'นิธิ' ชี้สังคมไทย “เปลี่ยนไม่ผ่าน” ยุ่งแน่ ! แนะชนชั้นนำเดิมเร่งปรับตัว
เมื่อเร็วๆ นี้ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ปาฐกถาในหัวข้อ “เสรีภาพ ประชาธิปไตยกับสังคมไทยในระยะเปลี่ยนผ่าน” ในงาน “นิทรรศการศิลปะเพื่อเสรีภาพ” ครั้งที่ 1 ประจำปี พ.ศ.2556 ขึ้น ณ สถาบันปรีดี พนมยงค์ เพื่อสนับสนุนเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน โดยมีผลงานจากหลายหลายกลุ่มศิลปินมาจัดแสดง รวมถึงการจัดเสวนา วิพากษ์วิจารณ์ งานจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-28 ก.พ.2556
ศ.ดร.นิธิ กล่าวถึงสถานการณ์การเมืองไทยปัจจุบันว่า กำลังอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่านที่ยังเปลี่ยนไม่ผ่าน โดยสาระสำคัญของการเปลี่ยนผ่านในครั้งนี้คือ การที่ “ชนชั้นกลางระดับล่าง” จะเข้ามามีบทบาท อำนาจต่อรองเพื่อผลประโยชน์ในเวทีการเมืองร่วมกันกับ “กลุ่มชนชั้นนำเดิม” ทั้งนี้อธิบายคำจำกัดความว่า ชนชั้นกลางระดับล่างคือกลุ่มคนที่อาศัยในชนบท มีรายได้เฉลี่ยประมาณหนึ่งหมื่นบาทต่อเดือน แต่มีวิถีชีวิตที่ไม่แตกต่างกับคนชั้นกลางในเมือง ในทางการเมืองเป็นกลุ่มคนได้รับประโยชน์จากนโยบายประชานิยมสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร หรือคือ “คนเสื้อแดง” ส่วนกลุ่มชนชั้นนำเดิม ประกอบด้วย อาทิ ข้าราชการระดับสูง กองทัพ คนชั้นกลางในเมือง (white collar) รวมถึงเอ็นจีโอ
ศ.ดร.นิธิ กล่าวต่อว่า สาเหตุของการเปลี่ยนไม่ผ่านของการเมืองไทยขณะนี้ เกิดจากการที่ทั้งสองฝ่ายไม่สามารถปรับเข้าหากันได้โดยสิ้นเชิงในหลายประเด็น และต่างฝ่ายต่างก็ยังมีจุดบกพร่องที่ต้องแก้ไข นั่นคือ ฝ่ายชนชั้นนำเก่าไม่ยอมรับชนชั้นกลางระดับล่างจำนวนมากที่สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณและพรรคเพื่อไทย และการไม่ยอมให้คนชั้นกลางระดับล่างมีพื้นที่บนเวทีเลย ขณะที่ข้อเรียกร้องหลักของกลุ่มคนชั้นกลางระดับล่าง คือการยึดในระบบการเมืองแบบเลือกตั้งและการรักษาความมั่นคงของผลการเลือกตั้ง ไม่ยอมให้อำนาจนอกระบบเข้ามาแทรกแซง
นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ สังคมและวัฒนธรรมกล่าวอีกว่า ในการต่อสู้ทางการเมืองหลังทักษิณพ้นจากตำแหน่ง ชนชั้นนำเก่าใช้พลังในระบบเก่าทุกอย่างที่มีอยู่เป็นเครื่องมือในการต่อสู้ อาทิ ดึงสถาบันพระมหากษัตริย์ลงมาเป็นเครื่องมือ ใช้ระบบยุติธรรมโดยเฉพาะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือระงับนโยบายของฝ่ายทักษิณ ใช้สื่อมวลชนเป็นเครื่องมือต่อต้านการเปลี่ยนแปลงไม่ให้เกิดการเปลี่ยนผ่าน ใช้กฎหมาย เช่น กฎหมายอาญามาตรา 112 ในการกดดัน ลงโทษคนที่กำลังผลักดันการเปลี่ยนผ่าน มีผลทำให้สังคมไม่เหลือกฎเกณฑ์ที่เป็นที่ยอมรับร่วมกันของทั้งสองฝ่ายอีกต่อไป
“ผลก็คือเวลานี้สังคมไทยไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “อาญาสิทธิ์” คืออำนาจทางกฎหมาย และอำนาจทางสังคมวัฒนธรรมเหลืออยู่อีกเลย นั่นคือผู้คนไม่เชื่อในสถาบันที่ควรเป็นที่เชื่อถืออีกต่อไป เช่น ศาล พระสงฆ์ สังคมที่ไม่อาญาสิทธิ์เหลือยู่เลยเป็นสังคมที่อันตรายมาก เช่น ทำให้ผู้คนฆ่ากันได้เพราะไม่มีกฎเกณฑ์บางอย่างที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับร่วมกันเหลืออยู่ กลายเป็นการต่อสู้ที่ไม่มีใครคุม”
