อย่าใช้วิธีอธรรม เรียกหาความยุติธรรม
หมายเหตุ: บทความชิ้นนี้เขียนขยายความจากบทความชื่อเดียวกันของผู้เขียนที่ตีพิมพ์ในคอลัมน์ "แกะรอย" หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 19 ก.พ.2556)
อย่าใช้วิธีอธรรม เรียกหาความยุติธรรม
ผมได้อ่านบทสัมภาษณ์ภรรยาและมารดาของแกนนำผู้ก่อความไม่สงบบางรายที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์โจมตีฐานปฏิบัติการนาวิกโยธิน ที่ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส เมื่อวันพุธที่ 13 ก.พ.2556 ซึ่งเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น และเว็บไซต์แห่งหนึ่ง
ยอมรับว่าอ่านแล้วรู้สึกเสียใจ โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่าสาเหตุของการต้องจับปืนขึ้นต่อสู้กับรัฐไทยของผู้ตายเป็นเพราะเจ็บช้ำจาก "กรณีตากใบ" ซึ่งหมายถึงเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อ 25 ต.ค.2547 ทำให้มีผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมและเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมถึง 85 ราย
แม้จะเป็นเหตุผลที่ฟังขึ้น แต่ที่แปลกใจก็คือว่า บทสัมภาษณ์คนในครอบครัวของผู้ตายไม่มีส่วนหนึ่งส่วนใดที่สะท้อนความพยายามห้ามปรามลูกชายหรือสามีไม่ให้เลือกวิธีใช้ความรุนแรงในการเรียกหาความยุติธรรม ทั้งๆ ที่ความรุนแรงเหล่านั้นหลายต่อหลายครั้งก่อความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของคนบริสุทธิ์ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความอยุติธรรมนั้นด้วยเลย
แม้แต่ "ทหาร" ที่ลงไปปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ และถูกยิงถูกลอบวางระเบิดตายเกือบทุกวัน เกือบทั้งหมดก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความอยุติธรรมที่เคยเกิดขึ้น (กรณีตากใบ)
ผมเห็นด้วยว่าในส่วนของคดีตากใบและคดีคาใจอื่นๆ ทั้งหลาย เช่น กรณีกรือเซะ (เหตุการณ์เมื่อวันที่ 28 เม.ย.2547 มีผู้เสียชีวิต 108 ราย) สมควรรื้อขึ้นมาและเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เป็นมาตรฐานและลบล้างคำประจานในแง่ของ impunity หรือ "ผู้กระทำผิดลอยนวล" ซึ่งกลายเป็น "โลโก้" ของประเทศไทยไปแล้ว
แต่ในขณะเดียวกัน ผู้ที่เกี่ยวข้องเจ็บช้ำกับเหตุการณ์ ก็ไม่สามารถอ้างเรื่องเหล่านั้นไปก่อเหตุยิงครู หรือวางระเบิดฆ่าผู้บริสุทธิ์ได้ เพราะถ้าคุณใช้วิธี "อธรรม" เพื่อเรียกหา "ความยุติธรรม" ก็จะมีการใช้ "วิธีอธรรม" ตอบโต้กันไปมาไม่มีที่สิ้นสุด
การต่อสู้เพื่อเรียกหาความยุติธรรมมีหลายแบบ และสามารถต่อสู้ได้โดยใช้ "แนวทางสันติวิธี" เช่น การต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมโดยครอบครัวของผู้เสียหายหรือผู้สูญเสียเองกรณีของ "ก๊ะแยนะ" หรือ ป้าแยนะ สะแลแม ซึ่งสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไปจากเหตุการณ์ตากใบ "ก๊ะแยนะ"เป็นผู้นำกลุ่มสตรีผู้สูญเสียเคลื่อนไหวตามแนวทางสันติมาตลอด 8 ปี กระทั่งเมื่อปีที่แล้วรัฐบาลได้อนุมัติจ่ายเงินช่วยเหลือครอบครัวผู้เสียชีวิต รายละ 7.5 ล้านบาท รวมทั้งดูแลผู้ได้รับบาดเจ็บ ทุพพลภาพ พิการ และผู้ได้รับผลกระทบทางจิตใจรายอื่นๆ ในระยะยาวด้วย
ในแง่คดีแม้พนักงานอัยการจะมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องหลังมีคำสั่งไต่สวนชันสูตรพลิกศพ (ไต่สวนการตาย) โดยศาล ซึ่งชี้ว่าผู้ชุมนุมที่เสียชีวิตจากการถูกจับกุมแล้วเคลื่อนย้ายจากหน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส ไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี จำนวน 78 รายนั้น เป็นเพราะ "ขาดอากาศหายใจ" แต่คำสั่งไต่สวนการตายหรือแม้แต่คำสั่งไม่ฟ้องของอัยการก็ไม่ได้ตัดสิทธิผู้เสียหายที่จะยื่นฟ้องคดีเอง และอายุความก็ยังไม่หมด
