“อ.ชัยวัฒน์” แนะสื่อรายงานข่าวใต้ ต้องเข้าใจวัฒนธรรม-เสนอทางออก
เมื่อวันที่ 20 ก.พ.2556 มีอบรมเชิงปฏิบัติการ “บทเรียนและแนวทางการรายงานข่าวเชิงสันติในสถานการณ์ความขัดแย้ง” ที่สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส โดยมีตัวแทนสื่อมวลชนกว่า 30 ชีวิตเข้าร่วม มีเนื้อหาการพูดคุยหลากหลายประเด็นที่น่าสนใจ
(อ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์)
นายชัยวัฒน์ สถาอานันท์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะ ผอ.ศูนย์ข่าวสารเพื่อสันติภาพ กล่าวในหัวข้อ “เรื่องท้าทายในการรายงานข่าวความขัดแย้ง” ใจความว่า ความลำบากในการหาข้อเท็จจริงในชายแดนใต้ ก็คือเป็นเรื่องยากที่จะทำให้ชาวบ้านให้ข้อมูลที่แท้จริงกับเรา อย่าว่าแต่นักข่าวหรือเจ้าหน้าที่รัฐ ขนาดนักวิจัยลงไปคลุกคลีทำงานในพื้นที่ ก็ยังไม่ได้รับข้อมูลที่แท้จริง โดยชาวบ้านบางคนสารภาพว่า พูดในสิ่งที่นักวิจัยอยากให้พูด แทนที่จะพูดในสิ่งที่เป็นความรู้สึกหรือสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ นี่คือปัญหาในการหาข้อมูลในสถานการณ์ความขัดแย้ง ซึ่งเกิดขึ้นกับทุกประเทศ ทุกพื้นที่ ไม่มีข้อยกเว้น
“มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งระบุว่า ข่าวกรองกว่า 60-70% ที่ได้จากหมู่บ้าน ถ้าไม่เก่าก็เท็จ เพราะชาวบ้านอยากได้เงิน จึงนำข้อมูลเก่าหรือเก็บข่าวลือมาแลก หรือชาวบ้านที่มีปัญหาระหว่างกันใส่ความกัน หรือผู้ก่อการเล่นกลกับเรา” นายชัยวัฒน์กล่าว
นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า ปัญหาของวารสารกระแสหลักในการรายงานความขัดแย้งที่ถึงตายมี 1.war/violent oriented หรือมุ่งรายงานเหตุรุนแรง 2.propagandistic มีลักษณะโฆษณาชวนเชื่อไปหน่อย 3.elitist ดูเฉพาะความเคลื่อนไหวของตัวละครหลักๆ แต่ตนว่าลักษณะนี้ช่วงหลังเริ่มเปลี่ยนไป 4.victory-directed (whose victory?) ดูว่าซัดกันแล้วใครชนะ โดยลืมไปว่าชนะใคร ชนะแล้วได้อะไร
“ผมจึงอยากเสนอหลักสันติวารสารศาสตร์ หรือการนำข่าวเพื่อสันติภาพ 1.peace/conflict oriented คือมุ่งรายงานเพื่อสันติภาพ 2.”truth” oriented (what does “truth” mean?) เน้นการค้นความจริง แม้จะยังมีข้อถกเถียงกันว่าอะไรคือความจริง 3.people oriented โฟกัสคนคนระดับล่างมากกว่าผู้นำ และ 4.solution oriented ในนำเสนอทางออกของปัญหาด้วย” นายชัยวัฒน์กล่าว
ผอ.ศูนย์ข่าวสารเพื่อสันติภาพ ยังกล่าวว่า กรณีการรายข่าวจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตนอยากให้พิจารณาตาม ”ทฤษฎีขนมชั้น” คือมองเรื่องราวต่างๆ เป็น 3 ชั้น 1.agency หรือตัวละคร ให้มองว่าตัวละครนั้น ไม่ได้ทำอะไรเดี่ยวๆ แต่ทุกคนเป็นตัวละครในโครงสร้างบางอย่าง ถ้าโฟกัสที่ตัวละครเปล่าๆ เราอาจไม่เข้าใจภาพรวมทั้งหมด 2.structure (โครงสร้าง) และ 3.cultural (วัฒนธรรม) legitimation ซึ่งเป็นสิ่งที่ฝังอยู่ในหัวคน เช่นเรื่องเล่าหรือประวัติศาสตร์ต่างๆ
“อย่างกรณีคลิปงานศพ 16 ศพ RKK ที่บางคนบอกว่าเหมือนแห่ศพวีรบุรุษ ฝ่ายความมั่นคงดูแล้วไม่สบายใจ ถ้าถามผม ผมจะอธิบายว่า การตายมุสลิมมีหลายแบบ คือตายแบบเบาบางกับตายแบบหนักแน่น ซึ่งแน่นอนว่า ทุกคนอยากตายแบบหนักแน่น ตายเพื่อพระผู้เป็นเจ้า ถามว่ากรณีนี้ถ้าลูกเสียชีวิต พ่อแม่จะคิดอย่างไร ก็ต้องอยากให้ตายแบบหนักแน่น แบบวีรบุรุษอยู่แล้ว มองในมุมเขาก็ตายจากการต่อสู้ ไม่ใช่บุกเข้าตีฐานแล้วถูกยิงกลับมา” นายชัยวัฒน์กล่าว