ศ.ดร.นิธิ กล่าวว่า ชนชั้นนำเดิมต้องปรับตัวเองมากขึ้นเพื่อให้การเมืองเกิดการเปลี่ยนผ่าน อย่างไรก็ตามกลุ่มชนชั้นนำเดิมในเวลานี้อยู่ในสถานะที่ไม่สามารถจะปรับตัวได้ เพราะ
1.ขาดผู้นำในการกำหนดทิศทางการเปลี่ยนแปลง กลุ่มที่ใกล้ชิดกับผู้นำทั้งหลาย เช่น กลุ่มผู้จงรักภักดีที่มีความคิดแบบเสรีนิยมไม่กล้าเปลี่ยนแปลง เห็นได้จากตอนที่ไม่กล้าลงชื่อเพื่อแก้ไขมาตรา 112 ทั้ง ๆ ที่เห็นด้วยว่าควรจะมีการแก้ไข
2.องค์กรอิสระทั้งในทางกฎหมายและในทางปฏิบัติทุกประเภทในสังคมไทยหมดพลังที่จะเสนอทางออก ทางแก้ ในการสร้างเวทีเพื่อให้ชนชั้นกลางระดับล่างสามารถต่อรองโดยสงบได้ เช่น กลุ่มอาจารย์มหาวิทยาลัย สื่อโทรทัศน์
3.กลุ่มที่นำเสนอแผนชัดเจนในการปรับตัวถูกทำลายลงไป เช่น กลุ่มนิติราษฎร์ ที่เสนอแผนว่าเราจะมีสถาบันพระมหากษัตริย์ต่อไปอย่างไร? แต่ข้อเสนอไม่ถูกรับฟังจากฝ่ายตรงข้าม แม้แต่พรรคเพื่อไทยเองก็ไม่ฟัง
“จะเกิดการเปลี่ยนผ่านได้อย่างไร คำตอบคือ ชนชั้นนำเดิมต้องปรับตัวเองมากกว่าที่ได้ทำไป เพื่อจะกลืนชนชั้นกลางระดับล่างจำนวนมหาศาลเข้ามาในระบบให้ได้ ถ้าไม่ยอมกลืนเลย ไม่ยอมรับให้เขามีพื้นที่บนเวทีเพื่อต่อรองเลย จะพังกันหมดทั้งสองฝ่าย” ศ.ดร.นิธิกล่าว
ศ.ดร.นิธิ ยังกล่าวถึงสภาพของฝ่ายชนชั้นนำเดิมและฝ่ายเสื้อแดงในปัจจุบันว่า ฝ่ายชนชั้นนำเดิม อยู่ในสภาพที่ไม่มีใครคุมใครได้ เช่น พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ขณะนี้ไม่ได้เป็นฝ่ายริเริ่มประเด็นอีกแล้ว แต่อาศัยคนอื่นเริ่มก่อนแล้วจึงค่อยตัดสินใจว่าจะเข้าหรือไม่เข้าร่วม โดยบทบาทการริเริ่มกระจายไปอยู่ที่กลุ่มอื่น เช่น พรรคประชาธิปัตย์ที่มีเป้าหมายเป็นของตัวเองคือการเอาชนะทางการเมือง ไม่ใช่การรักษาจุดยืน ผลประโยชน์ และอำนาจของกลุ่มชนชั้นนำเดิมทั้งหมดเอาไว้
“ลองคิดว่าคุณเป็นรอยัลลิสต์ที่มั่นคงแข็งแรง คุณรู้สึกไหมว่า การอ้างสถาบันโดยพรรคประชาธิปัตย์ ทำให้เสียผลประโยชน์ของสถาบันเอง หรือการที่เสธ.อ้ายก็อ้างสถาบัน แสดงให้เห็นว่า ไม่มีการคุมกันเองจนไม่รู้ว่าใครจะนำไปสู่อะไรกันแน่ ซึ่งมันส่งผลเสียแก่จุดยืนหรืออำนาจของฝ่ายชนชั้นนำเดิมทั้งสิ้น”
ส่วนฝ่ายตรงกันข้ามหรือเสื้อแดง จะเห็นว่า ไม่ได้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยทั้งหมด แกนนำแตกกันเอง ไม่มีการจัดองค์กรที่ทำให้เกิดความเป็นหนึ่งเดียวกัน
ทั้งนี้ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้มีเสนอเพื่อการเปลี่ยนผ่านของสังคมไทย ว่า
1.คนชั้นกลางระดับกลางระดับล่างต้องสร้างพันธมิตรให้กว้างขวางกว่านี้ อาจจะทำให้ส่วนหนึ่งของชนชั้นนำเดิมเข้ามาร่วมด้วย เช่น ชนชั้นกลางในเมืองที่มีการศึกษา
2.คนเสื้อแดงและคนชั้นกลางระดับล่างต้องจัดองค์กรของตนให้ดี มิฉะนั้นจะถูกนักการเมืองโดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยดึงเอาไปใช้ประโยชน์แต่เพียงฝ่ายเดียว เพื่อทำให้ข้อเรียกร้องของกลุ่มคนเสื้อแดงได้ถูกรับฟัง เช่น การแก้ไขมาตรา 112.