เชียร์“เพิ่มขนาดคำเตือนบนซองบุหรี่” คนไทยสูบ 13 ล้าน กว่าครึ่งในชนบท
40 เครือข่ายสุขภาพเชียร์ "หมอประดิษฐ"เพิ่มขนาดภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ใหญ่สุดในโลก คาดอีก 15 วันประกาศ ตัวเลขคนไทยเสียชีวิตจากบุหรี่ปีละ 5 หมื่นคน 13 ล้านคนยังสูบบุหรี่ กว่าครึ่งอยู่ในชนบท
วันที่ 20 ก.พ.56 ที่กระทรวงสาธารณสุข ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ นำกลุ่มภาคีเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพ เครือข่ายเยาวชน เครือข่ายนักวิชาการ 40 เครือข่ายกว่า 200 คน ไปให้กำลังใจ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) หลังจากคณะกรรมการควบคุมการบริโภคยาสูบแห่งชาติ มีมติ 1 ก.พ.56 ในร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่องการเพิ่มภาพคำเตือนบนซองบุหรี่จากพื้นที่ร้อยละ 55 เป็น 85 ทำให้ประเทศไทยจะมีขนาดภาพคำเตือนที่ใหญ่ที่สุดในโลก
โดยข้อมูลจากเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพ ระบุว่าปัญหาการสูบบุหรี่ของประเทศไทยยังจัดอยู่ในสถานการณ์ที่รุนแรง มีคนไทย 13 ล้านคนที่ยังสูบบุหรี่ และในเพศชายอัตราการสูบบุหรี่ยังสูงอยู่ที่ 46.5 ในประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป และหากดูเฉพาะประชากรอายุ 21 ปีขึ้นไป อัตราการสูบบุหรี่ยังคงสูงถึงร้อยละ 48.1 ในปี พ.ศ.2552 มีคนไทยเสียชีวิตจากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ 50,700 คน และยาสูบเป็นปัจจัยเสี่ยงร่วมของโรคเรื้อรังสี่กลุ่มโรค อันได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด มะเร็ง ถุงลมโป่งพอง เบาหวาน ซึ่งทั้ง 4กลุ่มโรคนี้เป็นสาเหตุการเสียชีวิตครึ่งหนึ่งของคนไทย คือ 210,983 คน จาก 415,900 คนที่เสียชีวิต ในปี 2552
องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ประเทศสมาชิกควบคุมยาสูบด้วยมาตรการต่างๆภายใต้อนุสัญญาควบคุมยาสูบ โดยนโยบายที่คุ้มค่าที่สุด อันได้แก่ การขึ้นภาษี การห้ามโฆษณาทุกรูปแบบ การคุ้มครองผู้ไม่สูบบุหรี่จากการได้รับควันบุหรี่มือสอง และการเตือนพิษภัยยาสูบด้วยการพิมพ์คำเตือนเป็นรูปภาพบนซองบุหรี่
โดยเฉพาะในสถานการณ์ของประเทศไทยที่กว่าครึ่งหนึ่งของผู้ที่สูบบุหรี่มีการศึกษาระดับประถมศึกษาหรือต่ำกว่า เกือบร้อยละ 70 ของผู้สูบบุหรี่ไทยอาศัยอยู่ในเขตชนบท ที่สื่อต่างๆเข้าถึงได้น้อย คำเตือนบนซองบุหรี่จึงเป็นสื่อที่เข้าถึงผู้สูบบุหรี่และครอบครัวได้มากที่สุด
โดย นพ.ประกิต กล่าวว่าการเพิ่มขนาดภาพคำเตือนบนซองบุหรี่เป็นวิธีที่หลายประเทศทั่วโลกใช้ เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์มีความก้าวหน้าจนสามารถห้ามใส่โลโก้บริษัทได้ แม้ไทยจะยังทำไม่ได้ถึงขั้นนั้น แต่จะพัฒนาในอนาคตต่อไป ส่วนประเด็นเรื่องการฟ้องร้องสิทธิทางปัญญานั้นไม่ใช่เรื่องน่ากังวล เพราะจากประสบการณ์ในหลายประเทศและการตัดสินของศาลพบว่าการขยายภาพคำเตือนไม่ได้เป็นการละเมิดสิทธิทางปัญญาหรือกีดกันทางการค้า เพราะเป็นนโยบายเพื่อปกป้องประชาชนและไม่มีการนำเครื่องหมายการค้าไปหา ประโยชน์อื่นใด ที่สำคัญองค์การการค้าโลก (WTO) ก็ให้ประเทศสมาชิกออกกฎหมาย นโยบายเพื่อปกป้องสุขภาพประชาชนได้โดยต้องไม่เลือกปฏิบัติ หากบริษัทบุหรี่จะฟ้องก็คงจะแพ้อย่างแน่นอน
นพ.ประดิษฐ กล่าวว่า ขอขอบคุณเครือข่ายฯ และเยาวชน ที่ให้ความสนใจในเรื่องดังกล่าวและร่วมแสดงพลังในการรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ โดยขณะนี้การร่างประกาศการเพิ่มภาพคำเตือนฯ อยู่ระหว่างการทบทวนถ้อยคำตามกระบวนการทางกฎหมาย และจะลงนามได้ภายใน 15 วัน ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวได้ทำตามกระบวนการทางกฎหมายอย่างถี่ถ้วน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดปริมาณการสูบบุหรี่ ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ ถือเป็นเรื่องดีที่เยาวชนให้ความสนใจ เพราะการลดปริมาณการสูบบุหรี่ต้องเริ่มต้นตั้งแต่เยาวชน ดูได้จากอัตราการสูบบุหรี่ที่ยังมีนักสูบหน้าใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แสดงว่าอิทธิพลการโฆษณายังมีผลทำให้เกิดนักสูบหน้าใหม่ได้อยู่จึงจำเป็นต้อง มีนโยบายเพื่อควบคุมและป้องกันเยาวชน .