การต่อสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรม แม้จะยากและสำเร็จยาก โดยเฉพาะต้องต่อสู้คดีกับรัฐ แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีใครเคยทำ เคยต่อสู้ ตัวอย่างที่เห็นเด่นชัดคือกรณี คุณอังคณา นีละไพจิตร ภรรยาของ ทนายสมชาย นีละไพจิตร อดีตชมรมนักกฎหมายมุสลิม ที่ถูกอุ้มหายไปตั้งแต่ 12 มี.ค.2547 จากสาเหตุที่ชัดเจนแล้วว่ามาจากการพยายามให้ความช่วยเหลือทางคดีและกฎหมายแก่ผู้ต้องหาคดีปล้นปืน
ถึงวันนี้ ทนายสมชายหายสาบสูญไปเกือบจะครบ 9 ปีแล้ว แม้การสู้คดีอุ้มทนายสมชายจะยังไม่ประสบความสำเร็จในแง่กฎหมาย (คดีอยู่ในศาลฎีกา) แต่การต่อสู้ของผู้หญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่งอย่างคุณอังคณาได้สร้างกระแสให้สังคมไทยตื่นตัวกับปัญหา "อุ้มฆ่า-อุ้มหาย" มีองค์กรสิทธิมนุษยชนทั้งในและต่างประเทศยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ พร้อมทั้งสอดส่องดูแล กดดัน ป้องกัน เพื่อไม่ให้เหตุการณ์เหมือนกรณีทนายสมชายเกิดขึ้นซ้ำอีก ถึงขนาดที่องค์การสหประชาชาติรับรู้เรื่องนี้ และกลายเป็น "กรณีตัวอย่าง" กรณีหนึ่งที่องค์กรระหว่างประเทศทวงถามความคืบหน้าจากรัฐบาลไทยตลอดมา
แม้จะยังเอาตัวคนผิดมารับโทษตามกฎหมายไมได้ แต่การเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบายเรื่อง "อุ้มหาย-อุ้มฆ่า" หรือแม้แต่กรณีคล้ายคลึงกับตากใบก็ได้เกิดขึ้นแล้ว ปัจจุบันเมืองไทยมีกลไกที่ดีพอสมควร โดยเฉพาะกลไกของภาคประชาชน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุร้ายในลักษณะนั้นซ้ำรอยอีก
ถามว่าการกระทำของ "ก๊ะแยนะ" และ "คุณอังคณา" นิยามได้ว่าเป็น "นักสู้" ได้หรือไม่ เป็น "นักรบ" ได้หรือเปล่า...คำตอบก็คือ "ได้" พวกเธอเป็นนักต่อสู้โดยไม่จำเป็นต้องเลือกใช้วิธีรุนแรงหรือทำลายชีวิตคนอื่นเพื่อระบายความคับแค้นในหัวใจของตน ทั้งยังสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมให้เกิดขึ้นได้จริงด้วย
ฉะนั้นแม้จะเป็นข้อเรียกร้องที่โรแมนติกไปนิด แต่ผมก็อยากฝากไปถึงกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงให้หยุดคิด และหันมาต่อสู้ตามแนวทางสันติ เพราะความเป็นจริงก็คือ แม้คุณจะแยกดินแดนไปได้ เรื่องเลวร้ายแบบนี้ก็ใช่ว่าจะหมดไป เพราะมันเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากโครงสร้างที่ซับซ้อนโดยไม่เลือกพื้นที่หรือชาติพันธุ์ การแก้ไขที่ดีที่สุดคือสังคมควรเรียนรู้ร่วมกันเพื่อไม่ให้ความเลวร้ายลักษณะนั้นเกิดขึ้นซ้ำอีกน่าจะถูกต้องกว่า
ส่วนฝ่ายรัฐก็น่าจะได้เวลาชำระความผิด อะไรที่เคยกระทำผิดและซุกใต้พรมเอาไว้ ก็ควรหยิบขึ้นมาทำให้มันโปร่งใสเป็นไปตามกระบวนการ เรื่องทุกเรื่องถ้ามันไม่มีความเหลื่อมล้ำ ไม่สองมาตรฐาน มันก็ยากที่จะถูกหยิบไปเป็นประเด็นปลุกปั่น ปลุกระดม
รัฐเองก็ต้องยอมรับว่า บรรดาหมายจับทั้งหลายที่ใส่ชื่อผู้ต้องหารายสำคัญที่เรียกว่า "แกนนำอาร์เคเค" นั้น ความจริงมีหลักฐานพิสูจน์ชัดไม่กี่คดีหรอก ไม่อย่างนั้นศาลจะยกฟ้องคดีความมั่นคงถึง 78% หรือ ผู้ต้องหาบางคนในพื้นที่สีแดงบางพื้นที่ เช่น อ.บันนังสตา จ.ยะลา มีหมายจับถึง 37 หมาย จึงอยากให้ทบทวนกันดูสักทีว่ามีหลักฐานเอาผิดเขาจริงๆ กี่คดี ไม่ใช่แค่มีคนซัดทอดก็ใส่ชื่อเข้าไป หรือถ้าเหตุรุนแรงเกิดขึ้นในพื้นที่เคลื่อนไหวของใคร แกนนำคนนั้นก็จะเกี่ยวข้องไปทั้งหมด
ประเด็นนี้คือเหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้กลุ่มติดอาวุธจำนวนไม่น้อยไม่กล้าออกมามอบตัว เพราะมีหมายจับติดตัวเป็นสิบๆ คดี ถ้าออกมาต่อสู้คดี อย่างไรเสียก็ต้องตายในคุก ต่อสู้ชนะคดีหนึ่ง ก็จะถูกอายัดตัวไปสู้ต่อในคดีที่ 2-3-4-5 ฯลฯ อย่างนี้ตายนอกคุกอย่าง "วีรบุรุษ" หรือ "นักรบ" คงดีกว่า
ช่องทางเพื่อการพิสูจน์ตัวเองอย่างยุติธรรมเหล่านี้ รัฐต้องเริ่มสร้างเพื่อลดเงื่อนไข อันจะเป็นการป้องกัน "แนวร่วมรุ่นใหม่" ที่ยังคงไหลทะลักเข้าขบวนการอย่างต่อเนื่องไม่มีหยุด!
--------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : เหตุการณ์ตากใบ (ภาพจากอินเทอร์เน็ต)