชน
ในยุคที่ประเทศต่าง ๆ กำลังพยายามเปิดเสรีให้ทุนเคลื่อนเข้ามาหา รัฐบาลแต่ละประเทศต่างหาช่องทางลดเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนข้ามพรมแดน โดยทุนขนาดใหญ่จากประเทศในภูมิภาค ทั้งทุนไทย จีน มาเลย์ ญี่ปุ่น เวียดนาม ต่างมุ่งหน้าสู่โครงการใหญ่ ๆ โดยเฉพาะในประเทศที่ยังเหลือทรัพยากรธรรมชาติอยู่มากล้น เช่น ลาว กัมพูชา พม่า ต่างเป็นที่หมายปองของนักธุรกิจใหญ่
หลายโครงการที่รัฐบาลเจ้าของประเทศสนับสนุนให้นักธุรกิจต่างชาติเข้าไปลงทุน ไม่เคยมีการให้ข้อมูล สร้างความรู้ความเข้าใจกับประชาชนในท้องถิ่น นักลงทุนที่เข้าไปส่วนใหญ่ก็เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ให้มากที่สุด คิดแต่เพียงเรื่องของกำไรสูงสุด หวังตักตวงทรัพยากรโดยไม่คำนึงถึงปัญหาต่อเนื่องที่ท้ายสุดเราเองก็หนีไม่พ้นต้องได้รับผลกระทบไปด้วย
เพราะพรมแดนแห่งรัฐชาติ ไม่สามารถกั้นผลกระทบข้ามพรมแดน ทั้งด้านระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อม สุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจ
นักลงทุนไม่ได้คิดว่า ป่าผืนนี้ แม่น้ำสายนี้ เป็นของผู้คนในภูมิภาคที่ใช้ร่วมกันมานับร้อยนับพันปี แต่คิดแค่เรื่องเขตแดนประเทศ เมื่อมันไม่ได้อยู่ในประเทศฉัน มันก็ไม่ใช่ของฉัน ไม่ได้คิดว่าเมื่อตัดไม้ในพม่า ในตอนเหนือของลาว แล้วจะส่งผลกระทบอย่างไรกับคนอื่น ๆ ในภูมิภาค
รูปแบบของทุนข้ามชาติส่วนใหญ่ที่เข้าไปเหล่านี้ช่างน่าสะพรึงกลัว เพราะใช้วิธีการติดสินบนตั้งแต่ระดับนโยบายจนถึงเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น เนื่องจากเขารู้ดีว่าโครงสร้างการปกครองในประเทศเพื่อนบ้านนั้น ประชาชนยังไม่สามารถลุกขึ้นมาต่อรองกับรัฐบาลตัวเองได้
สิ่งที่น่ากลัวอีกประการหนึ่งก็คือ การส่งเสริมการลงทุนข้ามพรมแดนโดยเฉพาะในอาเซียน ไม่มีกรอบกติการะดับภูมิภาคที่จะควบคุมผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และสิทธิมนุษยชน
CSR ของบริษัทต่าง ๆ ที่เห็น ก็ไม่มากไปกว่าการประชาสัมพันธ์สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่บริษัท ปลูกป่าชายเลนมอบส้วมลอยน้ำ สร้างห้องสมุด เป็นคนละเรื่องกับกระบวนการผลิตและการดำเนินการของบริษัท
แต่สิ่งสำคัญที่ภูมิภาคนี้ต้องการจำเป็นเร่งด่วนคือ ธรรมาภิบาลในการดำเนินธุรกิจ และความรับผิดชอบของบริษัท (Corporate Accountibility)
สำหรับประเทศไทย เราคงเห็นชาวบ้านในพื้นที่ออกมาเรียกร้องสิทธิตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป้นการจัดทำรายงานผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม การทำประชาพิจารณ์และรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สิทธิชุมชนและสิทธิมนุษยชนที่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ แต่กติกาเหล่านี้ไม่มีอยู่ในระดับภูมิภาค ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าประหลาดมาก ที่ทุกประเทศในอาเซียนต่างพูดถึงความร่วมมือกันมากมาย มีการกำหนดกติกาสารพัดด้าน แต่กลับไม่มีกติกาด้านนี้
ดังนั้นสิ่งที่เราต้องเรียกร้องให้เกิดขึ้นทันทีคือ กติกาภูมิภาคว่าด้วยการลงทุนข้ามพรมแดนที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ชุมชนและสิ่งแวดล้อม
สำหรับอนาคต ก็ขอฝากความหวังไว้กับสังคมและคนรุ่นใหม่ อยากเห็นคนไทยรู้สึกรักและหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติของภูมิภาคนี้เหมือนบ้านของตัวเอง ลดมายาคติที่เกิดจากความเป็นรัฐชาติสมัยใหม่ให้น้อยลง อยากเห็นคนหนุ่มสาวเรียนรู้เรื่องราวและออกมามีส่วนร่วมในการดูแลภูมิภาคร่วมกัน หนุ่มสาวยุคนี้ที่เติบโตมากับการโฆษณา ทำให้เราไม่เป็นตัวของตัวเอง คุณค่าถูกมอบไว้แค่ความสวยงามเพียงชั้นผิวหนัง การแต่งตัว หรือวัตถุต่าง ๆ ที่ประดับร่างกายและชีวิต เรียกได้ว่า เป็นชีวิตที่ถูกบดขยี้ด้วยทุน !!
แต่เราเลือกได้ว่า เราจะยืนอย่างไรให้มีความหมาย เราจะยืนตรงไหนให้เป็นประโยชน์กับส่วนรวมมากที่สุด...