‘สังศิต’ หวั่นโครงการน้ำ 3.5 แสนล้าน เสี่ยงคอรัปชั่น กินหัวคิวสูง 30-40%
'ดร.สังศิต' ค้านทำโครงการบริหารจัดการน้ำพร้อมกันทั้งประเทศ เสนอแบ่งออกเป็นเฟส เชื่องานเสร็จ แถมช่วยลดภาระดอกเบี้ยรัฐบาล ไม่ซ้ำรอยโฮปเวลล์ คลองด่าน โรงพักตำรวจ ขณะที่แก้วสรร ห่วงประเทศเสียหายตั้งแต่ต้นน้ำ ยันปลายน้ำ มองไม่เห็นหลักประกันงานทำเสร็จ
วันที่ 19 กุมภาพันธ์ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร และเครือข่ายองค์กรอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดเวทีเสวนาการวิเคราะห์การใช้เงินกู้ 3.5 แสนล้าน ณ ห้องเธียเตอร์ 2201 ชั้น 22 อาคาร TST TOWER ถนนวิภาวดี กรุงเทพฯ โดยมีรศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ คณบดี วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต นายสุรจิต ชิรเวทย์ รองประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา และนายแก้วสรร อติโพธิ นักวิชาการกฎหมายอิสระ ร่วมเสวนา
รศ.ดร.สังศิต กล่าวถึงการบริหารจัดการน้ำงบฯ 3.5 แสนล้าน มีสิ่งผิดปกติที่ควรสังเกต คือ โครงการนี้ขัดหลักนิติธรรมในรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 66 กับ มาตรา 67 (วรรคสอง) ที่ให้การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ จะกระทำไม่ได้ เว้นแต่จะมีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพฯ
"หากเราถือรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด โครงการนี้มีปัญหาแน่ เพราะดำเนินการโดยที่ยังไม่มีการศึกษาและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม สุขภาพของประชาชน อีกทั้งประชาชนยังไม่ได้มีส่วนร่วม ไม่มีการทำประชาพิจารณ์ หรือถามความเห็นจากองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อม"
รศ.ดร.สังศิต กล่าวถึงรายชื่อบริษัทที่ผ่านเข้ารอบบริหารจัดการน้ำ โดยตั้งข้อสังเกต เหตุใดไม่มีบริษัทจากประเทศสหรัฐฯ หรือจากประเทศในยุโรป ทั้งๆ ที่ประเทศเหล่านี้มีกฎหมายต่อต้านการคอรัปชั่น ห้ามบริษัทจ่ายเงินใต้โต๊ะให้แก่รัฐบาลหรือบริษัททั้งในและต่างประเทศ หรืออาจเป็นเพราะว่า มีการ "ปิดตลาด" ไม่ให้มีการแข่งขันที่แท้จริงเกิดขึ้น พร้อมกันนี้ยังขอให้นายปลอดประสพ สุรสวดี ประธาน กบอ. ออกมาชี้แจง เปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ ทั้งแหล่งที่มาของเงินกู้ 3.5 แสนล้านบาท เงินก้อนนี้อยู่ตรงไหน อัตราดอกเบี้ยเป็นอย่างไร และการใช้คืนเงินกู้จะอยู่ในรูปแบบใด เป็นต้น
