อาทิตย์ที่แล้วจะเคอร์ฟิว อาทิตย์นี้จะเลิก พ.ร.ก. นโยบายไม่เชื่อมต่อ ต้นตอปัญหาใต้
ปัจจัยสำคัญที่สุดปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยืดเยื้อ...ซึ่งไม่ใช่แค่ 9 ปี แต่มีมานานนับร้อยปี คือความไม่ชัดเจนต่อเนื่องในนโยบายและยุทธศาสตร์ของรัฐไทยเอง
ตัวอย่างใกล้ที่สุดและชัดเจนที่สุด คือ เมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้ว ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปก.กปต.) ของรัฐบาล เพิ่งเสนอแนวคิดให้ประกาศเคอร์ฟิวใน "พื้นที่รุนแรงซ้ำซาก"
"เคอร์ฟิว" คือมาตรการทางทหารอย่างหนึ่ง ให้อำนาจไว้ตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) เมื่อประกาศเคอร์ฟิวหมายถึงการห้ามประชาชนออกนอกเคหสถานในเวลาที่กำหนด โดยนัยก็คือเพื่อแยก "ประชาชนออกจากคนร้าย" ให้ท้องถนนหรือพื้นที่สาธารณะต่างๆ ปลอดจากคนบริสุทธิ์ ใครที่ออกมาเพ่นพ่านย่อมถือเป็นผู้ไม่หวังดี เจ้าหน้าที่สามารถปฏิบัติการทางทหารได้ทันทีทันควัน
มาตรการเคอร์ฟิวนั้น ศปก.กปต.เพิ่งประชุมสรุปกันไปเมื่อวันศุกร์ที่แล้วนี้เอง (15 ก.พ.2556) ว่ายังไม่มีความจำเป็นต้องประกาศ แต่ก็ไม่ได้สรุปเด็ดขาดว่าจะไม่ประกาศตลอดไป เพียงแต่ต้องพิจารณาข้อมูลประกอบสถานการณ์ เวลา และสถานที่
ปฏิเสธไม่ได้ว่าสาเหตุสำคัญที่ทำให้ความต้องการประกาศเคอร์ฟิวอ่อนแรงลงไป มาจากความสำเร็จของปฏิบัติการทางทหารที่ฐานนาวิกโยธิน อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส เมื่อ 13 ก.พ.2556 ซึ่งมีการวิสามัญฆาตกรรมฝ่ายก่อความไม่สงบได้ถึง 16 ราย
ทว่าถัดจากวันประชุมแค่ 1 วัน ก็มีการก่อเหตุรุนแรงในลักษณะ "ป่วนเมืองปัตตานี" มีการวางระเบิดต่อเนื่องหลายสิบจุด กู้สำเร็จบ้าง ไม่สำเร็จบ้าง สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินไม่ใช่น้อย
แต่ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า ทันทีที่เปิดสัปดาห์ใหม่ และ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เรียกประชุมวงเล็กหน่วยงานความมั่นคง ผลที่ออกมากลับกลายเป็นการเพิ่มน้ำหนักการใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 (พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ) แทน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มุ่งเปิดพื้นที่พูดคุยเจรจา เปิดช่องทางให้ผู้ที่เห็นต่างจากรัฐ หรือแม้กระทั่งผู้ที่เคยร่วมปฏิบัติการก่อความรุนแรง ได้เข้ารายงานตัวและเลือกฝึกอบรมกับรัฐเป็นเวลา 6 เดือนแทนการถูกดำเนินคดี
หลายคนคงร้อง "อ้าว!" เมื่ออาทิตย์ที่แล้วยังฮึ่มๆ จะประกาศเคอร์ฟิวอยู่เลย ข้ามสัปดาห์มาจะจับมือเจรจาปรองดองกันแล้วหรือ ทำไมมันต่างกันสุดขั้วขนาดนั้น?
ที่ตั้งคำถามอย่างนี้ไม่ใช่มาตรา 21 ไม่ดี ไม่ใช่ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ไม่ควรใช้ แต่ประเด็นก็คือ ความชัดเจนของนโยบายอยู่ตรงไหน ตกลงรัฐบาลจะใช้ยุทธศาสตร์อะไรดับไฟใต้
ในเมื่อรัฐมนตรีที่คุมนโยบายยังพูดกลับไปกลับมา แค่ข้ามสัปดาห์ยังพูดต่างกันสุดขั้ว แม้ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) จะพยายามแก้แทนว่าเป็นข้อเสนอส่วนตัวของ ร.ต.อ.เฉลิม แต่เนื่องจาก ร.ต.อ.เฉลิม ยังสวมหมวกอีกใบหนึ่งเป็นผู้อำนวยการ ศปก.กปต.ด้วย จึงไม่อาจอ้างได้ว่าเป็นประเด็นส่วนตัว ความไม่ชัดเจนที่ปรากฏอย่างต่อเนื่องเหล่านี้จึงย่อมป่วยการที่จะไปเอ่ยถึงยุทธศาสตร์ใหญ่เพื่อ "เอาชนะ" ขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนว่าจะเอากันอย่างไรแน่
ปัญหานี้ไม่ใช่เพิ่งเกิด แต่มีมาตลอดหลายสิบปี หลายเรื่องที่รัฐบาลในอดีตเคยทำดี แต่ต่อมากลับไม่มีการสานต่อ หลายเรื่องปลดเงื่อนไขไปแล้ว แต่ต่อมาดันไปยกเลิก จึงกลายเป็นเงื่อนไขใหม่ในวันนี้
ดังเช่นกรณี "หยุดวันศุกร์" หลายคนอาจไม่ทราบว่าเมื่อ 26 เม.ย.2491 จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้ลงนามในประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องกำหนดเวลาทำงานและวันหยุดราชการ กำหนดให้ 4 จังหวัดภาคใต้ คือ ปัตตานี สตูล ยะลา และนราธิวาส หยุดราชการวันพฤหัสบดีครึ่งวัน และวันศุกร์เต็มวัน โดยให้เหตุผลเพื่อความสอดคล้องกับลัทธิทางศาสนา (ถ้อยคำที่ใช้ในประกาศขณะนั้น)
คำสั่งนี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ตอนที่ 24 เล่ม 65 เมื่อ 4 พ.ค.2491 และใช้ต่อเนื่องยาวนานกว่า 10 ปี แต่หลังจากนั้นก็ถูกยกเลิก เปลี่ยนกลับมาหยุดเสาร์-อาทิตย์เหมือนพื้นที่อื่น
คำถามก็คือ ถ้าเราไม่เปลี่ยนนโยบายนี้ กรณี "หยุดวันศุกร์" ก็จะไม่กลายเป็นเงื่อนไขให้เกิดการข่มขู่ทำร้าย หรือแม้แต่คาร์บอมบ์จนมีคนบาดเจ็บล้มตายในอีกหลายสิบปีต่อมา...
นี่คือความสำคัญของยุทธศาสตร์และนโยบาย ซึ่งยังหาไม่ได้จากฝ่ายการเมืองในปัจจุบัน!
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ภาพถ่ายราชกิจจานุเบกษา จากหอจดหมายเหตุ
ขอบคุณ : อาจารย์โชคชัย วงศ์ตานี จากศูนย์การจัดการความขัดแย้ง สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เอื้อเฟื้อภาพ