คปก.ห่วงรัฐบาลดองกองทุนออมฯ ปชช.เสียโอกาส
คปก.หวั่นผู้ที่มีอายุใกล้ 60 ปี เสียโอกาสในการได้รับหลักประกัน-มีรายได้ในยามชรา เสนอนายกฯ เร่งเปิดรับสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ -จัดสรรวงเงิน เป็นหลักประกันให้ปชช.
วันที่ 19 กุมภาพันธ์ นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ได้ลงนามในหนังสือบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายเรื่อง การบังคับใช้พระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๔ เสนอต่อนายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร
คปก.มีความเห็นว่า รัฐบาลควรเร่งรัดการดำเนินการตามพ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. 2554 โดยไม่ชักช้า เนื่องจากพ้นระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลมานานพอสมควรแล้ว โดยเฉพาะประเด็นการเปิดรับสมาชิกกองทุนรวมทั้งการจัดสรรเงินให้กองทุนการออมแห่งชาติ จำนวน 1,000 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของกองทุน ซึ่งกำหนดไว้ในแผนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2557 ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมาย เพื่อประโยชน์และเพื่อเป็นหลักประกันให้กับประชาชนในการมีเงินออมไว้รองรับการเข้าสู่วัยสูงอายุในอนาคต
คปก. พิจารณาเห็นว่า พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ.2554 เป็นการรองรับสภาพสังคมไทยที่เป็นสังคมผู้สูงอายุ จากข้อมูลทะเบียนราษฎร์ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ในปี พ.ศ. 2554 ประเทศไทยมีผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) รวมทั้งสิ้น 7.79 ล้านคน หรือประมาณ 12.38% ของจำนวนประชากรในประเทศ และมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นเป็น 17.5%ในปี พ.ศ. 2563 และ 25.1% ในปี พ.ศ.2573
อีกทั้งเป็นการดำเนินตามแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2545 - 2564) ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2552 ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติ เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2553 กำหนดให้การส่งเสริมและสร้างวินัยการออมของประชาชนเป็นมาตรการสร้างหลักประกันด้านรายได้เพื่อวัยสูงอายุ ตามยุทธศาสตร์ด้านการเตรียมความพร้อมของประชากรเพื่อเข้าสู่วัยสูงอายุที่มีคุณภาพ นอกจากนี้ยังเห็นว่า ประชากรวัยทำงานส่วนใหญ่อยู่ในภาคแรงงานนอกระบบ จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี พ.ศ.2555 พบว่ามีแรงงานนอกระบบจำนวน 24.8 ล้านคน (62.2%) จากจำนวนผู้มีงานทำทั้งหมด 39.6 ล้านคน ซึ่งแรงงานนอกระบบเหล่านี้ไม่ได้รับการคุ้มครองให้มีหลักประกันทางสังคมเท่าเทียมกับกลุ่มอื่นๆ เช่น ข้าราชการ ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม เป็นต้น
คปก.จึงเห็นว่าพ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ.2554 ได้ให้สิทธิแก่ประชาชนในการที่จะสร้างหลักประกันการดำรงชีวิตในวัยสูงอายุโดยรัฐบาลร่วมสนับสนุน และจากหลักการของกองทุนการออมแห่งชาติที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการออม (การสะสมเงิน)และการสมทบร่วมของรัฐบาล โดยกำหนดให้มีการสะสมเงินของประชากรวัยทำงานจากอายุ 15 ถึง 60 ปี
ดังนั้น การเลื่อนเวลาการเปิดรับสมัครสมาชิก จึงก่อให้เกิดผลเสียหายโดยตรงกับประชาชน ที่มีความตั้งใจจะสร้างหลักประกันยามชราภาพในช่วงอายุดังกล่าว และหากยังมีการเลื่อนเวลาออกไปก็ยิ่งทำให้ระยะเวลาของจ่ายเงินสะสมและการได้เงินสมทบจากรัฐบาลต้องลดลงตามระยะเวลาที่เลื่อนออกไป โดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่มีอายุใกล้ 60 ปี ก็จะเสียโอกาสในการได้รับหลักประกันและการมีรายได้ในยามชรา นอกจากนั้น การที่รัฐบาลยังไม่ดำเนินการบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมายแต่กลับมีนโยบายมอบให้กระทรวงการคลังยกร่างแก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ.2554 โดย ซึ่งประเด็นที่จะแก้ไขนั้นยังไม่ได้บังคับใช้ตามกฎหมายแต่อย่างใด จึงไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะแก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.นี้