คณบดี วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต ยังมีข้อเสนอให้แบ่งงานโครงการบริหารจัดการน้ำ ออกเป็นเฟส เช่น เฟสแรก 1-2 ปี เฟสสอง (ระยะกลาง) 3-5 ปี และเฟสสุดท้าย 5 ปีขึ้น ซึ่งการแบ่งเช่นนี้จะทำให้ภาระดอกเบี้ยของรัฐบาลลดน้อยลง
"หากรัฐบาลทำพร้อมกันทั้งประเทศ ผมว่าเป็นความเสี่ยงของประเทศไทย แต่หากแบ่งงานเป็นเฟส นอกจากทำให้ภาระรัฐบาลลดลงแล้ว ยังมีความเป็นไปได้ที่โครงการบริหารจัดการน้ำจะทำสำเร็จมากกว่า เนื่องจากจะมีการประเมินงานเป็นช่วงๆ"
ทั้งนี้ ดร.สังศิต กล่าวถึงการทำโครงการบริหารจัดการน้ำพร้อมกันทั้งประเทศ บริษัทใหญ่จะไม่ทำเอง ต้องมีการจ้างบริษัทภายนอกรับงาน (Outsource) กระทั่งเกิดปัญหาการกินหัวคิว เหมือนโครงการโฮปเวลล์ บ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน หรือโครงการก่อสร้างโรงพักทั้งประเทศพร้อมกัน ซึ่งจะเห็นว่า ไม่มีโครงการไหนเสร็จแม้แต่โครงการเดียว ดังนั้น จึงเชื่อว่า โครงการบริหารจัดการน้ำก็เช่นกัน มีโอกาสเกิดคอรัปชั่น กินหัวคิวมากถึง 30-40%
ขณะที่นายแก้วสรร กล่าวถึงโครงการบริหารจัดการน้ำที่ขณะนี้ได้รายชื่อ 6 กลุ่มบริษัทแล้ว แต่ก็ยังไม่เห็นหลักประกันการบริหารจัดการน้ำ ไม่เห็นหลักประกันว่า การดำเนินการจะโปร่งใสในการแข่งขัน ได้ราคาที่ดี ได้คนทำงานที่ดี หรืองานจะเสร็จสิ้น
"เชื่อว่า งานนี้เสียหายตั้งแต่ต้นน้ำ ยันปลายน้ำ เพราะการรวมงานมาเป็นกระจาด แล้วเอากระจาดมารวมกัน ถึงขนาดเอา Design-Build มารวมกันอีก และอุบาทว์กว่านั้นอีก ยิ่งเอางานความคิดมารวมกับ Design-Build ด้วย เป็นสิ่งที่ผมไม่เคยเห็น" นักวิชาการกฎหมายอิสระ กล่าว และเปรียบเทียบให้เห็นโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่านก็ "เจ๊ง" มาแล้ว เพราะคิดคร่าวๆ แล้วโยนให้เอกชนไปทำ และไม่ต่างจากกรณีโฮปเวลล์ ซึ่งก็คิดมาจากกระดาษแผ่นเดียวเช่นกัน
ส่วนการจ้างบริษัทรับจ้างเหมา(Subcontract) นายแก้วสรร กล่าวว่า งบฯ 3.5 แสนล้านบาท กระจายงานไปทั่วประเทศ บริษัทใดได้ไปเชื่อว่า ทำงานเองไม่ไหวต้องจ้าง Subcontract แน่นอน
"ฉะนั้นบริษัทเอกชนต่างประเทศหากสุจริตเข้ามา คุณตาย จะเจอหมาท้องถิ่นรุมงับคุณตายแน่ และคุณจะรู้ฤทธิ์คนไทย เช่น เดียวกับโครงการบ้านเอื้ออาทร ที่จีนเจอลักษณะเช่นเดียวกัน"
ด้านนายสุรจิต กล่าวถึงการที่รัฐบาลคิดใหม่เรื่องการบริหารจัดการน้ำ คิดทำโครงการใหม่ๆ ขึ้นมา แต่กลับละเลยการรักษาสมดุลระบบนิเวศที่มีอยู่เดิม ละเลยคูคลองดั่งเดิม โครงข่ายน้ำแนวนอนที่มีอยู่มหาศาล ซึ่งยังไม่ได้รับการสะสาง เช่น คลองดำเนินสะดวก คลองแม่กลอง ฉะนั้น รัฐไม่ควรคิดแบบง่ายๆ ว่า การบริหารจัดการน้ำ เพียงแค่ลากเส้นตรงลงมา แล้วคิดว่า น้ำจะออกทะเล ซึ่งความจริงเป็นไปไม่ได้เลย