ระดมสมอง ร่างฯ “หลักนิติธรรม” คอ.นธ. “จรัญ” ชี้ต้องไม่เอื้อฝ่าย-อุดมการณ์ใด
ระดมกูรูกม.เสนอความเห็น ร่างฯ ความหมาย-สาระและผลการฝ่าฝืนหลักนิติธรรม เน้นประโยชน์ประเทศ ไม่ฝักฝ่ายอุดมการณ์ใด
วันที่ 21 กุมภาพันธ์ คณะอนุกรรมการวิชาการว่าด้วยหลักนิติธรรมแห่งชาติ ในคณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรม (คอ.นธ.) จัดสัมมนาทางวิชาการและรับฟังความคิดเห็น เรื่อง "หลักนิติธรรม ความหมาย สาระสำคัญ และผลของการฝ่าฝืน" ณ ห้องแกรนด์ ฮอลล์ 2 โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ โดยมี ศ.ดร.กำชัย จงจักรพันธ์ กรรมการอิสระ คอ.นธ. กล่าวนำเสนอ ร่าง ความหมาย สาระสำคัญ และผลของการฝ่าฝืนหลักนิติธรรม ตอนหนึ่งว่า หลักนิติธรรม นอกจากจะหมายถึง การปกครองที่ทุกคนจะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายแล้ว ยังหมายรวมถึง การแสวงหาความยุติธรรม ซึ่งเป็นเหตุเป็นผลกันตามธรรมชาติ หรือเป็นความยุติธรรมตามธรรมชาติ อันเป็นสิ่งที่มีความสำคัญและมีความศักดิ์สิทธิ์อยู่เหนือกว่าตัวอักษรของตัวบทกฎหมาย
ศ.ดร.กำชัย กล่าวว่า ที่ผ่านมาความหมายของหลักนิติธรรม มีความเป็นพลวัตรอยู่ตลอดเวลา นักคิด นักกฎหมาย นักวิชาการก็ให้ความหมายความสำคัญต่างกันไป แต่ในช่วงหลายปีที่ประเทศไทยประสบวิกฤตความแตกต่างทางความคิดเห็นต่างก็กล่าวอ้างให้ทุกฝ่ายเคารพและยึดหลักนิติธรรม จนสรุปได้ว่า ไม่ว่าจะเข้าใจหรือให้ความหมายตรงกันหรือไม่ต่างก็เคารพและยึดหลักนิติธรรม
โดยหลักนิติธรรม ที่เสนอในร่างฯ คอ.นธ.นี้ ตีความเพื่อใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม กระบวนการยุติธรรมต้องไม่ฝ่าฝืน ขัดหรือแย้งหลักนิติธรรม มุ่งเน้น ความเป็นอิสระของผู้พิพากษา กฎหมายไม่มีผลย้อนหลังเป็นโทษ ต้องประกาศใช้ให้ประชาชนทราบ และต้องใช้บังคับเป็นการทั่วไป
จากนั้นเป็นเวทีอภิปรายและระดมความเห็น เกี่ยวกับร่าง ความหมาย สาระสำคัญ และผลของการฝ่าฝืนหลักนิติธรรม โดยมี ศ.พิเศษจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ศ.พิเศษธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และกรรมการเลขานุการ คอ.นธ. และศ.พิเศษสิทธิโชค ศรีเจริญ อดีตประธานกรรมการมรรยาทนายความ ร่วมอภิปราย
ศ.พิเศษจรัญ กล่าวว่า สถานะและบทบาทของหลักนิติธรรม เป็นมากกว่ารากฐานของระบบกฎหมายภายในประเทศ เป็นองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้ในการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดีอย่างมีธรรมาภิบาล เป็นองค์ประกอบหนึ่งของการพัฒนาประเทศชาติ สังคม ชีวิตมนุษยชาติอย่างยั่งยืน หลักนิติธรรม จึงเป็นหลักที่ทั้งคนร่างและเขียนรัฐธรรมนูญต้องเคารพ
"หลักนิติธรรม มีความหมายลึกซึ้ง เป็นธรรมะของกฎหมาย เป็นกรอบธรรมที่กฎหมายล่วงละเมิดไม่ได้ ไม่ว่าสังคมจะปกครองด้วยระบอบการเมืองแบบใด ก็ขอให้ใช้ธรรมาธิปไตย เอาความถูกต้องเป็นธรรมเป็นแก่นในการใช้อำนาจและปกครองบ้านเมือง เป็นธรรมะของฝ่ายบังคับใช้และร่างกฎหมาย"
