คปก.เปิดช่องโหว่ กม.ชันสูตรพลิกศพ ไม่มีสภาพบังคับใช้ ใช้ดุลยพินิจพิจารณา
คปก.เผยผลศึกษาปฏิรูปกระบวนการชันสูตรพลิกศพขยายคุ้มครองสิทธิ-ประโยชน์สาธารณะ ญาติเหยื่อ แนะควรมีกระบวนการทำให้เข้าถึงข้อมูลข้อเท็จจริงทันที ไม่ใช่ต้องใช้แรงกดดันของสังคม
วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2556 คณะอนุกรรมการปฏิรูปกฎหมายด้านนิติวิทยาศาสตร์ ร่วมกับมูลนิธิเอเชีย จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการรับฟังความเห็นเพื่อปฏิรูปกฎหมายเกี่ยวกับกระบวนการชันสูตรพลิกศพ ครั้งแรก ณ ห้องแวนด้า 1 โรงแรมทีเค พาเลส ถนนแจ้งวัฒนะ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี โดยมีการนำเสนอผลการศึกษาและอภิปราย เรื่อง การปฏิรูปกฎหมายกระบวนการชันสูตรพลิกศพ โดยนางสาวฐิตารีย์ เอื้ออำนวย อนุกรรมการปฏิรูปกฎหมายด้านนิติวิทยาศาสตร์ รศ.ณรงค์ ใจหาญ ผู้อำนวยการศูนย์นิติวิทยาศาสตร์ นายสมชาย หอมลออ กรรมการปฏิรูปกฎหมายและประธานคณะอนุกรรมการปฏิรูปกฎหมายด้านนิติวิทยาศาสตร์ รวมถึงหน่วยงานและบุคคลที่เกี่ยวข้องในกระบวนการชันสูตรพลิกศพ ร่วมให้ข้อมูลด้วย
นายสมชาย หอมลออ กรรมการปฏิรูปกฎหมาย และประธานอนุกรรมการปฏิรูปกฎหมายด้านนิติวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า ความตายเป็นเรื่องสำคัญมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องคือ การชันสูตรพลิกศพ โดยที่ผ่านมาการชันสูตรพลิกศพยังมีปัญหาหลายอย่าง เช่น ญาติต้องการรู้ว่าสามี หรือลูกที่เสียชีวิตจากสาเหตุใด ก็ไม่สามารถเข้าถึงได้จนกว่าการสอบสวนของพนักงานสอบสวนจะเสร็จสิ้น หรือข้อมูลการชันสูตรจะเปิดเผยได้ ก็ต้องไปติดต่อที่โรงพยาบาล โรงพยาบาลต้องส่งให้พนักงานสอบสวน สุดท้ายญาติได้กระดาษแผ่นเดียว คือใบรับศพจากโรงพยาบาลเท่านั้น
"บางกรณีที่การบันทึกรายงานการรับศพ ซึ่งมีการบันทึกในรายงานว่า เสียชีวิตจากกระสุนปืน ซึ่งเมื่อเจาะลึกพบว่า ไม่ได้เสียชีวิตจากกระสุนปืนแต่เป็นการเสียชีวิตจากสะเก็ดระเบิด ประกอบกับมีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่หลากหลาย ก็เห็นได้ชัดว่า การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารไม่มีความแม่นยำเป็นประเด็นที่ต้องพิจารณา ทั้งกรณีการไต่สวนการเสียชีวิตของผู้เสียชีวิตเหตุชุมนุมทางการเมือง กรณีเหตุการณ์ตากใบ ผู้เสียชีวิต 70 กว่าราย ล้วนแสดงว่า กฎหมายเกี่ยวกับการชันสูตรพลิกศพ นั้น ยังมีปัญหา ทั้งทางกฎหมายและทางปฏิบัติ"
