‘ประชาพิจารณ์ 4 สารเคมีอันตราย’ เอกชน-เอ็นจี-เกษตรกร เห็นขัด
เวทีประชาพิจารณ์4เคมีเกษตรถกวุ่น-ข้อมูลแย้ง เอกชนยันคาร์โบฟูราน-เมโทมิลไม่อันตรายสวนทางเอ็นจีโอ เกษตรกรย้ำรัฐต้องหาตัวเลือกดีกว่าให้-อย่าให้กระทบต้นทุนผลิต
วันที่ 21 ก.พ. 56 ที่กรมวิชาการเกษตร มีการเสวนา ‘รับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการพิจารณาจัดวัตถุอันตราย คาร์โบฟูราน ไดโครโทฟอส อีพีเอ็น และเมโทมิล เป็นวัตถุอันตรายชนิดใด’ สืบเนื่องจากมีข้อเรียกร้องให้ห้ามใช้วัตถุอันตรายทั้ง 4 ชนิด จากองค์กรอิสระ เช่น สมัชชาคนจน เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกมูลนิธิชีววิถี นอกจากนี้สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ(สช.)ได้นำเสนอต่อสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้คุ้มครองผู้บริโภคจากอันตรายของสารเคมีทั้ง 4 ชนิด โดยเสนอให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายจัดให้วัตถุอันตรายทั้ง 4 ชนิดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 (วัตถุอันตรายที่ห้ามมิให้มีการผลิต การนำเข้า การส่งออก หรือการมีไว้ในครอบครอง ควบคุมโดยการห้ามประกอบกิจการใดๆ ) ตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)วัตถุอันตราย พ.ศ. 2551 จึงได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นขึ้นเพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าว โดยมีผู้เข้าร่วมประมาณ 200 คน ประกอบด้วยหน่วยงานภาครัฐ ผู้แทนภาคเอกชน ผู้ประกอบการ ผู้แทนองค์กรอิสระ และผู้แทนเกษตรกร
นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ มูลนิธิชีววิถี กล่าวว่า ยืนยันว่าควรให้มีการขึ้นทะเบียนสารทั้ง 4 ชนิดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 แม้ว่าผู้ประกอบการผลิตและจำหน่ายสารอีพีเอ็น และไดโครโทฟอสจะส่งสัญญาณไม่ขอขึ้นทะเบียนอนุญาตจำหน่ายในประเทศแล้วก็ตาม เนื่องจากสารทั้ง 4 ชนิดเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภคและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จากสถิติในปี 52 พบว่าสารคาร์โบฟูรานเป็นสารกำจัดศัตรูพืชที่มีการนำเข้ามาที่สุดถึง 4 ล้านกิโลกรัม โดยเกษตรกรไทยนำมาใช้ในกระบวนการปลูกข้าวถึงร้อยละ 70 ขณะที่กรมการข้าวมีข้อสรุปว่าไม่ควรใช้เนื่องจากทำให้แมลงศัตรูพืชดื้อยาและแพร่พันธุ์มากขึ้น รวมทั้งส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตที่มีประโยชน์อื่นในนาข้าว เช่น ปลา และแมลงที่ช่วยขยายพันธุ์พืช โดยพบว่าขณะนี้ประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาและจีนได้ยกเลิกการใช้คาร์โบฟูรานในประเทศแล้ว อย่างไรก็ดีหากกรมวิชาการเกษตรจะต้องหามาตรการรองรับในกรณีที่ห้ามใช้สารทั้ง 4 ชนิด โดยต้องเสนอทางเลือกอื่นที่ดีกว่าให้เกษตรกร หรือหากยังอนุญาตให้มีการจำหน่ายได้อยู่จะต้องรับผิดชอบต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสุขภาพผู้บริโภคด้วย
