สมาชิกสภาเกษตรฯติงนโยบายโซนนิ่ง ขัดความจริง ยกร่างกม.ปาล์มประกบรัฐ
เวทีสภาเกษตรกรแห่ง ระบุเกษตรกรไทยร้อยละ 40 ไร้ที่ทำกิน ติงนโยบายโซนนิ่ง-คุ้มครองพื้นที่ขัดความจริง เตรียมยกร่าง กม.ปาล์มฯประกบรัฐ กษ.ชงแผนพัฒน์ฯฉบับ 11 ให้รายได้เพิ่ม 10%
วันที่ 20 ก.พ. 56 ที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นสภาเกษตรกรแห่งชาติ “ภารกิจทิศทางที่เกษตรกรไทยควรรู้” โดยนายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสศก. กล่าวว่าที่ผ่านมาปัญหาภาคการเกษตร ประกอบด้วย 1. การเข้าไม่ถึงแหล่งทุนของเกษตรกร 2.การสูญเสียที่ดิน ซึ่งปัจจุบันมีเกษตรกรมากกว่าร้อยละ 40 ของประเทศต้องเช่าที่ดินทำกิน ส่วนใหญ่ในภาคกลางกว่าร้อยละ 60 ที่ไม่มีที่ทำกินของตนเอง 3.ปัญหาแรงงานภาคเกษตร ซึ่งต้องอาศัยแรงงานต่างชาติมากขึ้นเนื่องจากเกษตรกรไทยเข้าสู่วัยสูงอายุประกอบกับไม่มีลูกหลานสานต่ออาชีพ 4.ประสิทธิภาพการผลิตอันเนื่องมากจากการขาดระบบชลประทาน ทำให้ผลผลิตต่อไร่ของไทยต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน
โดยพบว่าพื้นที่เกษตรในเขตชลประทานของไทยมีเพียงร้อยละ 20 ขณะที่พื้นที่เกษตรในเขตชลประทานของประเทศเวียดนามมีมากถึงร้อยละ 80 ทำให้ชาวนาเวียดนามสามารถปลูกข้าวได้ 7 ครั้ง ใน 2 ปี ทั้งนี้เมื่อพิจารณารายได้ของเกษตรกรในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8 (พ.ศ.2540-2544) – ฉบับที่10 (พ.ศ.2550-2554) พบว่าเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ย จากปีละ 91,359 บาท เป็นปีละ 146,577 บาท อย่างไรก็ดีพบว่าจำนวนหนี้สินก็เพิ่มขึ้นตามรายได้ด้วย
นายอภิชาต กล่าวต่อว่า สำหรับแผนพัฒนาการเกษตรในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555-2559) ประกอบด้วย 3 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1.พัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกร ทำให้พึ่งตนเองได้โดยยึดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สร้าง ‘เกษตรกรปราดเรื่อง’ ที่มีความรู้สามารถนำข้อมูลไปใช้ตัดสินใจวางแผนการผลิตได้ 2.พัฒนาขีดความสามารถการผลิตการจัดการสินค้าเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร เน้นเพิ่มผลผลิต การใช้สารเคมีในปริมาณที่เหมาะสม สร้างสมดุลระหว่างปลูกพืชอาหารและพืชพลังงาน 3.พัฒนาทรัพยากรการเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพยั่งยืน เช่น ขยายระบบชลประทาน ปรับปรุงคุณภาพดิน
มีเป้าหมายคือ 1.เกษตรกรไทยผาสุกเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 80 ภายในปี 2559 ซึ่งถือเป็นความผาสุกระดับกลาง 2.เกษตรกรมีรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 ต่อปี 3.ผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคเกษตรขยายตัวเฉลี่ยอย่างต่ำร้อยละ 4 ต่อปี อย่างไรก็ดี กษ.จะปรับปรุงแผนพัฒนาการเกษตรในช่วงแผนพัฒน์ฉบับ 11โดยจะนำความคิดเห็นและข้อเสนอจากสมาชิกสภาเกษตรกรฯประกอบการพิจารณาปรับปรุงแผนฯ
นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่าการประชุมสภาเกษตรกรแห่งชาติครั้งนี้สภาฯจะพิจารณายกร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม ซึ่งเป็นกฎหมายที่ดูแลปาล์มน้ำมันทั้งระบบ ประกบร่างฯของรัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรฯที่กำลังดำเนินการอยู่ เพื่อให้กฎหมายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตสะท้อนปัญหาและนำมาซึ่งสิทธิประโยชน์ที่ชาวสวนปาล์มต้องการอย่างแท้จริง
“นับจากนี้ไปสภาเกษตรกรจะเข้าไปมีบทบาทกำหนดนโยบายสำคัญๆ รวมทั้งการมีส่วนร่วมยกร่างกฎหมาย โดยเสนอให้สมาชิกสภาเกษตรกรเข้าร่วมเป็นกรรมาธิการพิจารณาร่าง พรบ.หลายฉบับ เช่น พรบ.ควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พรบ.การยางแห่งประเทศไทย รวมทั้งเสนอความเห็นต่อนโยบายรัฐบาลเพื่อสะท้อนความต้องการเกษตรกรอย่างแท้จริง” นายประพัฒน์กล่าว
ประธานสภาเกษตกรฯ กล่าวต่อว่าขณะนี้สภาเกษตรกรเตรียมเสนอความเห็นต่อร่างพ.ร.บ.คุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม เห็นด้วยให้มีกฎหมายดังกล่าว แต่ไม่เห็นด้วยในสาระบางมาตรา โดยเฉพาะในประเด็นการจำกัดสิทธิ์เกษตรกรและการกำหนดบทลงโทษ
นายสมศักดิ์ คุณเงิน สมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดขอนแก่น เรียกร้องให้การวางแนวนโยบายของกระทรวงเกษตรฯและรัฐบาลนับจากนี้ไปรับฟังความคิดเห็นของเกษตรกรมากขึ้น โดยที่ผ่านมาพบว่าหลายอย่างไม่สอดคล้องกับสภาวการณ์ทำกินของเกษตรกรอย่างแท้จริง เช่น นโยบายการโซนนิ่งพืชซึ่งระบุว่าพื้นที่ในภาคเหนือและอีสานไม่เหมาะกับการปลูกปาล์มน้ำมัน ขณะที่มีพื้นที่ปลูกปาล์มในภาคเหนือและอีสานจำนวนมาก แม้นโยบายโซนนิ่งจะไม่บังคับเกษตรกร แต่ในทางปฏิบัติหากไม่ดำเนินการตามก็จะถูกกีดกันการได้รับสิทธิประโยชน์ เช่น การขอสินเชื่อจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในการประชุมมีการลงคะแนนเลือก นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และนายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ที่ปรึกษารมว.กษ. เป็นที่ปรึกษาสภาเกษตรกรแห่งชาติด้วย ทั้งนี้สภาเกษตรกรแห่งชาติ จัดตั้งขึ้นตามพ.ร.บ.สภาเกษตรกรแห่งชาติ พ.ศ.2553 และเพิ่งรับถ่ายโอนภาระงานเต็มรูปแบบจากกระทรวงเกษตรฯ เมื่อเดือน พ.ย.55 .
ที่มาภาพ : http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TUROMFpXTXdNakV4TURRMU5BPT0=