ศ.พิเศษจรัญ กล่าวต่อว่า หลักนิติธรรม มุ่งเน้น ตามความหมาย 5 ประการ คือ 1.ชี้ประโยชน์ของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนชาวสยาม ไม่ค้ำชูฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดหรืออุดมการณ์ใด 2.ต้องรักษาและพิทักษ์ สิทธิเสรีภาพพื้นฐานของประชาชนคนไทย หากเป็นไปในทิศทางทำร้าย เซาะกร่อนสิทธิคนไทยนับว่าขัดแย้งต่อหลักนิติธรรม 3.มีส่วนช่วยพิทักษ์ปกป้องความเป็นอิสระ เป็นกลางและบริสุทธิ์ยุติธรรมของฝ่ายตุลาการของประเทศ 4.หลักนิติธรรมถูกใช้ในการดูแลสิทธิมนุษยชนในระดับโลก ฉะนั้น ระบบกฎหมายและรัฐบาลต้องไม่กดขี่มนุษย์ต่างชาติ และไม่ปฏิบัติต่อคนต่างด้าวเยี่ยงไม่ใช่มนุษย์ และ 5.ต้องสอดคล้องกับมาตรฐานสากล โดยเฉพาะจารีตประเพณีระหว่างประเทศ ดังตัวอย่างประเทศที่ใช้อำนาจรัฐละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง
ขณะที่ศ.พิเศษธงทอง กล่าวถึงความหมายของหลักนิติธรรม ยังมีความเหลื่อมล้ำอยู่บ้าง และค่อนข้างเป็นภาษาอุดมคติ จึงควรยึดหลักแสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง ความหมายที่เข้าใจได้ง่าย คือ "กฎของกฎหมาย" ที่กำหนดว่ากฎหมายควรมีหน้าตาเป็นอย่างไร โดยที่ ร่างฯ ของ คอ.นธ. จะเป็นตุ๊กตาในเบื้องต้นที่ใช้เป็นฐานในการหารือเพื่อปรับให้สมบูรณ์ต่อไป
ศ.พิเศษธงทอง กล่าวต่อว่า ผู้ร่าง และบังคับใช้กฎหมายต้องมีความอิสระใน 2 นัยยะ 1.อิสระจากการแทรกแซงของผู้อื่น 2.อิสระจากตัวเอง หรือ การไม่มีอคติ และความเป็นอิสระของศาล ต้องเชื่อมโยงกับหน่วยงานต่างๆ ไม่ใช่อิสระจากกันอย่างปราศจากขอบเขต
ทั้งนี้ ในกระบวนการยุติธรรม มักมีผู้ที่รู้จักคุ้นเคยกับคนในกระบวนการยุติธรรม ใช้ความคุ้นเคยนั้นสร้างความเหลื่อมล้ำในสังคม ดังจะเห็นว่า ผู้มีเงินมักไม่กลัวตำรวจ ต่างกับคนไม่มีเงินกลายเป็นคนน่าสงสารที่สุดในกระบวนการยุติธรรมไทย อีกทั้ง ปัจจุบันมีแนวโน้มที่เจ้าหน้าที่ของรัฐจะออกกฎหมายเพิ่มมากขึ้น เพื่อความสะดวกต่อการปฏิบัติงานของตนเอง ไม่ใช่เพื่อตรวจสอบดูแลสิทธิของประชาชน เช่น กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาฯ เสนอกฎหมายกีฬาอาชีพ แต่กลับเป็นกฎเกี่ยวกับการบังคับและปฏิบัติมากกว่า
"การไม่ปฏิบัติตามหลักนิติธรรม หรือการกระทำที่ไม่ชอบด้วยหลักนิติธรรม จึงเท่ากับว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ส่งผลต่อความทุกข์ยากและความไม่ยุติธรรมในบ้านเมือง ซึ่งท้าทายคนไทย โดยเฉพาะนักกฎหมายไทยที่ต้องเผชิญ ก้าวข้ามและตรวจสอบให้พบ"
ด้าน ศ.พิเศษสิทธิโชค กล่าวว่า หลักนิติธรรม คือ ความถูกต้องชอบธรรมของกฎหมาย เป็นความถูกต้อง และเป็นธรรมในแง่กฎหมายปกครองประเทศ รัฐสภาจะออกกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมไม่ได้ คณะรัฐมนตรีจะบริหารอย่างผิด บิดเบือน หรือนำช่องว่างของกฎหมายมาทำให้อำนาจทางบริหารไปกระทบสิทธิประชาชน หรือสิทธิมนุษยชนอย่างไม่ถูกต้องไม่ได้ ขณะที่ศาลก็ต้องตรวจสอบ ทบทวนตนเองอยู่เสมอว่า คำพิพากษาเป็นไปด้วยความชอบธรรม สุจริต เป็นกลางหรือไม่
ศ.พิเศษสิทธิโชค กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า หลักนิติธรรม หากทำได้อย่างเป็นระบบ มีขั้นตอน จะช่วยให้สังคมสงบสุข การบริหารเมืองดีขึ้น การใช้อำนาจนิติบัญญัติจะเป็นไปอย่างเรียบร้อยและเข้าใจถึงความต้องการของประชาชน คณะรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่เพื่อความสุขของประชาชนส่วนรวม ดังเช่นกรณี ความไม่สงบที่ภาคใต้ เห็นด้วยว่าต้องให้ความเป็นธรรม ความยุติธรรม ตามหลักนิติธรรม แล้วความสุขสงบ เรียบร้อยจะกลับคืนมา ไม่มีอะไรสร้างความสงบแก่บ้านเมืองได้เท่าความถูกต้อง เป็นธรรม
"เริ่มด้วยการทำให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมโดยง่าย ทั่วถึง ไม่แพง และไม่ล่าช้า เพราะความล่าช้า คือ การปฏิเสธกระบวนการยุติธรรม"