วงเสวนาปม"มะรอโซ"ที่ปัตตานี ทนายจี้ตรวจสอบหมายจับคดีความมั่นคง
ในงานเสวนาเรื่อง "ปริศนาความรุนแรง ณ ปาตานี" ซึ่งจัดโดยคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) ร่วมกับปาตานี ฟอรั่ม วิทยุร่วมด้วยช่วยกันดีสลาตัน และองค์กรภาคีภาคประชาสังคมกว่า 30 องค์กร ที่ ม.อ.ปัตตานี เมื่อวันเสาร์ที่ 23 ก.พ.2556 นั้น
วงเสวนาได้หยิบยกกรณีวิสามัญฆาตกรรม 16 ศพที่ฐานปฏิบัติการกองร้อยปืนเล็กที่ 2 บ้านยือลอ ต.บาเระเหนือ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส เมื่อเวลา 01.00 น.ของวันที่ 13 ก.พ.2556 ขึ้นมาแสดงทัศนะว่า เหตุใดผู้ก่อเหตุซึ่งนำโดย นายมะรอโซ จันทรวดี ผู้ต้องหาคดีความมั่นคงคนสำคัญจึงตัดสินใจจับอาวุธขึ้นมาต่อสู้กับรัฐโดยใช้ความรุนแรง
ทั้งนี้ ประเด็นที่วิทยากรและผู้ร่วมรับฟังที่ลุกขึ้นแสดงความคิดเห็นค่อนข้างไปในทิศทางเดียวกันคือ มีปัญหาความไม่เป็นธรรมที่เกิดจากกระบวนการยุติธรรมทางอาญาและการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ โดยเฉพาะพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ในการปิดล้อม ตรวจค้น จับกุม รวมถึงบาดแผลจากกรณีตากใบที่กลายเป็นต้นเหตุสำคัญของปรากฏการณ์ต่อสู้กับรัฐด้วยอาวุธในพื้นที่ชายแดนใต้
นายสิทธิพงษ์ จันทรวิโรจน์ ประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม หนึ่งในวิทยากรที่ร่วมเสวนา กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้ศาลตรวจสอบหมายจับที่ออกตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) กับผู้ต้องหาคดีความมั่นคงในพื้นที่ว่ามีหลักฐานเพียงพอที่จะเอาผิดได้หรือไม่ เพราะหลายคนตกเป็นผู้ต้องหาเพียงเพราะคำซัดทอดจากบุคคลอื่น ทำให้มีหมายจับ 8-10 หมายหรือมากกว่านั้น แต่พอขึ้นศาลคดีกลับยกฟ้องทั้งหมดเพราะมีเพียงหลักฐานแค่คำซัดทอดหรือคำรับสารภาพในชั้นควบคุมตัวตามกฎหมายพิเศษ ซึ่งไม่สามารถนำมาใช้เป็นหลักฐานเอาผิดในชั้นศาลได้
"บางคนมีหมายจับ 10 หมายจะสู้คดีอย่างไร นี่คือเหตุผลสำคัญที่ทำให้หลายคนไม่ยอมออกมามอบตัว เพราะเวลาสู้คดีหนึ่งจบก็จะถูกอายัดตัวในคดีต่อๆ ไปอีก อย่างนี้สู้ไปจนถึงวันสิ้นโลกก็ยังไม่จบ" นายสิทธิพงษ์ กล่าว เรียกเสียงปรบมือก้องห้องประชุม
หมาย พ.ร.ก. 1 ปีจับไม่ได้ต้องเพิกถอน
นายสิทธิพงษ์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า แม้แต่หมาย ฉฉ (ออกโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ที่ออกเพื่อเรียกตัวผู้ต้องสงสัยที่ไม่มีหลักฐานชัดเจนมาให้ปากคำ หากพ้นเวลา 1 ปีแล้วเจ้าหน้าที่ยังไม่มีการเชิญตัว ศาลก็มีอำนาจเพิกถอนหมาย ฉฉ ด้วย เรื่องเหล่านี้ระบุไว้ในกฎหมายและระเบียบปฏิบัติทั้งสิ้น แต่กลับไม่มีการดำเนินการ
ประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม กล่าวอีกว่า คดีก่อการร้ายศาลมักไม่ให้ประกันตัว เรื่องนี้กระบวนการยุติธรรมต้องทบทวน เพราะคดียกฟ้องถึง 70% เนื่องจากพยานหลักฐานไม่เพียงพอ ทั้งๆ ที่เจ้าหน้าที่มีเครื่องไม้เครื่องมือมากมาย น่าจะสามารถหาพยานหลักฐานได้หนักแน่นก่อนเสนอศาลเพื่อขออนุมัติหมายจับ
