นักสิ่งแวดล้อม-ส.ว.ชี้ ไฟฟ้าขาด เม.ย. เป็น “วิกฤตการณ์เทียม” !
เอ็นจีโอ มองรัฐบาลเล็งประกาศภาวะฉุกเฉินพลังงาน หลังพม่าหยุดส่งก๊าซ เชื่อเป็น "วิกฤตประดิษฐ์" จงใจ เอาปชช.เป็นตัวประกัน 'วันชัย ตัน' แปลกใจ 'เพ้ง' กระต่ายตื่นตูม สงสัยหาเหตุผลสร้างโรงไฟฟ้า
หลังจากนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเตรียมประกาศภาวะฉุกเฉินด้านพลังงาน เพื่อเตรีมแผนในการรับมือกับปัญหาที่ทางการพม่าจะหยุดจ่ายก๊าซให้แก่ประเทศไทยช่วงต้นเดือนเมษายน และจากอุบัติเหตุท่อก๊าซไทย-มาเลเซียขาดจากการโดนสมอเรือทำให้ต้องปิดซ่อม ซึ่ง 2 แหล่งรวมกัน ก๊าซจะหายไปประมาณ 1,370 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน
นางสาวเพียรพร ดีเทศน์ ผู้ประสานงานรณรงค์ประเทศไทย องค์การแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers) กล่าวถึงเหตุการณ์ดังกล่าว กับสำนักข่าวอิศรา โดยมองว่า เป็น "วิกฤตประดิษฐ์" ที่เกิดจากความจงใจ เพราะการซ่อมบำรุงแท่นก๊าซใครก็รู้ว่า ทำเมื่อไหร่ก็ได้ วางแผนได้ และสามารถจัดการได้โดยจัดการกับการใช้ไฟฟ้าของภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจซึ่งใช้ไฟฟ้าเป็นปริมาณ 75% ของระบบ ฉะนั้น รัฐบาลไม่ควรขู่ หรือเอาประชาชนเป็นตัวประกัน
ขณะที่ น.ส.รสนา โตสิตระกูล สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวถึงกรณีนี้เช่นกันว่า น่าจะเป็น "วิกฤตการณ์เทียม" ที่ถูกสร้างขึ้นมา เพราะว่าเรื่องการซ่อมแท่นขุดเจาะไม่ได้เกิดจากอุบัติเหตุ แต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทุกปี เพราะฉะนั้นควรจะมีการวางแผนซ่อมในช่วงเวลาอื่น ไม่ใช่ช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าในปริมาณสูงอย่างเดือนเมษายน ซึ่งพอก๊าซขาดก็ผลักให้ต้องไปนำเข้าเชื้อเพลิงชนิดอื่นมาทดแทน
"ขณะนี้รัฐมนตรีพลังงานประกาศทำนองว่า เตรียมดีเซล 1 ล้านลิตร หรือน้ำมันเตา แต่จริง ๆ แล้วแอลเอ็นจี 1 ล้านตันที่เขายังไม่ได้เผยโฉมออกมา และก็เริ่มมีคนออกมาพูดว่า ถ้าจำเป็นก็ต้องใช้แอลเอ็นจี 5 ล้านตัน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ ปตท. เซ็นสัญญาซื้อไว้กับการ์ตาร์ ปัญหาคือถ้าความต้องการใช้แก๊สลดลง แอลเอ็นจี 5 ล้านตันก็จะไม่มีตลาดขาย" ส.ว.รสนา กล่าว และว่า จึงมีการตั้งคำถาม เป็นวิกฤตการณ์เทียมใช่หรือไม่ เพื่อที่จะได้เอาก๊าซราคาแพงมาทดแทนก๊าซของพม่า แต่ถ้าไม่ใช่ ก็แสดงว่า ปตท.ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเอง คือ ประการแรก ปตท.ต้องเป็นผู้จัดหาก๊าซทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ให้กับ กฟผ. เพราะเมื่อไม่สามารถส่งมอบก๊าซจากพม่าได้ ก็ต้องไปหาเชื้อเพลิงชนิดอื่นมาส่งมอบในราคาเท่าเดิม เพื่อไม่เป็นการผลักภาระมาให้ประชาชน จึงจะเชื่อได้ว่า ไม่มีวาระแอบแฝง แต่ถ้าเมื่อใดที่มีการขึ้นค่าไฟฟ้า ก็ต้องเชื่อว่านี่เป็นการสร้างวิกฤตการณ์เทียม
ส่วนนายวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ อดีตประธานชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม แสดงความเห็นผ่านเฟชบุค โดยแสดงความแปลกใจที่อยู่ดี ๆ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานออกมาทำตัวเป็นกระต่ายตื่นตูม บอกว่า เดือนเมษายน จะมีปัญหาการขาดแคลนไฟฟ้าอย่างรุนแรง เพราะก๊าซที่พม่าปิดซ่อม ทั้ง ๆที่มีการปิดซ่อมแซมเป็นประจำทุกปี และก็มีการเตรียมการป้องกันอยู่แล้ว พร้อมสงสัยการสร้างสถานการณ์ดังกล่าว เพื่อหาเหตุผลในการสร้างโรงไฟฟ้า
"อีกด้านหนึ่ง ประธานปตท.คนใหม่ที่เพิ่งแต่งตั้ง ก็คือคนสนิทของผู้มีบารมีจากดูไบ เพื่อมากดรีโมทดูแลบริษัทมูลค่าล้านล้านบาทด้วยตนเอง ผลประโยชน์เรื่องพลังงานแบบผูกขาดมันมหาศาลกว่าที่หลายคนคิด"นายวันชัย กล่าว และขอให้สังคมจับตา การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน บอกว่า จะยกเลิกก๊าซLPG กับรถยนต์ และให้คนขับรถมาใช้ NGV ที่ผูกขาดโดยปตท.แทน รวมถึงราคาน้ำมันก๊าซโซฮอลล์ พุ่งพรวดอีกสิบสลึง เกือบจะเท่าน้ำมันเบนซิน
ข่าวที่เกี่่ยวข้อง
ก.พลังงาน เล็งประกาศภาวะฉุกเฉิน ให้ปชช. ประหยัดไฟ
ส.ว.รสนา ช่วย 'เพ้ง' เสนอแก้ไขวิกฤติพลังงาน