นายสมชาย กล่าวถึงสถานที่เกิดเหตุ ก็ยังพบหลายกรณีการตรวจสอบเหตุการณ์เสียชีวิตมีความยุ่งยาก ไม่สามารถทำได้ ถูกบิดเบือน โดยบุคคลที่ถึงสถานที่เกิดเหตุเป็นคนแรกไม่ใช่เจ้าหน้าที่นิติวิทยาศาสตร์ แต่อาจเป็นหน่วยกู้ภัย ประชาชน ทำให้มีพยานหลักฐานสูญหายไปมาก เช่น กรณีการเสียชีวิตของช่างภาพชาวญี่ปุ่น การเสียชีวิตอยู่ในท่วงท่าใด เป็นต้น ดังนั้น การให้ความเป็นธรรม และเกิดความโปร่งใส ญาติผู้เสียชีวิตต้องสามารถเข้าถึงข้อมูลชันสูตรพลิกศพได้ด้วย
กม.ชันสูตรพลิกศพ วัตถุประสงค์ "แคบ"
ขณะที่นางสาวฐิตารีย์ เอื้ออำนวย คณะอนุกรรมการปฏิรูปกฎหมายด้านนิติวิทยาศาสตร์ กล่าวนำเสนอผลการศึกษา เรื่อง "การปฏิรูปกฎหมายกระบวนการชันสูตรพลิกศพ" ว่า วัตถุประสงค์ของการชันสูตรพลิกศพ การตายอื่นๆ ซึ่งอยู่นอกเหนือป.วิอาญามาตรา 148 จะไม่ได้รับการชันสูตรพลิกศพ เพื่อตรวจสอบค้นหาความจริงอย่างเต็มประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการสอบสวนเท่านั้น มิได้กระทำไปทั้งกระบวนการ ทำให้ไม่สามารถนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ เช่น การคุ้มครองความปลอดภัยสาธารณะ การสร้างมาตรการป้องกันความเสียหายในอนาคต เป็นต้น และกระทบถึงประสิทธิภาพ มาตรฐาน ความเป็นธรรมและความโปร่งใส ส่วนมาตรฐานในการชันสูตรพลิกศพยังมีปัญหาขาดเอกภาพและการบูรณาการร่วมกัน มีมาตรฐานต่างกัน เนื่องจากมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน นอกจากนั้น การเข้าถึงข้อมูลยังอยู่ในวงจำกัด เพราะเป็นส่วนหนึ่งของสำนวนการสอบสวน จึงไม่สามารถนำข้อมูลไปดำเนินการที่เป็นประโยชน์อื่นๆได้
นางสาวฐิตารีย์ กล่าวอีกว่า กฎหมายเกี่ยวกับชันสูตรพลิกศพมีวัตถุประสงค์ที่ "แคบ" ควรขยายกรอบวัตถุประสงค์ให้ครอบคลุมถึงการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ ควรปรับปรุงเดิมหรือออกกฎหมายใหม่ให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ใหม่อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นธรรมและโปร่งใน นอกจากนั้น ยังควรพัฒนาหน่วยงานและบุคลากรให้มีความเชี่ยวชาญ และโดยผลักดันให้การชันสูตรพลิกศพได้มาตรฐาน เข้าถึงได้ ตรวจสอบได้ และมีสภาพบังคับ เพื่อที่จะสามารถนำข้อมูลไปใช้ในการดำเนินการได้
"ข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปกระบวนการชันสูตรพลิกศพ ต้องตระหนักว่า การตายไม่ใช่สิทธิของผู้ตายเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของส่วนรวม และกระบวนการนี้ เป็นการค้นหาความจริงเกี่ยวกับการตายเป็นการใช้อำนาจของรัฐรูปแบบหนึ่ง ย่อมก่อให้เกิดการกระทบสิทธิได้ ดังนั้น กฎหมายต้องกำหนดขอบเขตและการตรวจสอบเอาไว้อย่างละเอียดถี่ถ้วน บนหลักการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ เป็นธรรม และโปร่งใส"นางสาวฐิตารีย์ กล่าว