ผศ.นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวถึงอันตรายของสารเมโทมิลและคาร์โบฟูรานว่า กระทรวงสาธารณสุขของประเทศแคนาดา ระบุว่า เมโทมิลมีความเป็นพิษสูงซึ่งหากเข้าสู่ร่างกายเพียง 11-30 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมทำให้เสียชีวิตได้ โดยอาการเฉียบพลันเมื่อได้รับสารจะทำให้เวียนศีรษะ คลื่นไส้ ท้องเสีย กระตุ้นให้เลือดเป็นกรด ตับวายรุนแรง และหากได้รับสารสะสมในระยะยาวจะมีผลต่อระบบสืบพันธุ์ เสี่ยงต่อการเป็นหมัน ทำลายไขกระดูกซึ่งเป็นแหล่งสร้างภูมิคุ้มกัน ทำลายเม็ดเลือดแดงและสารพันธุกรรมของตับ และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็ง เช่นเดียวกับการได้รับสารคาร์โบฟูราน ซึ่งจากผลการวิจัยของ Agricultural Health Study ค.ศ. 2007 ระบุว่า สารคาร์โบฟูรานมีผลต่อการป่วยเป็นโรคมะเร็งและเบาหวาน โดยผู้ได้รับสารมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งปอดมากกว่าคนปกติถึง 2.3 เท่า
ด้านตัวแทนบริษัทดูปองท์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้คิดค้น ผลิตและจำหน่ายสารเมโทมิล นำเสนอข้อมูลด้านตรงข้ามว่า องค์กรระดับโลก เช่น องค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกา(US EPA) องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) รวมทั้งสหภาพยุโรป ยินยอมให้มีการขึ้นทะเบียนใช้เมโทมิลในหลายประเทศ เช่น อิตาลี โปรตุเกส สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ ญี่ปุ่น จีน ฯลฯ สำหรับประเทศที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนใช้เมโทมิล เช่น เยอรมัน และอังกฤษนั้น เป็นเพราะไม่มีผู้ประกอบการขอขึ้นทะเบียน โดยมีหลักฐานยืนยันว่าหากใช้เมโทมิลตามคำแนะนำในฉลากจะไม่ทำให้เกิดการตกค้างของสารในสิ่งแวดล้อม-ผลผลิตและสุขภาพผู้บริโภค เนื่องจากเมโทมิลเป็นสารที่สลายตัวเร็วตามธรรมชาติ
เช่นเดียวกับตัวแทนบริษัท เอฟเอ็มซี เคมิคัล (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของคาร์โบฟูรานเพียงชนิดเดียวภายใต้ชื่อการค้า ‘ฟูราดาน 3จี’ ที่ระบุว่า ฟูราดานมีการใช้งานและขึ้นทะเบียนมากกว่า 40 ประเทศทั่วโลก โดยช่วยป้องกันศัตรูพืชปราบยากหลายชนิด เช่น หนอนกอข้าว บั่วแมลงศัตรูข้าว ในข้าวและอ้อย โดยมีผลการศึกษาขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ยืนยันว่าคาร์โบฟูรานไม่ใช่สารก่อมะเร็ง ไม่ก่อให้เกิดการกลายพันธุ์ และไม่มีผลต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ โดยยืนยันว่าปริมาณสารตกค้างจากการใช้ฟูราดานกับพืชอายุยาว เช่น ข้าวอยู่ในระดับที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตที่เป็นประโยชน์และไม่สะสมในสิ่งแวดล้อมเนื่องจากมีการสลายตัวอย่างรวดเร็วใน 15 วัน
ขณะที่ตัวแทนชาวสวนมะม่วงผู้ใช้สารเคมี กล่าวว่า ใช้สารเมโทมิลมามากกว่า 30 ปีในการปลูกมะม่วงส่งออกประเทศญี่ปุ่นโดยไม่มีปัญหาในการตรวจพบสารตกค้างที่เกินมาตรฐานความปลอดภัยสินค้านำเข้า การใช้เมโทมิลมีข้อดีคือทำให้ผิวผลผลิตสวยมีคุณภาพเป็นที่นิยมของตลาด ทั้งสารยังสลายตัวเร็ว โดยเชื่อว่าการทำเกษตรของไทยปัจจุบันต้องพึ่งพาสารเคมี แต่ต้องใช้ในปริมาณที่เหมาะสมและใช้ให้ถูกกับประเภทพืช อย่างไรก็ดีงานวิจัยระบุว่าผู้ที่เสียชีวิตเพราะสารเมโทมิลนั้นเป็นเพราะใช้รับประทานเพื่อฆ่าตัวตาย ซึ่งเป็นการใช้ผิดประเภท