(นายธาม เชื้อสถาปนาศิริ)
ด้านนายธาม เชื้อสถาปนาศิริ นักวิจัยจากสถาบันวิทยาการสื่อสารสาธารณะ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส กล่าวในหัวข้อ “เสียงสะท้อนจากพื้นที่ : รายงานการสำรวจความคิดเห็นเรื่องการรายงานของสื่อจากพื้นที่จากจังหวัดชายแดนภาคใต้" ใจความว่า จากการเก็บข้อมูลจากนักวิชาการและนักข่าวในพื้นที่ พบปัญหาในเชิงวารสารศาสตร์ต่อการรายงานข่าวภาคใต้หลายอย่าง อาทิ ความขัดแย้งมีหลายวงซ้อนกัน ทั้งน้ำมันเถื่อน คอร์รัปชั่น ยาเสพติด ฯลฯ นักข่าวในพื้นที่หรือสติงเกอร์ใช้พื้นเพการทำข่าวจากการทำข่าวอาชญากรรม ข่าวกว่า 80-90% ใช้แหล่งข่าวจากหน่วยงานด้านความมั่นคง วิธีการทำงานเปลี่ยนต้องไปเดินตามหลังฝ่ายความมั่นคง แม้จะเพื่อความปลอดภัยแต่ก็ทำให้มีการขอร้องกันได้ สติงเกอร์ไม่มีทั้งเวลาและข้อมูลในการทำข่าวสืบสวน แถมทำไปก็ยังไม่ได้ เพราะพอส่งมาใน กทม. บก.ก็จะเอาแต่ข่าวแรงๆ เหตุร้าย ระเบิด หรือ บ.ก.หน้าหนึ่งมักจะใช้ข่าวตามความถนัดของตัวเอง หาก 7 วัน ใช้ 7 บ.ก.อาจจะมีข่าว 7 แบบ ทำให้ข่าวภาคใต้ขาดความต่อเนื่อง เป็นต้น
“มีคำถามหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ ที่ผ่านมาองค์กรสื่อมียุทธศาสตร์ในการรายงานข่าวภาคใต้ร่วมกันหรือไม่ ซึ่งนักวิชาการที่ถามคำถามนี้ ก็มองว่ามันไม่มี เพราะถ้ามียุทธศาสตร์ว่า เราะจะเสนอข่าวภาคใต้เพื่อสันติภาพนะ ทุกๆ ข่าวที่องค์กรสื่อต่างๆ นะเสนอ มันก็จะมุ่งไปทางนั้น” นายธามกล่าว
นายธาม ยังเสนอว่า ในวันนี้มีการประกวดข่าวยอดเยี่ยม ข่าวสิ่งแวดล้อมยอดเยี่ยม ภาพข่าวยอดเยี่ยม เป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีข่าวเพื่อสันติภาพยอดเยี่ยม เพื่อให้มีรางวัลแก่ผู้ที่ทำข่าวเพื่อสันติภาพจริงๆ
ท้ายสุด เป็นกิจกรรมระดมสมอง “นักข่าวมองตัวเอง : ทำข่าวภาคใต้อย่างไรให้สร้างสรรค์” นำการสนทนาโดยนายปกรณ์ พึ่งเนตร บก.ศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา โดยนายปกรณ์กล่าวว่า สิ่งที่น่ากลัวในการทำข่าวภาคใต้วันนี้คือการเน้นกันที่ความเร็วมากกว่าความถูกต้อง แข็งกับสแนปข่าวโดยที่ไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริงให้แน่ชัดก่อน อย่างกรณีจดหมายที่พบในกระเป๋าของ RKK ที่มาเสียชีวิตระหว่างบุกเข้าตีฐานนาวิกโยธินที่ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ถ้าตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน จะพบว่าเป็นแค่ใบปลิวที่เขาเตรียมมาทิ้งไว้หากยึดฐานได้ ไม่ใช่จดหมายข่มขู่ว่าจะมีการล้างแค้นกรณี 16 ศพ อย่างที่คนจำนวนมากเข้าใจ
หลังจากนั้นผู้เข้าร่วมสัมมนาต่างถกเถียงกันเรื่องความเร็วกับความถูกต้องจะเลือกอย่างใด ซึ่งส่วนใหญ่เห็นว่าควรจะให้ความสำคัญกับความถูกต้องมากกว่าความเร็ว หากข้อเท็จจริงยังไม่แน่นอนควรจะตรวจสอบข้อมูลให้แน่ชัดก่อน ทั้งนี้มีนักข่าวรายหนึ่งแสดงความเห็นว่า นอกจากความเร็วและความถูกต้อง ยังต้องคำนึงถึงจรรยาบรรณด้วย อย่างกรณีที่มีการเผยแพร่คลิปคนร้ายประกบยิงทหาร 4 นายหน้าซีซีทีวี ที่ อ.มายอ จ.ปัตตานี เมื่อปี 2555 ถามว่าสมควรหรือไม่ เมื่อถามถึงวิธีการเอาตัวรอดท่ามกลางสถานการณ์รุนแรง มีคนข่าวรายหนึ่งระบุว่า ให้ใช้ “ทักษะ สัญชาตญาณ และดวง” นอกจากนี้ ยังมีการยกหลายๆ ประเด็นเกี่ยวกับการทำข่าวในสถานการณ์ความขัดแย้งขึ้นมาหารือกันอย่างเข้มข้น ใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมง ก่อนจะยุติการอบรม