ด้านรศ.ณรงค์ ใจหาญ อนุกรรมการปฏิรูปกฎหมายด้านนิติวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า เรื่องของมาตรการป้องกัน แทนการไล่จับคนทำให้ตายนั้น เป็นประเด็นที่ท้าทาย โดยเฉพาะกฎหมายปัจจุบันยังไปไม่ถึงจุดนี้ รวมถึงจำนวนเจ้าหน้าที่แพทย์นิติเวช ที่มีไม่เพียงพอ ดังนั้นเราจะอาศัยแพทย์อื่นๆ หรือไม่ และหากมีการปรับปรุงกฎหมายฉบับนี้เราจะทำอย่างไร เพื่อให้การบริหารจัดการเรื่องบุคลากรสอดคล้องกับสิ่งที่เป็นอยู่
ส่วนที่เป็นกฎหมายเดิมที่ประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญานั้น รศ.ณรงค์ กล่าวว่า ยังมีข้อบกพร่องอยู่บ้าง กรณีที่ความตายเกิดจากเจ้าพนักงาน ในตัวบทระบุว่า ต้องอ้างว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ เป็นส่วนหนึ่งต้องปรับปรุงและลงลึกในรายละเอียด นอกจากนี้บทบาทของเจ้าพนักงาน เรายังไม่แน่ชัดว่ากระบวนการตรงนี้มีการแบ่งบทบาทหน้าที่ชัดเจนหรือไม่ ฉะนั้นการปรับปรุงตรงนี้จำเป็นต้องมี 4 ฝ่ายหรือใช้ผู้เชี่ยวชาญในการตรวจพิสูจน์ เพื่อให้เป็นมาตรฐานและสร้างความเชื่อมั่นในการตรวจพิสูจน์
ญาติเหยื่อขอเข้าถึงข้อมูลชันสูตรศพ
จากนั้นเวที มีการเปิดให้แสดงความคิดเห็น นางพิกุล พรหมจันทร์ ผู้ได้รับผลกระทบจากคดีเยาวชนอายุ 17 ปี เสียชีวิตระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองกาฬสินธุ์ ควบคุมตัวในช่วงสงครามยาเสพติดเมื่อปี 2547 ซึ่งศาลตัดสินให้ประหารชีวิต จำเลยที่ 1-3 กล่าวว่าคดีนี้มีความยุ่งยาก และยืดเยื้อพอสมควร มีการปิดบังอำพรางคดี มีการคุกคาม ข่มขู่พยาน และแม้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาประหารชีวิต แต่พบว่า ยังไม่มีการสั่งพักราชการ เป็นที่น่ากังวลมากของประชาชนที่จะเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างไร และขณะนี้ทุกคดีก็ยุติการสืบสวนสอบสวน และไม่มีบันทึกทางการแพทย์ ดังนั้นจึงอยากเสนอ ให้มีหน่วยงานอื่นนอกจากตำรวจเข้ามาดูแล นอกจากนี้ควรมีงบประมาณเข้ามาช่วยเหลือชาวบ้านในการตรวจพิสูจน์ และชันสูตรศพ เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายสูงในการเก็บรักษาสภาพศพ
นายอนุกูล อาแวปูเตะ ประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ประจำ จ.ปัตตานี กล่าวว่า สถานการณ์ทางภาคใต้จะเกี่ยวข้องกับความมั่นคงอยู่ด้วย ประกอบกับลักษณะพื้นที่มีความแตกต่างด้านศาสนาและความเชื่อ ซึ่งเป็นอุปสรรคของเจ้าหน้าที่และประชาชนในการเข้าถึงความยุติธรรม กรณีการวิสามัญฆาตกรรม เห็นว่า ในเบื้องต้นควรพิจารณาว่าเป็นการฆาตกรรมหรือไม่ บางครั้งข้อมูลที่ได้มาเป็นข้อมูลสองด้านสารวัตรป้องกันและปราบปรามจึงแก้ไข ปัญหาโดยการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง แต่ก็ไม่ใช่กระบวนการทางกฎหมาย เป็นเพียงการสอบข้อมูลจากทั้งสองฝ่ายเท่านั้นและไม่แน่ใจว่ามีผลในชั้นศาล หรือไม่