ทั้งนี้หากกรมวิชาการเกษตรจะห้ามใช้สารเมโทมิลและคาร์โบฟูราน เกษตรกรก็พร้อมจะเลิกใช้ แต่ภาครัฐจะต้องจัดหาสารเคมีทดแทนชนิดอื่นซึ่งมีต้นทุนราคาต่ำและสามารถใช้กำจัดเพลี้ย หนอนและแมลงศัตรูพืชได้มีประสิทธิภาพเช่นเดียวกับเมโทมิล เพื่อไม่ให้กระทบต้นทุนการผลิตของเกษตรกรรวมทั้งศักยภาพการแข่งขันกับต่างชาติ
ขณะที่ตัวแทนเกษตรกรในระบบการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์ กล่าวว่า ผลของการใช้สารเคมีที่เพิ่มปริมาณมากขึ้นส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภคซึ่งไม่ทราบว่าพืชผักที่รับประทานนั้นมีการฉีดสารเคมีมากเพียงใด โดยเฉพาะผู้บริโภคกลุ่มมนุษย์เงินเดือนซึ่งเสี่ยงต่อการรับประทานอาหารที่มีสารพิษตกค้างมากที่สุด ขณะที่ตัวเกษตรกรผู้ใช้สารเคมีเองกลับไม่บริโภคพืชผักที่ตนขาย ซึ่งถือเป็นการไม่รับผิดชอบต่อผู้บริโภค อย่างไรก็ดีเห็นว่าแม้ไม่ใช้สารเคมี เกษตรกรก็สามารถผลิตผลผลิตที่มีคุณภาพตอบสนองความต้องการของตลาดได้ ทั้งยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้สินค้าควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนด้วย โดยที่ผ่านมามีตัวอย่างการทำเกษตรอินทรีย์ที่ประสบความสำเร็จส่งสินค้าจำหน่ายตลาดระดับบนในต่างประเทศจำนวนมาก โดยไม่ต้องเสียเงินลงทุนซื้อปุ๋ย-ยาฆ่าแมลง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการรับฟังความคิดเห็นของฝ่ายผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการใช้สารเคมีทั้ง 4 ชนิด ยังมีการกล่าวถึงการโฆษณาเกินจริงของบริษัทขายสารเคมีผ่านทางวิทยุชุมชน สถานีโทรทัศน์และสื่อท้องถิ่น โดยที่รัฐไม่สามารถควบคุมได้ นอกจากนี้ยังมีการเสนอให้กระทรวงเกษตรฯโดยกรมวิชาการเกษตรหามาตรการหรือแนวทางให้ความรู้แก่เกษตรกร โดยควบคุมให้ใช้สารเคมีอย่างถูกต้องในปริมาณที่เหมาะสมด้วย
นายดำรง จิระสุทัศน์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า กระบวนการรับฟังความคิดเห็นในวันนี้ยังไม่ใช่การตัดสินสุดท้าย โดยกรมฯจะนำความคิดเห็นและข้อมูลทุกฝ่ายไปวิเคราะห์อีกครั้ง เนื่องจากต่างฝ่ายมีการอ้างข้อมูลทางวิชาการที่น่าเชื่อถือซึ่งขัดแย้งกัน โดยจะพิจารณาและส่งเรื่องไปยังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์(กษ.) หลังนั้นคณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งมีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธานจะเป็นผู้ตัดสินว่าจะให้สารเคมีทั้ง 4 ชนิดนี้ขึ้นทะเบียนเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ซึ่งห้ามนำเข้าหรือจำหน่ายในประเทศหรือไม่ โดยคาดว่าจะใช้เวลาในการรวบรวมข้อมูลเสนอไปยังคณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณาได้ไม่เกิน 1 เดือน
อย่างไรก็ดีเห็นว่าการใช้สารเคมีในภาคเกษตรปัจจุบันเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยาก โดยเห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากการใช้สารเคมีผิดประเภท ใช้ในปริมาณมากและไม่เป็นไปตามคำแนะนำในสลากหรือคำแนะนำหน่วยงานราชการ ทั้งนี้สำหรับสถานการณ์การตรวจพบสารเคมีที่ตกค้างในพืชส่งออกพบว่าในช่วงที่ผ่านมามีการตรวจพบในปริมาณต่ำมาก โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าที่ส่งออกไปยังสหภาพยุโรปซึ่งปีล่าสุดมีการตรวจพบเพียง 10 กว่าครั้งจากที่เคยตรวจพบกว่า 60 ครั้งต่อปี