ที่มาภาพ : http://thaifinbiz.com/sme_detail.php?tab=1&smes_id=5267
--------------------------------------------------------
รายชื่อ 40 ภาคีเครือข่ายสุขภาพที่สนับสนุนประกาศภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ฉบับใหม่
1. ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย
2. ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย
3. ราชวิทยาลัยเวชศาสตร์ครอบครัวแห่งประเทศไทย
4. สมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย
5. สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย
6. มะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย
7. ราชวิทยาลัยวิสัญญีแพทย์แห่งประเทศไทย
8. แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
9. สถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย
10. เครือข่ายวิชาชีพแพทย์ในการควบคุมการบริโภคยาสูบ
11. เครือข่ายวิชาชีพทันตแพทย์ในการควบคุมการบริโภคยาสูบ
12. เครือข่ายวิชาชีพเภสัชกรรมเพื่อการควบคุมยาสูบ
13. เครือข่ายวิชาชีพพยาบาลในการควบคุมการบริโภคยาสูบ
14. เครือข่ายวิชาชีพเทคนิคการแพทย์เพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่
15. เครือข่ายวิชาชีพกายภาพบำบัดเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่
16. เครือข่ายวิชาชีพนักสาธารณสุขในการควบคุมการบริโภคยาสูบ
17. เครือข่ายวิชาชีพหมออนามัยในการควบคุมการบริโภคยาสูบ
18. เครือข่ายวิชาชีพแพทย์แผนไทยในการควบคุมการบริโภคยาสูบ
19. เครือข่ายวิชาชีพแพทย์แผนจีนในการควบคุมการบริโภคยาสูบ
20. เครือข่ายวิชาชีพแพทย์แผนไทยประยุกต์ในการควบคุมการบริโภคยาสูบ
21. เครือข่ายวิชาชีพนักจิตวิทยาคลินิกในการควบคุมการบริโภคยาสูบ
22. เครือข่ายวิชาชีพนักรังสีเทคนิคในการควบคุมการบริโภคยาสูบ
23. เครือข่ายวิชาชีพนักเวชนิทัศน์ในการควบคุมการบริโภคยาสูบ
24. เครือข่ายวิชาชีพสัตวแพทย์ในการควบคุมการบริโภคยาสูบ
25. สมาคมสุขศึกษา พลศึกษาและสันทนาการเพื่อการควบคุมการบริโภคยาสูบ
26. ศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ
27. สถาบันธัญญารักษ์
28. สมาคมนักกำหนดอาหารแห่งประเทศไทยในการควบคุมการบริโภคยาสูบ
29. เครือข่ายวิชาชีพนักสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ในการควบคุมการบริโภคยาสูบ
30. สมาคมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ไทยในการควบคุมการบริโภคยาสูบ
31. ตัวแทนผู้ป่วยผู้ไร้กล่องเสียง
32. อาจารย์และนักเรียนจากโรงเรียนเครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่
33. มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่
34. เครือข่ายนักวิชาการ
35. คณาจารย์และนักศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
36. ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.)
37. ตัวแทนนักศึกษาสมาพันธ์ นิสิต นักศึกษา แพทย์นานาชาติในประเทศไทย ( IFMSA-THAI)
38. ตัวแทนเยาวชนแก๊งค์ปากดี
39. สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า
40. สำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ กระทรวงสาธารณสุข