"จากประสบการณ์ที่เคยเป็นคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง พบปัญหา คือ ชาวบ้านเองเข้าถึงพื้นที่ที่เกิดเหตุได้ยาก ทำให้เข้าถึงศพหรือหลักฐานต่างๆได้ยาก และก็มีกรณีที่ชาวบ้านเองขัดขวางพนักงานเจ้าหน้าที่ ที่เข้าเก็บพยานหลักฐานเพราะไม่ไว้วางใจ เป็นต้น นอกจากนี้ การขอข้อมูลหรือเอกสารจากเจ้าหน้าที่ยังเป็นอุปสรรค แม้จะขอข้อมูลในฐานะที่เป็นคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเองก็ตาม ดังนั้น ควรมีกระบวนการที่จะทำให้เข้าถึงข้อมูลข้อเท็จจริงได้ในทันทีโดยกลไกกระบวน การเอง ไม่ใช่โดยแรงกดดันของสังคม"
ชันสูตร กระบวนหนึ่งของการสอบสวน มีช่องโหว่
ศ.เกียรติคุณ น.พ.วิฑูรย์ อึ้งประพันธ์ ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการปฏิรูปกฎหมายด้านนิติวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า กฎหมายเกี่ยวกับการชันสูตรพลิกศพยังมีปัญหาและคลุมเครือ อีกทั้ง การรวมกระบวนการชันสูตรพลิกศพเข้าเป็นส่วนหนึ่งกับการสอบสวน ทำเกิดช่องโหว่มากมาย ซึ่งอาจทำให้เกิดความล้มเหลวในกระบวนการชันสูตรพลิกศพได้
"หลายกรณีเกิดเหตุการตายหมู่ แต่บ้านเรากลับทำอะไรไม่ได้ ยกตัวอย่าง เช่น กรณีพฤษภาทมิฬ ก็ไม่มีการไต่สวนหาความจริง ทั้งๆที่ต่างประเทศให้ความสนใจ"
สำหรับนพ. สุรณรงค์ ศรีสุวรรณ นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า สถาบันนิติฯ เป็นที่เดียวให้รายงานการตรวจศพแก่ญาติ และพร้อมให้ญาติเข้าไปตรวจศพด้วย จนกระทั้งได้รายงานและพฤติการณ์การเสียชีวิต ส่วนปัญหากฎหมายการชันสูตรพลิกศพด้วยว่า กฎหมาย ไม่มีสภาพการบังคับใช้ ใช้ดุลยพินิจพิจารณา ไม่ได้ใช้อำนาจการสั่งการ บ้างก็ทำส่ง หรือหากทำไม่ละเอียดก็ไม่มีใครว่า สุดท้ายการได้ข้อมูลจากการตรวจหรือชันสูตรศพ ไม่ได้มีประโยชน์ต่อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเลย
สุดท้ายนายภัคพงษ์ วงศ์คำ นักวิชาการด้านกฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ทางสำนักงานได้ร่างแผนยุทธศาสตร์ มีส่วนเกี่ยวกับการพัฒนากฎหมายว่าด้วยการสร้างเสริมสุขภาวะในระยะท้ายของชีวิต ซึ่งในทางปฏิบัติ ยังมีปัญหาการแจ้งการตายกรณีที่ผู้ป่วยเข้าขอกลับมาเสียชีวิตที่บ้าน โดยมีกระบุสาเหตุการเสียชีวิตในใบมรณะบัตรว่า อุบัติเหตุ ทำให้หลานกรณีต้องเข้าสู่กระบวนการชันสูตรพลิกศพโดยไม่จำเป็นหลายกรณี ประกอบกับการที่ประเทศไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ ทำให้ปัญหาลักษณะนี้ก็จะมีมากขึ้นในอนาคต