"เราต้องคิดกันว่าจะทำอย่างไรให้คนที่มีความขัดแย้งหรือใช้ความรุนแรงเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อต่อสู้กันทางกฎหมายโดยกระบวนการยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพ เพราะหากพิจารณากรณีของมะรอโซ พวกเขาถูกกระบวนการยุติธรรมบังคับให้ไปอยู่อีกฟากหนึ่งหรือไม่"
ตำรวจแจงเน้นนิติวิทย์มากขึ้น
พ.ต.อ.สะท้านฟ้า วามะสิงห์ ผู้กำกับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า การออกหมายจับเป็นอำนาจของศาล ตำรวจเป็นผู้รวบรวมพยานหลักฐานเพื่อขออนุมัติเท่านั้น แต่ต้องยอมรับว่าหลักฐานหายากมาก บางทีไปถึงที่เกิดเหตุพบแต่ปลอกกระสุนปืนกับคนที่ถูกยิงเสียชีวิตแล้ว ไม่พบหลักฐานอย่างอื่นเลย
อย่างไรก็ดี ระยะหลังได้พยายามปรับปรุงกระบวนการรวบรวมพยานหลักฐานโดยใช้นิติวิทยาศาสตร์มากขึ้น ส่วน นายมะรอโซ จันทรวดี นั้น มีหมายจับ ป.วิอาญา 10 หมาย และหมาย ฉฉ 3 หมาย อาวุธปืนของนายมะรอโซ เคยใช้ก่อคดีอื่นมาแล้ว 35 คดี
ผบ.นย.ยันหลักฐานโยง "มะรอโซ"
น.อ.สมเกียรติ ผลประยูร ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินภาคใต้ กองทัพเรือ (ผบ.นย.ภาคใต้ ทร.) ผู้บังคับบัญชาของฐานปฏิบัติการที่ถูกกลุ่มของนายมะรอโซเข้าโจมตี กล่าวว่า การตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐานกรณีนายมะรอโซมีความหนักแน่นชัดเจน เริ่มจากคดียิง นายชลธี เจริญชล ครูโรงเรียนบ้านตันหยง อ.บาเจาะ เมื่อวันที่ 23 ม.ค.2556 ปลอกกระสุนปืนที่พบพิสูจนได้ว่ามาจากปืนของตำรวจ สภ.โคกเคียน อ.เมือง จ.นราธิวาส ที่ถูกยิงก่อนหน้านั้นและถูกชิงอาวุธปืนไป โดยปืนกระบอกนี้ยังใช้ยิงตำรวจที่กำลังเตรียมเข้าพิธีแต่งงานจนเสียชีวิตพร้อมบิดาด้วย
"คดีต่างๆ ทั้งหมด นายมะรอโซถูกออกหมายจับ จากนั้นจึงมีการยิงครูชลธี หลังยิงครู เจ้าหน้าที่ตามยึดรถของครูที่คนร้ายปล้นไปได้ ต่อมาวันที่ 4 ก.พ. เจ้าหน้าที่ยิงปะทะกับกลุ่มคนร้ายที่บ้านแคและ ต.บาเระเหนือ อ.บาเจาะ สามารถยึดปืนที่ใช้ยิงครูชลธีได้ เมื่อตรวจดีเอ็นเอก็พบดีเอ็นเอของนายมะรอโซอยู่ในที่เกิดเหตุ นี่คือความเชื่อมโยงของพยานหลักฐาน"
รับอุปการะบุตร 16 ศพบาเจาะ
อย่างไรก็ดี น.อ.สมเกียรติ กล่าวด้วยว่า ในนามของผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ ขอแสดงความเสียใจต่อผู้เสียชีวิตทุกคน แต่ยืนยันว่าฝ่ายที่โจมตีฐานมีอาวุธครบมือ สวมเสื้อเกราะ ซึ่งล้วนปล้นไปจากเจ้าหน้าที่ และยังมีระเบิดคนละ 4-5 ลูก เมื่อไปถึงเจ้าหน้าที่ได้ฉายไฟและขอให้ยุติการกระทำ แต่กลับมีการยิงอาวุธปืนใส่ มีร่องรอยกระสุนและปลอกกระสุนจำนวนมาก
กระนั้นก็ตาม ในฐานะผู้บังคับบัญชาที่รับผิดชอบได้ให้ความเคารพผู้เสียชีวิตทุกรายอย่างจริงใจ ที่ผ่านมาได้ไปเยี่ยมครอบครัวของผู้เสียชีวิตทั้ง 16 รายเกือบครบทุกหลังคาเรือนแล้ว ได้มีการขอโทษและพูดคุยทำความเข้าใจ ทั้งยังรับอุปการะบุตรของผู้ตายบางคนที่มีความเดือดร้อน โดยสนับสนุนเรื่องทุนการศึกษาด้วย
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 วิทยากรบนเวที
2-4 บรรยากาศในห้องเสวนาที่ห้องประชุมสำนักงานอธิการบดี ม.อ.ปัตตานี